xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ‘หนุน’ ผบ.ทหาร ‘อียิปต์’ กุมอำนาจดุจ ‘ฟาโรห์’(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pharaoh al-Sisi sits tight
By M K Bhadrakumar
16/08/2013

ฝ่ายทหารของอียิปต์ก่อการสังหารหมู่พวกผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมกันกลางเมือง ทว่านานาชาติกลับมิได้มีการออกมาประณามวิพากษ์กันอย่างชัดเจนเด็ดขาด สภาวการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสงครามชิงไหวชิงพริบระหว่าง “มหาอำนาจระดับบิ๊ก” มันเป็นสงครามเพื่ออิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ในแดนไอยคุปต์ ซึ่งย่อมหมายถึงภูมิภาคตะวันออกกลางในวงกว้างอีกด้วย กระนั้นก็ตาม ในขณะที่สหรัฐฯกำลังดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการรักษาภาพลักษณ์ภายนอกที่ต้องการแสดงตนเป็น “ผู้ที่ยืนอยู่กับฝ่ายที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์” กับการรักษาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์เอาไว้ให้มั่นคงเหนียวแน่น โดยที่มีรัสเซียคอยเฝ้าจับจ้องรอจังหวะฉกฉวยอย่างไม่กระพริบตาอยู่นี้ สิ่งที่บังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือ พล.อ.อับเดล ฟัตตอห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการกองทัพอียิปต์ กำลังสามารถครองบัลลังก์ของเขาได้อย่างสบายอกสบายใจมากขึ้นเรื่อยๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**จุดยืนของรัสเซีย**

ออกจะน่าประหลาดเอาการ จุดยืนของรัสเซียในเรื่องอียิปต์นั้นเอาเข้าจริงแล้วมีเนื้อหาสำคัญแทบจะทั้งหมดทั้งสิ้นอยู่ที่การคอยฉกฉวยหาประโยชน์จากภาวะอิหลักอิเหลื่ออย่างเรื้อรังในทางนโยบายของสหรัฐฯ ในขณะที่โอบามานั้นอย่างน้อยที่สุดยังเปิดปากพูดแถลงอะไรออกมาบ้าง ทว่าวังเครมลิมกลับยังคงนิ่งเงียบเป็นก้อนหิน และจะแสดงไพ่ของตนเองก็ต่อเมื่อหลังจากโอบามาเล่นพลาดเล่นผิดจังหวะแล้วเท่านั้น

เรื่องที่ต้องถือว่าป็นตลกร้ายก็คือ สถานเอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำกรุงมอสโกได้ออกมาแถลงว่า ไคโรนั้นต้องการความช่วยเหลือของรัสเซีย “ในช่วงเวลาอันยากลำบากยิ่งนี้ เฉกเช่นเดียวกับที่ได้เคยเป็นมาในอดีต” (คำว่า “ในอดีต” ในที่นี้ เห็นได้ชัดว่าอียิปต์กำลังอ้างอิงถึงช่วงเวลาก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต จะประกาศขับไล่พวกผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาชาวโซเวียตจำนวนเรือนหมื่นให้ออกไปจากอียิปต์เมื่อปี 1972) ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียเกย์ ลัฟรอฟ (Sergey Lavrov) ของรัสเซีย ก็ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศ นาบิล ฟาห์มี (Nabil Fahmy) ของอียิปต์ในวันพฤหัสบดี (14 ส.ค.) ทว่ากระทรวงการต่างประเทศในมอสโก มิได้เปิดเผยรายละเอียดอะไรนอกเหนือจากแถลงว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับ “พัฒนาการล่าสุดต่างๆ ในอียิปต์”

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งซึ่งนำออกมาเปิดเผยกันในมอสโก และสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องชี้ให้เราพอจะมองเห็นแนวความคิดและการจัดลำดับความสำคัญทางนโยบายของรัสเซียได้ ข้อมูลที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ รายงานการสนทนากันทางโทรศัพท์ระหว่าง มิกาอิล บ็อกดานอฟ (Mikhail Bogdanov) ซึ่งเป็นทั้งผู้แทนของประธานาธิบดีรัสเซียประจำตะวันออกกลาง (Russian President's envoy for the Middle East) และทั้งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศรัสเซีย กับ เชค อับดุลเลาะห์ บิน ซายเอด อัล นาห์ยัน (Sheikh Abdullah bin Zayed Al Nahyan) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) น่าสนใจทีเดียวว่าการสนทนาคราวนี้เกิดขึ้นตามคำขอของฝ่ายยูเออี

