xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนนานาชาติเข้าพบ “แกนนำภราดรภาพมุสลิม” ในคุก หวังเจรจาคลี่คลายวิกฤตอียิปต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิลเลียม เบิร์นส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
รอยเตอร์ - ผู้แทนสหรัฐฯและนานาชาติเดินทางเข้าพบแกนนำกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอียิปต์ วันนี้(5) เพื่อเจรจาหาหนทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองที่ปะทุขึ้น หลังอดีตประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด มอร์ซี ถูกกองทัพก่อรัฐประหารเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม

สำนักข่าว MENA ของอียิปต์รายงานว่า อัยการสูงสุดอนุญาตให้คณะผู้แทนกลุ่มนี้เดินทางไปยังเรือนจำโตรา ทางตอนใต้ของกรุงไคโร เพื่อเข้าพบกับ คอยรอต เอล-ชาเตอร์ ผู้นำเบอร์สองของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม เมื่อช่วงหลังเที่ยงคืนที่ผ่านมา

สื่อแห่งชาติอียิปต์อ้างข้อมูลจาก “แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อ” ซึ่งขัดแย้งกับถ้อยแถลงของรัฐบาลอียิปต์ก่อนหน้านี้ที่ยืนยันว่า ไม่มีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ เดินทางเข้าพบแกนนำภราดรภาพมุสลิม ตามที่เป็นข่าว

ชาเตอร์ เป็นรองผู้นำกลุ่มภราดรภาพซึ่งผลักดันให้ มอร์ซี ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของอียิปต์เมื่อปีที่แล้ว ชายผู้นี้เป็นผู้วางยุทธศาสตร์การเมืองของภราดรภาพมุสลิม และถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย หลังรัฐบาลมอร์ซีถูกโค่นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม

นานาชาติพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อระงับเหตุนองเลือดระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านมอร์ซี ขณะที่กองทัพอียิปต์ก็แถลงเมื่อวานนี้(4)ว่า พร้อมให้โอกาสในการเจรจา ทว่ามีเวลาให้เพียงจำกัด

หนังสือพิมพ์เอกชน อัล-มัสรีย์ อัล-ยูม รายงานว่า คณะผู้แทนที่เดินทางไปเยี่ยม ชาเตอร์ ยังรวมถึง วิลเลียม เบิร์นส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเบอร์นาดิโน เลออน ผู้แทนพิเศษจากสหภาพยุโรป และยังมีเจ้าหน้าที่กองทัพอียิปต์ติดตามไปด้วย โดยประเด็นหลักของการพูดคุยคือวิธีที่จะโน้มน้าวให้ผู้สนับสนุน มอร์ซี ยอมยุติการนั่งประท้วง

ชาเตอร์ บอกกับผู้แทนนานาชาติว่า เขาจะยอมเจรจาก็ต่อเมื่อมี มอร์ซี อยู่ด้วยเท่านั้น เพราะ มอร์ซี ถือเป็น “ประธานาธิบดีโดยชอบธรรม” อัล-มัสรีย์ อัล-ยูม รายงานบนเว็บไซต์ โดยอ้างแหล่งข่าวความมั่นคงระดับสูง

มอร์ซี เป็นผู้นำคนแรกของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2012 แต่หลังจากที่ครองอำนาจไปได้ไม่นานนัก ฝ่ายเสรีนิยมก็เกรงว่าเขาจะทำตัวเป็น “เผด็จการ” คนที่สอง ประกอบกับรัฐบาลด้อยประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าชีวิตชาวเมืองไอยคุปต์ราว 84 ล้านคน ทั้งหมดนี้เป็นชนวนให้ชาวอียิปต์ลุกฮือขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ในวันที่ 30 มิถุนายน และยังเรียกร้องให้กองทัพเข้าแทรกแซง จนในที่สุด มอร์ซี ถูกบีบพ้นตำแหน่ง

ล่าสุดกองทัพอียิปต์ได้เสนอแผนประนีประนอมซึ่งกำหนดมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในอีก 9 เดือนข้างหน้า แต่กลุ่มภราดรภาพมุสลิมยังยืนกรานไม่ยอมรับข้อเสนอ

อย่างไรก็ดี นักการทูตหลายคนเชื่อว่า อันที่จริงภราดรภาพมุสลิมก็ตระหนักดีว่า การจะเรียกร้องให้กองทัพคืนตำแหน่งประธานาธิบดีให้ มอร์ซี คงไม่มีหวัง แต่ก็ยังปรารถนาขั้นตอนทางกฎหมายบางอย่างเพื่อ “กู้หน้า” ให้ มอร์ซี ก้าวลงจากเก้าอี้อย่างสง่างามกว่านี้ และเพื่อรับรองว่าภราดรภาพมุสลิมจะมีส่วนกำหนดอนาคตทางการเมืองของอียิปต์ในอนาคตด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น