เอพี - ภาวะกระเป๋าแฟบอาจทำให้สมองของคุณแล่นช้าไปจากเดิม งานวิจัยฉบับใหม่ชี้
เหล่าคนที่กังวลว่าตนเองจะมีเงินพอชำระบิลค่าใช้จ่ายช่วงสิ้นเดือนหรือไม่นั้น มีแนวโน้มที่จะมีระดับไอคิวลดลงชั่วคราวในอัตรา 13 คะแนน ทั้งนี้เป็นผลการวิจัยที่ได้จากการทดสอบระดับสติปัญญาของคนที่ช็อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ และของบรรดาเกษตรกรในอินเดีย
แนวคิดที่ใช้อธิบายความเป็นจริงนี้ได้ก็คือ ความเครียดที่เกิดจากปัญหาการเงินนั้นทำให้คนเราหมกมุ่น ส่งผลให้เราคิดคำนวณในเรื่องอื่นๆ ได้ช้าลงและยากขึ้น ซึ่งเหมือนกับผลกระทบที่เกิดขึ้นเวลาไม่ได้นอนทั้งคืน
ความบีบคั้นเรื่องการเงินที่ส่งผลต่อสมองนี้ยังพอที่จะนำมาใช้อธิบายสภาวการณ์ของคนอเมริกันราว 100 ล้านคนที่ตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางการเงิน คณะนักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยาซึ่งตีพิมพ์รายงานนี้ในวารสารไซแอนซ์ฉบับวันศุกร์ (30 ส.ค.) ระบุ
“งานวิจัยของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาความยากจน แต่เกี่ยวกับผู้ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชักหน้าให้ถึงหลัง” เซนดิล มัลไลนาธาน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดคนหนึ่ง และผู้ร่วมวิจัยชี้แจง “เมื่อเราเห็นคนเครียดเรื่องเงินๆ ทองๆ เราก็จะคิดว่าที่พวกเขาเครียดก็เพราะไม่มีเงิน แต่ที่จริงเป็นเพราะพวกเขาขาดความสามารถในการคิดอีกด้วย”
หากคุณมักจะพะวงถึงยอดค้างชำระ ค่าผ่อนบ้าน ค่าเช่า หรือเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา คุณก็จะขาดสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งอื่นๆ ดังนั้นการชำระหนี้ล่าช้าเกินกำหนดไม่เพียงแต่ทำให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น แต่ยังทำให้ระดับไอคิวลดลงด้วย มัลไลนาธานชี้
งานวิจัยฉบับนี้ใช้การทดสอบเพื่อศึกษาถึงการคิดในลักษณะต่างๆ ตลอดจนการวัดระดับไอคิวที่พบว่าลดลงไป 13 คะแนน เจียยิง เซา ผู้ร่วมวิจัยกล่าว ทั้งนี้เธอเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย
นักวิจัยกลุ่มนี้ได้สังเกตการณ์ว่า ปัญหาทางการเงินส่งผลต่อสมองอย่างไรทั้งในห้องทดลองและในภาคสนามที่อินเดีย พวกเขาสุ่มตัวอย่างจากบรรดาคนที่เดินชอปปิ้งอยู่ที่ห้างเควกเกอร์บริดจ์ บริเวณตอนกลางรัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องเงิน ให้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบห้องทดลองที่ถูกควบคุม จากนั้นจึงทดสอบประสิทธิภาพสมองของพวกเขา ต่อมาพวกเขาก็เฝ้าสังเกตวิถีชีวิตในไร่นาของอินเดีย ที่ซึ่งเกษตรกรมีรายได้ปีละครั้ง ก่อนฤดูเก็บเกี่ยวพวกเขาต้องกู้หนี้ยืมสิน และซื้อเชื่อของใช้ต่างๆ และภายหลังที่ขายผลผลิตแล้ว พวกเขาจึงจะได้รับเงินก้อนโต
มัลไลนาธานและเพื่อนๆ ผู้ร่วมวิจัยได้ทดสอบเกษตรกรกลุ่มเดียวกันจำนวน 464 คนในช่วงก่อนและหลังฤดูเก็บเกี่ยว และพบว่าคะแนนไอคิวของเกษตรกรเหล่านี้พัฒนาขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ในเวลาที่พวกเขากระเป๋าหนัก
“เป็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด” เอลดา ชาฟีร์ ผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันสรุป “เมื่อคุณประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ ความคิดของคุณก็จะถูกรบกวน เพราะคุณเอาแต่ขบคิดถึงเรื่องนี้เป็นอย่างแรก”
ทางด้านการวิจัยที่นิวเจอร์ซีย์ คณะนักวิจัยได้ทดสอบคนที่มาช็อปปิ้งราว 400 คน โดยสมมติสถานการณ์ว่าจะต้องจ่ายค่าซ่อมรถซึ่งมีทั้งในกรณีที่จ่ายค่าซ่อมไม่มากและในกรณีที่ต้องจ่ายก้อนใหญ่ ทั้งนี้พวกเขาพบว่าเมื่อต้องจ่ายค่าซ่อมรถเป็นเงินไม่มาก กลุ่มคนที่มีรายได้ต่อครัวเรือนราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และพวกรายได้ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีระดับไอคิวเท่ากัน แต่เมื่อเป็นกรณีต้องจ่ายค่าซ่อมราคาสูงลิบลิ่ว ไอคิวของพวกทีมีรายได้ต่อครัวเรือนราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ก็ลดต่ำลงถึง 40 คะแนน
ทั้งนี้ ความแตกต่างด้านระดับการศึกษาไม่ใช่ปัจจัยหลัก เนื่องจากคนจนมีไอคิวแย่ลงเฉพาะเวลาที่พวกเขาเห็นบิลค่าซ่อมที่แพงจนกระเป๋าฉีก ซาฟีร์ชี้ ขณะที่คนมีการศึกษาสูงและฐานะดีอาจเรียนรู้ที่วิธีบริหารจัดการสมาธิให้จดจ่อกับสิ่งอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ เขาระบุ
คณะผู้จัดทำรายงานวิจัยและคนอื่นๆ กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ออกมานี้ขัดแย้งกับทฤษฎีทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เชื่อถือกันมาอย่างยาวนานซึ่งระบุว่า ไอคิวนั้นเป็นเรื่องของเฉพาะบุคคล ไม่ได้เกิดจากสภาวะแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาหลักอย่างความยากจน ทั้งนี้เห็นได้จากการกรณีของเกษตรกรที่อินเดีย เนื่องจากนักวิจัยทดสอบคนเดียวกันในช่วงเวลาก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ดังนั้นไอคิวที่แตกต่างออกไปจึงไม่ใช่เพราะเป็นคนละคนกัน หากแต่เป็นเพราะอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
“เราเอาแต่โทษว่าเป็นความล้มเหลวของพวกคนยากคนจนเองมานานแล้ว” เซากล่าว “ตอนนี้เรากำลังพูดถึงประเด็นที่แตกต่างออกไปมาก”
แคธรีน อีดิน นักวิจัยปัญหาความยากจนจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการวิจัยนี้ด้วยกล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ “เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยไขข้อสงสัยที่สำคัญมากในการวิจัยปัญหาความยากจน”
เธอกล่าวว่าคนจนมักมีค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่แบบกระแสหลักเหมือนคนอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ปฏิบัติตาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่กำหนดการตัดสินใจของพวกเขาไม่ใช่ค่านิยมของพวกเขา หากแต่เป็นสถานการณ์แวดล้อม เธอระบุ