เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่รายงานล่าสุดในวันอังคาร (8ก.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งตัดลดตัวเลขคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยหยิบยกเหตุผลเรื่องความเสี่ยงขาลงใหม่ๆ ของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ และการถดถอยอย่างดิ่งลึกกว่าที่เคยคาดหมายกันของเศรษฐกิจยูโรโซน
ในฉบับอัปเดตของรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook หรือ WEO) นี้ ไอเอ็มเอฟพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตในระดับ 3.1% ต่ำลงจากที่เคยคาดการณ์ในรายงานเมื่อเดือนเมษายนซึ่งให้ไว้ที่ 3.3% โดยที่เตือนด้วยว่า เวลานี้จีนและมหาอำนาจเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายอื่นๆ กำลังเผชิญความเสี่ยงใหม่ๆ “รวมไปถึงความเป็นไปได้ที่การชะลอตัวของอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะยาวนานกว่า” ที่เคยทำนายกัน
รายงานล่าสุดนี้บอกด้วยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังได้รับผลกระทบกระเทือนจากความเปลี่ยนแปลงวูบวาบรวดเร็วที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดการเงิน ตลอดจนการที่อัตราดอกเบี้ยขยับสูงขึ้นในประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า
“พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่โดยทั่วไปแล้วคือผู้ที่ได้รับความกระเทือนกระเทือนรุนแรงที่สุด” ฉบับอัปเดตของรายงาน WEO ระบุ โดยเตือนว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะหยุดการใช้นโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจจุดชนวนให้เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างถาวรออกไปจากพวกตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่
เพื่อรับมือกับภาวะเช่นนี้ รายงานของไอเอ็มเอฟเสนอให้พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคาดหมายกันว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับพอประมาณเท่านั้น ใช้นโยบายการผ่อนคลายทางการเงิน ในฐานะเป็นแนวป้องกันแนวแรก
แต่สำหรับทางเลือกในการดำเนินนโยบายด้านการคลังนั้น ไอเอ็มเอฟบอกว่าน่าจะมีอยู่อย่างจำกัด
รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟคาดการณ์ตัวเลขอัตราเติบโตของพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ 5.0% จากที่เคยให้ไว้ในเดือนเมษายนที่ 5.3%
โดยเฉพาะพวกประเทศกลุ่ม บริกส์ (BRICS) หรือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้ 5 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ชั้นนำ ซึ่งไอเอ็มเอฟกล่าวว่าจะได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุดนั้น รายงานล่าสุดได้หั่นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตลงมาเป็นแถว
จีน ซึ่งมีฐานะเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก อีกทั้งกลายเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องหนึ่งในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะปีหลังๆ นี้ ตามคำทำนายล่าสุดของไอเอ็มเอฟ ปี 2013 นี้จะเติบโต 7.8% ต่ำลงมา 0.3% จากที่เคยให้ไว้คราวก่อน
ขณะที่ไอเอ็มเอฟหั่นตัวเลขคาดการณ์ของเศรษฐกิจรัสเซียลงมาถึง 0.9% เหลือ 2.5% และของแอฟริกาใต้ก็ถูกปรับลดลง 0.8% เหลือ 2.0%
รายงานล่าสุดยังเตือนพวกชาติผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายว่า ระดับราคาสินค้าเหล่านี้ที่จะลดต่ำลงมา จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งอัตราเติบโตของชาติเหล่านี้ในปีนี้ โดยที่ไอเอ็มเอฟคาดหมายว่า ราคาน้ำมันดิบจะลดต่ำลง 4.7% ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากน้ำมัน จะถอยลงมา 1.8%
ในเวลาเดียวกัน รายงานฉบับนี้ทำนายอัตราขยายตัวของพวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าในปีนี้ไว้ที่ 1.2% ต่ำลงมา 0.1% จากที่ให้ไว้ในเดือนเมษายน
ไอเอ็มเอฟบอกว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของเขตยูโรโซนหนักหนาสาหัสกว่าที่คาดหมายกัน เนื่องจากเผชิญปัจจัยด้านลบหลายอย่างผสมกัน เป็นต้นว่า อุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ, ความเชื่อมั่นอยู่ในภาวะย่ำแย่, การขาดดุลยังเป็นปัญหาหนัก, รวมทั้งยังเผชิญกับผลกระทบของการใช้นโยบายการคลังอันเข้มงวด ตลอดจนเงื่อนไขทางด้านการเงินอื่นๆ รายงานล่าสุดจึงคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ของยูโรโซนเอาไว้ที่ -0.6% จากที่ทำนายไว้ในเดือนเมษายนว่าจะหดตัว 0.4%
สำหรับสหรัฐฯ อัตราเติบโตกำลังอ่อนตัวลงจากมาตรการตัดลดรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งกลายเป็นตัวลดทอนปัจจัยด้านบวกในภาคเอกชน เป็นต้นว่า ภาวะอุปสงค์ที่กำลังกระเตื้องขึ้นโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย ดังนั้น ไอเอ็มเอฟจึงลดตัวเลขคาดการณ์ลงมา 0.2% เหลือ 1.7%
ขณะที่ญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟเห็นว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่สุดคือการใช้นโยบายกระตุ้นอย่างมโหฬารของธนาคารกลางญี่ปุ่น และในปีนี้น่าจะโตได้ 2.0% ปรับสูงขึ้นจากที่ทำนายไว้ในเดือนเมษายน 0.5%
โดยภาพรวมแล้ว ไอเอ็มเอฟมองทิศทางแนวโน้มอนาคตค่อนข้างมืดมัว โดยระบุว่าปัจจัยคุกคามการเติบโตทั้งหลายยังคงเสมือนเป็นกลุ่มเมฆทะมึนที่รออยู่ข้างหน้า
ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้พวกชาติเศรษฐกิจก้าวหน้าออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันตัวเอง โดยระบุว่าสหรัฐฯต้องไม่ปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการขยับเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นแล้วการใช้จ่ายในภาครัฐของประเทศนี้ก็จะอยู่ในภาวะตึงตัว ขณะที่รัฐบาลยูโรโซน จำเป็นต้องกล้าใช้มาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่แดนบวก และแก้ไขสภาพที่ภาคการเงินแตกเป็นเสี่ยงๆ