ทั้งนี้ ได้มีแหล่งข่าวที่ไม่มีการระบุตัวตนรายหนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาเปิดเผยประเด็นสำคัญๆ ของการสนทนากันในคราวนี้ โดยระบุว่า

“ทั้งสองฝ่าย (รัสเซียและยูเออี) ต่างเรียกร้องให้ใช้วิธีการอันสันติและไม่ใช้ความรุนแรง มาแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแถบนี้ โดยที่ให้ความเคารพในอธิปไตยของรัฐต่างๆ ตลอดจนไม่เข้าไปแทรกแซงในกิจการภายในของรัฐเหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันที่จะให้ธำรงรักษาการดำเนินการสนทนาทางการเมืองอันมีระฉับกระเฉงทรงพลัง ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในประเด็นต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับโอกาสลู่ทางต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัสเซียกับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Cooperation Council of the Arab States of the Gulf.)”

ก่อนอื่นเลย เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ยูเออี เป็นหนึ่งในประะเทศสักแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นซึ่งให้การหนุนหลังอย่างเต็มที่ต่อฝ่ายทหารของอียิปต์ ด้วยการพยายามให้เหตุผลยืนยันว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไคโรคือปัญหาเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเออี ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งในวันพฤหัสบดี (15 ส.ค.) เพื่อประกาศการสนับสนุนคณะผู้ครองอำนาจทหารของแดนไอยคุปต์ โดยมีข้อความที่น่าสนใจดังนี้:

“กระทรวงการต่างประเทศ ยูเออี ขอย้ำยืนยันอีกครั้งว่ามีความเข้าใจเป็นอันดีต่อมาตรการต่างๆ ทางด้านอธิปไตยที่รัฐบาลอียิปต์นำออกมาใช้ ภายหลังจากที่รัฐบาลอียิปต์ได้พยายามควบคุมตนเองจนถึงที่สุดแล้ว

“สิ่งที่น่าเสียใจก็คือพวกกลุ่มสุดโต่งทางการเมืองยังคงยืนกรานใช้ถ้อยคำโวหารแห่งความรุนแรง, การปลุกปั่นยุยง, การขัดขวางผลประโยชน์ของประชาชน, และการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของอียิปต์ จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์อันน่าเสียใจ”

จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ยูเออี ได้เสนอให้ความช่วยเหลือแก่คณะผู้ครองอำนาจทหารของอียิปต์แล้วเป็นมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าอยู่ในอันดับ 2 เป็นรองแค่เพียงซาอุดีอาระเบียเท่านั้นในเรื่องการอัดฉีดเงินทองให้แก่การรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารในไคโร ออกจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดน่าขบขันอยู่เหมือนกันที่ว่า ความช่วยเหลืออย่างใจกว้างจากชนชั้นปกครองผูกขาดดอลลาร์น้ำมัน (petrodollar oligarchies) ของอ่าวเปอร์เซีย (ซึ่งกำลังหวั่นไหวสยดสยองต่อการที่ผู้คนไม่น้อยทีเดียวในภูมิภาคตะวันออกกลางทำท่าให้ความเชื่อถือพออกพอใจในกลุ่มภราดรภาพมุสลิม) นี่เอง ที่กำลังทำให้เหล่านายพลของอียิปต์สามารถยืนหยัดต้านทานแรงกดดันไม่ว่ามากมายขนาดไหนจากทางวอชิงตัน

ในทางกลับกัน ถ้ามองจากจุดยืนของฝ่ายรัสเซียบ้าง มอสโกย่อมเป็นผู้ที่จะได้รับผลดีอย่างมหาศาล หากประเด็นอ่อนไหวในเรื่องที่ว่าควรจะให้ความสนับสนุนแก่ฝ่ายทหารในไคโรต่อไปอีกหรือไม่นี้ ยิ่งทำให้สหรัฐฯกับเหล่าพันธมิตรที่ร่ำรวยน้ำมันในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเกิดความร้าวฉานไม่ลงรอยกันในทางผลประโยชน์ โดยมีแนวโน้มว่าความแตกแยกดังกล่าวนี้จะบานปลายออกไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ความไม่ลงรอยดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อทิศทางของปรากฏการณ์ “อาหรับ สปริง” ในอนาคต และนี่ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนลุกลามต่อไปถึงสงครามความขัดแย้งในซีเรียอีกด้วย ทั้งนี้ในซีเรียเวลานี้ ซาอุดีอาระเบีย กับ ยูเออี อยู่ในหมู่ผู้หนุนหลังพวกนักรบกบฏอย่างกระตือรือร้นที่สุด

