เอเอฟพี/เอพี - ขบวนรถไฟด่วนของอินเดียพุ่งเข้าชนกลุ่มผู้แสวงบุญชาวฮินดูทางภาคตะวันออกของประเทศในวันจันทร์ (19 ส.ค.) ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 37 คน จากนั้นฝูงชนหลายพันคนที่โกรธแค้นก็ได้อาละวาดก่อจลาจล ซึ่งทำให้คนขับรถไฟผู้หนึ่งตายและตู้โบกี้หลายตู้ถูกเผา ทั้งนี้จากการบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่
ในขณะที่ผู้แสวงบุญกลุ่มใหญ่กำลังเดินข้ามทางรถไฟที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในรัฐพิหาร ก็มีขบวนรถไฟโดยสาร ราชยา รานิ ซึ่งแล่นด้วยความเร็วสูงวิ่งเข้ามาชนพวกเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสผู้หนึ่งบอก
ทางด้าน เอส. เค. ภารตวัช เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส แถลงว่ามีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อยที่สุด 37 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 9 คน และเด็ก 4 คน นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบคน แต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนเนื่องจากถูกนำตัวแยกย้ายไปส่งโรงพยาบาลหลายแห่ง
เขากล่าวต่อไปว่า หลังจากเกิดเหตุรถไฟชนแล้ว ฝูงชนที่บังเกิดความโกรธแค้นก็ได้อาละวาด โดยตรงไปยังขบวนรถไฟด่วนสายราชยา รานิ ซึ่งหยุดนิ่งอยู่ และเข้าทำร้ายทุบตีพนักงานขับรถ 2 คน ทำให้เสียชีวิตไป 1 ราย ส่วนอีกคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้เจ้าหน้าที่หลายคนระบุว่าฝูงชนที่ก่อจลาจลนี้มีจำนวนถึงราว 5,000 คนทีเดียว
ฝูงชนยังได้จุดไฟเผาตู้โบกี้โดยสาร และเข้าปล้นรื้อค้นสถานีรถไฟแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่อ ธรรมารา กัต และอยู่ห่างจากเมืองปัฏนา เมืองหลวงของรัฐพิหาร 248 กิโลเมตร อรุณ มาลิก ผู้อำนวยการรถไฟท้องถิ่นระบุ
"รวมแล้วมีตู้โดยสาร 6 ตู้ถูกเผา และสถานีก็ถูกฝูงชนเข้าปล้นรื้อค้น เจ้าหน้าที่ของเราต่างหนีออกมาจากสถานีเพราะกลัวถูกทำร้ายไปด้วย" มาลิก กล่าว
ทางด้านนายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย ได้ “แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและรู้สึกช็อกต่อการสูญเสียชีวิตคราวนี้” พร้อมกับขอร้องให้อยู่ในความสงบ ทั้งนี้ตามข้อความในคำแถลงที่ออกโดยสำนักนายกฯ
สุมาน กุมาร เจีย นักศึกษาวิทยาลัยซึ่งอยู่บนขบวนรถไฟด่วน ขณะที่มันวิ่งพุ่งเข้าไปในกลุ่มผู้แสวงบุญ เล่าวว่าเขารู้สึกชาด้านไปทั้งตัว เมื่อได้เห็น “เลือดมากมายขนาดนั้นสาดกระจายไปทั่ว”
“ผมลงจากรถไฟหลังเกิดอุบัติเหตุ ผมรู้สึกช็อกที่ได้เห็นศีรษะและแขนขาที่หลุดขาดกระจัดกระจายอยู่บนทางรถไฟ มันน่าสยดสยองจริงๆ” เขาบอกเล่าความรู้สึกกับสถานีทีวีท้องถิ่น
เจ้าหน้าที่อาวุโสของการรถไฟผู้หนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์คราวนี้เกิดขึ้นมา ดูเหมือนจะเนื่องจากพวกผู้แสวงบุญไม่ได้ระมัดระวังรถไฟด่วนซึ่งกำลังวิ่งอยู่บนรางรถไฟรางกลางในจำนวนทั้งสิ้น 3 รางของสถานีแห่งนี้
"รถไฟสองขบวนได้หยุดอยู่ที่รางอื่นอีก 2 รางแล้ว แต่รถไฟด่วน ราชยา รานี ก็ได้รับสัญญาณอนุญาตให้แล่นผ่านได้" อรุเณนทรา กุมาร ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งชาติ บอกต่อผู้สื่อข่าวในกรุงนิวเดลี
"อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะว่ามีผู้คนบางส่วนเดินออกมาจากชานชาลาของสถานีและลงมาที่รางรถไฟ" กุมาร กล่าว
ฝูงชนที่สถานีรถไฟเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของผู้แสวงบุญจำนวนมากมาย ซึ่งไปรวมตัวสักการะวัดฮินดูแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเพรสทรัสต์ของอินเดีย ผู้แสวงบุญเหล่านี้บางส่วนเป็นพวกผู้อุทิศตนบูชาพระศิวะ พระเจ้าแห่งการทำลายในศาสนาฮินดู
แดนภารตะนั้นเป็นประเทศซึ่งเกิดอุบัติเหตุทางรถไฟอยู่เสมอ ปีละไม่ต่ำกว่าหลายร้อยครั้ง
รายงานของรัฐบาลฉบับหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่ในปี 2012ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ที่เสียชีวิตจากรถไฟของอินเดียเกือบ 15,000 คน โดยที่รายงานเรียกการเสียชีวิตเหล่านี้ว่าเป็น "การฆาตกรรมหมู่" ประจำปี สืบเนื่องมาจากมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ย่ำแย่
ในรายงานแจกแจงว่า คนเดินเท้าจำนวนมากกระทำความผิด “ฐานบุกรุกอย่างผิดกฎหมาย” ด้วยการเดินข้ามทางรถไฟในจุดที่ไม่ได้จัดให้เป็นทางข้ามอย่างถูกต้อง และเสริมว่า ในจำนวนการตายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถไฟในแต่ละปีโดยรวมนั้น เฉพาะที่เมืองมุมไบ (บอมเบย์) ซึ่งมีผู้คนแออัดและวุ่นวายอย่างยิ่งแห่งเดียว ก็มีผู้เสียชีวิตราว 6,000 คน
รัฐบาลอินเดียใช้ความพยายามที่จะหยุดยั้งพฤติการณ์ต่างๆ อันเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นไปนั่งบนหลังคารถไฟ การขับยานพาหนะอ้อมผ่านไม้กั้นทางรถไฟ หรือการชะโงกตัวออกนอกประตูตู้รถไฟที่เปิดค้างไว้ขณะรถวิ่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกพบเห็นกันเป็นประจำ แต่ความพยายามทั้งหลายก็ล้วนล้มเหลวเสียส่วนมาก
ข้อมูลสถิติการเสียชีวิตจากรถไฟในอินเดีย มิได้มีการแยกแยะลักษณะการตายที่เกิดขึ้น แต่การเสียชีวิตส่วนใหญ่ที่สุดนั้นมาจากการหล่นออกจากประตูตู้โดยสารที่เปิดทิ้งไว้ หรือถูกชนขณะข้ามทางรถไฟซึ่งส่วนใหญ่มิได้มีไม้กั้นในเวลารถไฟผ่าน
หนึ่งในอุบัติเหตุทางรถไฟที่ร้ายแรงที่สุดของแดนภารตะคือเหตุการณ์ที่รถไฟพุ่งลงไปในแม่น้ำในรัฐพิหารเมื่อปี 1981 ซึ่งสังเวยชีวิตผู้คนไปราว 800 คน