xs
xsm
sm
md
lg

‘สวิส’ครองแชมป์โลกความสามารถแข่งขัน5ปีซ้อน ‘มะกัน’ทวงคืนท็อป5-‘ไทย’ขยับ1ขั้นขึ้นที่37

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปีเตอร์ บราเบ็ค-เลอมัธ ประธานบริษัทเนสท์เล่ สวิตเซอร์แลนด์
ASTVผู้จัดการออนไลน์/เอเจนซีส์ – “สวิตเซอร์แลนด์”ครองแชมป์ประเทศที่มีขีดความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกเหนียวแน่นเป็นปีที่ 5 ส่วน “สิงคโปร์” และ “ฟินแลนด์” ผูกขาดอันดับ 2 และ 3 เหมือนกับปีที่แล้ว ขณะที่ “อเมริกา” กลับสู่ท็อป 5 สำเร็จ หลังจากมีคะแนนถดถอยมา 4 ปีต่อเนื่อง ส่วน “ไทย” ขยับขึ้น 1 ขั้นอยู่ที่ 37

การจัดอันดับขีดความสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจประจำปี 2013-2014 โดยเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ที่สำรวจจากเกณฑ์ 12 ข้อและเผยแพร่ออกมาในวันอังคาร (3) ระบุว่า อันดับ 1-3 ยังคงเป็นของสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฟินแลนด์เช่นเดียวกับปีที่แล้ว

สวิตเซอร์แลนด์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทชั้นนำระดับโลก อาทิ เนสท์เล่ และ โนวาร์ทิสนั้น ได้เครดิตจากการส่งเสริมนวัตกรรมและตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่สถาบันรัฐได้รับการยอมรับว่า มีประสิทธิภาพและโปร่งใสที่สุดประเทศหนึ่ง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพที่สุด

เคลาส์ ชวาบ ประธานบริหารของ WEF แจงว่า สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำและปัจจัยอื่นๆ ส่งให้สวิตเซอร์แลนด์ได้คะแนนนำในด้านนวัตกรรม ขณะที่ความสามารถในการผลิตได้รับการส่งเสริมโดยภาคธุรกิจที่เสนอโอกาสในการฝึกอบรมระหว่างการจ้างงานอย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนยังสามารถปรับตัวรับเทคโนโลยีล่าสุดในเชิงรุก และตลาดแรงงานรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องพนักงานกับประสิทธิภาพของธุรกิจ

สำหรับเยอรมนีที่ขึ้นสู่อันดับ 4 จากอันดับ 6 เมื่อปีที่แล้ว ได้คะแนนจากคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานและภาคธุรกิจที่มีความซับซ้อน

สหรัฐฯ กลับสู่ท็อป 5 อีกครั้งหลังจากตกอันดับมา 4 ปีซ้อน (ปีที่แล้วอยู่ที่ 7) เนื่องจากมีการปรับตัวทั้งในด้านตลาดการเงิน การธนาคาร และสถาบันรัฐ ภาคธุรกิจมีนวัตกรรมและความซับซ้อนสูงเนื่องจากได้รับการร่วมมืออย่างดีเยี่ยมจากระบบมหาวิทยาลัยในด้านการวิจัยและพัฒนา แม้เสถียรภาพเศรษฐกิจยังไม่น่าไว้วางใจก็ตาม

ส่วนอันดับ 6 ในปีนี้ ได้แก่ สวีเดน(ปีที่แล้วอยู่ที่ 4) อันดับ 7 เป็น ฮ่องกง (ปีที่แล้วที่ 9) อันดับ 8 คือ เนเธอร์แลนด์(ปีที่แล้ว 5) อันดับ 9 เป็นญี่ปุ่น (ปีที่แล้ว 10) และอันดับ 10 คือ อังกฤษ (ปีที่แล้ว 8)

รายงานของ WEF ที่มีฐานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ตอกย้ำภาวะขาลงของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ กล่าวคือในกลุ่มบริกส์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ นั้น มีเพียงรัสเซียที่มีพัฒนาการโดยไต่ขึ้น 3 อันดับอยู่ที่ 64 ส่วนจีนรักษาตำแหน่งเดิมที่ 29, บราซิลร่วงลง 8 ขั้นอยู่ที่ 56 และอินเดียขยับลง 1 อันดับอยู่ที่ 60

ในบรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากไม่รวมสิงคโปร์ที่ลอยลำอยู่ในตำแหน่งท็อป 2 แล้ว อินโดนีเซียถือว่าโดดเด่นที่สุดทั้งในกลุ่มอาเซียนและจี20 โดยขึ้นจากอันดับ 50 มาอยู่ที่ 38 ขณะที่มาเลเซียและไทยขยับขึ้นคนละ 1 ขั้นมาอยู่ที่ 24 และ 37 ตามลำดับ และฟิลิปปินส์อยู่ที่ 59 จาก 65

WEF เตือนว่า ชาติยุโรปที่ประสบวิกฤตการเงินควรจัดการจุดอ่อนในตลาดและส่งเสริมนวัตกรรม โดยกรีซนั้นขึ้นจาก 96 อยู่ที่ 91 และสเปนขยับ 1 อันดับอยู่ที่ 35 ตรงข้ามกับอิตาลีที่ร่วงลง 7 ขั้นอยู่ที่ 49 ต่ำกว่าบาร์เบโดส และ ลิทัวเนีย

สำหรับประเทศในกลุ่มจี7 รายอื่นๆ นั้น แคนาดาคงอันดับเดิมที่ 14 และฝรั่งเศส 21 จาก 23 เมื่อปีที่แล้ว (สมาชิกกลุ่มจี7 อีก 5 ราย ได้แก่ เยอรมนี, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, อังกฤษ, และอิตาลี)

และจากทั้งหมด 148 ประเทศที่จัดอันดับในปีนี้ ชาดอยู่ที่ท้ายสุดของตาราง จากเดิมที่อันดับ 139
กำลังโหลดความคิดเห็น