มอสโกย่อมมองเห็นว่า ตนเองจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าหากสามารถรักษาสายการติดต่อสื่อสารเอาไว้กับซาอุดีอาระเบีย และ ยูเออี ในเรื่องพัฒนาการต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย โดยเฉพาะในตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเวลาซึ่งเห็นกันอยู่แล้วว่า พวกมหาอำนาจชาติตะวันตกทั้งหลายต่างกำลังทำท่าเหมือนกับต้องการจะสลัดตัวให้หลุดพ้นจากการเข้าพัวพันทางทหารอย่างสำคัญใดๆ ในความขัดแย้งว่าด้วยซีเรีย ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ วังเครมลินย่อมจะรู้สึกประหลาดใจระคนกับปลาบปลื้ม เมื่อปรากฏว่าพัฒนาการต่างๆ อันเกิดขึ้นในอียิปต์ ซึ่งสำหรับพวกชนชั้นปกครองผูกขาดดอลลาร์น้ำมันของภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแล้ว ถือเป็นผลประโยชน์อันสำคัญที่สุดและเป็นจุดกังวลหลักของพวกเขา กำลังทำให้ รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, และยูเออี สามารถที่จะยืนอยู่ด้วยกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งสามฝ่ายนี้ต่างมีข้อสรุปว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิมนั้นเป็นสารพิษภายในองคาพยพทางการเมืองของตะวันออกกลาง และทั้งสามฝ่ายนี้ต่างก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจที่ศาสนาอิสลามชนิดเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมือง (political Islam) กำลังโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นพลังชีวิตของตะวันออกกลางยุคใหม่ ทั้งนี้รัสเซียถึงกับออกประกาศระบุว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นองค์การที่มุ่งดำเนินกิจกรรมบ่อนทำลายด้วยซ้ำไป

ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียยังมีความทรงจำอันแสนสุขเกี่ยวกับการติดต่อร่วมงานกับเหล่านายทหารของกองทัพอียิปต์ในยุคสหภาพโซเวียต และมีแนวโน้มที่จะมองนายทหารเหล่านี้ว่าเป็นประดุจป้อมปราการแห่ง “ฆราวาสนิยม” (secular) ซึ่งคอยสกัดกั้นการไหลทะลักของ “ลัทธิอิสลามิสต์” (Islamism)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงสำหรับมอสโกในทุกวันนี้ ยังไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับโชคชะตาอนาคตของลัทธิอิสลามิสต์ หากแต่เป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ถ้าหากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯกับฝ่ายทหารของอียิปต์ ยิ่งเกิดความแปลกแยกระหว่างกันมากขึ้นไปเท่าใด มันก็จะเสริมส่งหนุนเนื่องให้มอสโกมีโอกาสที่จะกระโจนขึ้นเป็นที่ปรึกษาชี้นำความคิดให้เหล่านายพลที่กุมอำนาจในไคโรได้มากขึ้นเพียงนั้น ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่าอียิปต์นั้นคือศูนย์กลางของการเมืองตะวันออกกลาง การกลับคืนเข้าไปมีอิทธิพลในไคโรอีกคำรบหนึ่งย่อมทำให้รัสเซียสามารถเพิ่มพูนอิทธิพลในภูมิภาคนี้โดยองค์รวมไม่ว่าจะเป็นแนวรบด้านไหน รวมทั้งยังมีศักยภาพที่จะทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายในเรื่องสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคนี้อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น “รางวัลข้างเคียง” ต่างๆ ทั้งในรูปของการส่งออกอาวุธ ตลอดจนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ย่อมเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่วังเครมลินกำลังจับตามองด้วยความเลือดเย็น ที่ได้เห็นโอบามาพยายามดิ้นรนอย่างอึดอัดเพื่อให้ออกมาจากสถานการณ์อันยากลำบากในอียิปต์

จากแนวโน้มต่างๆ ในปัจจุบัน มอสโกย่อมจะยินดีที่ได้เห็นประธานาธิบดีอเมริกันผู้นี้กำลังประสบความล้มเหลวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในการส่งผลกระทบอันมีความหมายใดๆ ต่อพฤติกรรมของเหล่านายพลอียิปต์ โดยที่ขุนทหารแดนไอยคุปต์เหล่านี้บังเกิดเชื่อมั่นเสียแล้วว่า พวกเขากำลังต้องต่อสู้อย่างสุดชีวิตเพื่อให้อยู่รอดต่อไป และพวกเขาไม่มีทีท่าว่าอยากจะหันหลังกลับกลางน้ำเชี่ยวเพื่อจับมือปรองดองกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในระบอบประชาธิปไตย “ที่รวมเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามาร่วม”

เหล่านายพลอียิปต์เหล่านี้ย่อมดีอกดีใจหากสหรัฐฯยังคงให้ความช่วยเหลือต่อไป ทว่าในขณะที่ความช่วยเหลือของอเมริกันเป็นที่พึงปรารถนานั้น มันก็ไม่ได้สำคัญถึงขนาดว่าถ้าไม่มีแล้วพวกเขาก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากความช่วยเหลือดังกล่าวยื่นให้มาด้วยราคาทางการเมืองที่แพงลิบลิ่วจนยอมรับไม่ได้ ตรงนี้เองที่พวกผู้มีอุปการคุณอย่างเช่น ซาอุดีอารเบีย, คูเวต, และยูเออี ซึ่งเพิ่งให้สัญญาที่จะให้ความสนับสนุนทางการเงินรวมกันแล้วประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์ ตลอดจนอาจจะมี รัสเซีย ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์อาวุธรายใหญ่รายหนึ่ง สามารถที่จะเข้ามาช่วยเหลือและลดความยากลำบากให้แก่พวกผู้ครองอำนาจทางทหารของอียิปต์

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1972 อันวาร์ ซาดัต ผู้นำของอียิปต์ในเวลานั้นได้ออกมาประกาศตูม ขับไล่พวกที่ปรึกษาทางทหารชาวโซเวียตราว 5,000 คน และบุคลากรด้านกองทัพอากาศอีก 15,000 คนออกไปจากแดนไอยอุปต์ แต่มาถึงตอนนี้เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ภายหลังเกิดช่องว่างทำให้ห่างเหินกันไปประมาณ 42 ปี หน้าต่างแห่งโอกาสก็กำลังเปิดกว้างอีกคำรบหนึ่งเพื่อให้รัสเซียได้หวนกลับคืนเข้าสู่แวดวงแห่งอำนาจในกรุงไคโรในฐานะผู้เล่นทรงอิทธิพล

แม้แนวโน้มน่าจะดำเนินไปเช่นนี้ ทว่าเราก็สามารถคาดหมายได้เช่นกันว่าวอชิงตันจะต้องทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้หน้าต่างบนริมฝั่งแม่น้ำไนล์ดังกล่าวนี้ เปิดกว้างโล่งโจ้งมากพอที่หมีเครมลินจะเบียดฝ่าเข้าไปได้ และจริงๆ แล้วสหรัฐฯก็ยังคงมีอำนาจหลงเหลืออยู่อย่างกว้างขวางเพียงพอที่จะแสดงความโกรธกริ้วและตักเตือนเหล่านายพลอียิปต์ผู้หลงผิดตลอดจนเหล่าผู้ปกครองจอมโวยวายทั้งหลายในอ่าวเปอร์เซีย ทั้งนี้ ในบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียในปัจจุบัน แน่นอนทีเดียวว่าคณะรัฐบาลโอบามายังจะไม่ยอมถอยหลัง และเปิดพื้นที่ให้รัสเซียรุกคืบเข้าไปในตะวันออกกลาง

ภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้นในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ส.ค.) จึงเป็นการสะท้อนความเป็นจริงของศึกชิงไหวชิงพริบระหว่างมหาอำนาจใหญ่ทั้งสองในการแผ่อิทธิพลในกรุงไคโร อย่างไรก็ตาม แน่นอนทีเดียวว่า ผู้ชนะคือ พล.อ.ซิซี ฟาโรห์องค์ใหม่แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ – อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับในเวลานี้

เอ็ม เค ภัทรกุมาร ทำงานเป็นนักการทูตอาชีพสังกัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลา 29 ปี ในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001)
กำลังโหลดความคิดเห็น