(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Egyptian crackdown death toll climbs
By Jim Lobe and Thalif Deen
15/08/2013
ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการที่ฝ่ายทหารของอียิปต์เข้ากวาดล้างพวกผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในวันพุธ(14ส.ค.) ได้เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับมากกว่า 500 คนเมื่อวันพฤหัสบดี (15) ที่ผ่านมา และทางการสหรัฐฯก็ได้แสดงปฏิกิริยาด้วยการประณามตำหนิอย่างรุนแรง ทว่ายังคงไม่มีการคุกคามข่มขู่ที่จะระงับความช่วยเหลือแก่ระบอบปกครองใหม่แห่งแดนไอยคุปต์ ถึงแม้ภายในแวดวงชนชั้นปกครองในกรุงวอชิงตันนั้น เริ่มมีการส่งเสียงออกมาแล้วว่า บทบาทที่คณะรัฐบาลโอบามาแสดงอยู่ในปัจจุบัน ย่อมมีความหมายเท่ากับการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการก่อเหตุนองเลือดคราวนี้ด้วย
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ใช้ถ้อยคำอันดุดันเกรี้ยวกราดผิดธรรมดาทีเดียว ในการประณามตำหนิการที่ฝ่ายทหารของอียิปต์ใช้กำลังเข้าปราบปรามพวกผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) อย่างนองเลือด ทว่าแม้จะมีผู้ออกมาเรียกร้องประสานเสียงกันดังระงมขึ้นทุกที ให้สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทุกๆ อย่างซึ่งให้แก่รัฐบาลชั่วคราวในกรุงไคโร ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภายหลังฝ่ายทหารก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี คณะรัฐบาลโอบามาก็แสดงท่าทีแต่เพียงว่าจะดำเนินการทบทวน “ความเกี่ยวข้องด้านต่างๆ ในความสัมพันธ์โดยภาพรวมของเรา ซึ่งนี่ก็รวมถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้วย”
“สหรัฐฯขอประณามอย่างแรงกล้าต่อการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ประท้วงในอียิปต์” โฆษกทำเนียบขาว โจช เออร์เนสต์ (Josh Earnest) แถลงต่อผู้สื่อข่าวในวันพุธ (14 ส.ค.) จากเกาะมาร์ธาส์วินยาร์ด (Martha's Vineyard) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ซึ่งโอบามาและครอบครัวของเขากำลังพำนักอยู่ในช่วงหยุดพักร้อน “ความรุนแรงมีแต่จะทำให้เกิดความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นสำหรับการที่อียิปต์จะก้าวเดินหน้าไปบนเส้นทางสู่เสถียรภาพอันยั่งยืนและระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับคำมั่นสัญญาซึ่งรัฐบาลชั่วคราว (ของอียิปต์) ให้ไว้ในเรื่องที่มุ่งเสาะแสวงหาการปรองดองรอมชอม” โฆษกทำเนียบขาวตั้งข้อสังเกต
เออร์เนสต์กล่าวต่อไปว่า วอชิงตันยังขอ “คัดค้านอย่างแข็งขัน” ต่อการที่อียิปต์จะหวนกลับคืนไปใช้การปกครองแบบภาวะฉุกเฉินตามที่ฝ่ายทหารประกาศตามมา ภายหลังจากก่อนหน้านั้นได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อช่วงเช้าของวันพุธ
การแถลงของโฆษกทำเนียบขาวครั้งนี้ มีขึ้นในท่ามกลางรายงานข่าวอันชวนสยดสยองเกี่ยวกับความรุนแรง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการใช้กำลังทหารและตำรวจอย่างเต็มที่ เพื่อกวาดล้างสลายพวกผู้ประท้วงที่เป็นฝ่ายหนุนมอร์ซีจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งได้มาตั้งค่ายพักค้างแรมอยู่ที่จัตุรัสสำคัญ 2 แห่งในกรุงไคโร นับตั้งแต่ที่การรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 3 กรกฎาคมผ่านไปไม่นานนัก นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างพวกนักเคลื่อนไหวที่หนุนกองทัพ กับพวกผู้ชุมนุมเดินขบวนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ทั้งในเมืองหลวงไคโร และเมืองใหญ่อื่นๆ
ตามคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ความรุนแรงคราวนี้ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตอย่างน้อย 327 คนทั้งในกรุงไคโรและในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะที่อีก 2,930 คนได้รับบาดเจ็บ (หมายเหตุผู้แปล – กระทรวงสาธารณสุขอียิปต์แถลงในคืนวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค. ปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตขึ้นเป็นอย่างน้อย 578 คน และบาดเจ็บกว่า 4,000 คน) ตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายนี้ดูท่าว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนในเมื่อความไม่สงบยังคงขยายตัวแผ่กว้างออกไป พวกเจ้าหน้าที่ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนั้น เรียกการเข่นฆ่าที่เกิดขึ้นคราวนี้ว่า เป็น “การสังหารหมู่” และให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตซึ่งสูงกว่าของทางการหลายเท่าตัว ในวันซึ่งได้กลายเป็นวันเกิดเหตุรุนแรงอย่างเลวร้ายที่สุดในอียิปต์เท่าที่ผู้มีชีวิตอยู่ทั้งหลายยังพอจะสามารถจดจำกันได้
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าสังเวชเสียใจ และเป็นสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับความมุ่งมาดปรารถนาของชาวอียิปต์ที่จะเห็นสันติภาพ, การมีส่วนร่วม, และประชาธิปไตย” เป็นคำแถลงของ รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งได้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการที่เขาแถลงยกย่องชมเชยฝ่ายทหารของอียิปต์ว่า “กำลังฟื้นฟูประชาธิปไตย” ด้วยการโค่นล้มมอร์ซี ในระหว่างที่เขาแถลงข่าวอยู่ในปากีสถานเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ “ชาวอียิปต์ทั้งที่อยู่ภายในรัฐบาลและทั้งที่อยู่นอกรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องก้าวออกมา พวกเขาจำเป็นที่จะต้องทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ความสงบและหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตมากไปกว่านี้” เขากล่าวในวันพุธ
“เส้นทางอันยั่งยืนเพียงเส้นทางเดียวไม่ว่าสำหรับฝ่ายใด ก็คือเส้นทางสายซึ่งมุ่งไปสู่การหาทางแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง และจากการที่ผมได้สนทนาในวันนี้กับท่านรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติต่างๆ จำนวนหนึ่ง รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ด้วย ผมมีความมั่นใจว่า … แท้ที่จริงแล้ว เส้นทางสายดังกล่าวยังคงเปิดอยู่ … ถึงแม้มันจะเป็นเส้นทางซึ่งกำลังยากลำบากเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ และสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้”
(หมายเหตุผู้แปล – ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 16 ส.ค. ตัวประธานาธิบดีโอบามาเอง ได้ออกมาแถลงข่าวที่เกาะมาร์ธาส์วินยาร์ด ด้วย ทั้งนี้เขาระบุว่า จากความรุนแรงนองเลือดที่เกิดขึ้นในวันพุธ สหรัฐฯจึงตัดสินใจยกเลิกแผนการซ่อมรบร่วม “ไบรต์สตาร์” Bright Star ระหว่างอเมริกากับอียิปต์ โดยเขากล่าวว่า “แม้สหรัฐฯ จะต้องการสืบสานความสัมพันธ์กับอียิปต์ต่อไป แต่ความร่วมมือที่มีมาแต่เดิมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หากยังมีพลเรือนถูกสังหารบนท้องถนน และถูกล่วงละเมิดสิทธิ” อย่างไรก็ตาม โอบามายังไม่ระงับความช่วยเหลือที่ให้แก่รัฐบาลอียิปต์ ดูรายละเอียดที่เรื่อง ไม่จบ! ภราดรภาพมุสลิมนัด “ชุมนุมใหญ่” วันนี้ หลังกองทัพอียิปต์สลายชุมนุม “ตายกว่าครึ่งพัน” http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000101908)
การกวาดล้างสลายผู้ชุมนุมครั้งนี้ คือสิ่งซึ่งพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งจากกระทรวงกลาโหมและจากกระทรวงการต่างประเทศ ต่างได้ใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเกลี้ยกล่อมชักชวนให้พวกเจ้าหน้าที่ของฝ่ายอียิปต์หลีกเลี่ยงให้ห่างไกล ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานเท่าไรนัก กลุ่มภราดรภาพมุสลิมและพวกผู้สนับสนุนของพวกเขาจะยินยอมอ่อนข้อยกเลิกข้อเรียกร้องที่จะให้แต่งตั้งมอร์ซีกลับขึ้นครองอำนาจอีกคำรบหนึ่ง และจากนั้นกระบวนการปรองดองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็จะสามารถเดินหน้าได้
คณะรัฐบาลโอบามา กระทั่งดูเหมือนจะให้ความเห็นชอบต่อการเดินทางเที่ยวพิเศษสู่กรุงไคโรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของ 2 สมาชิกรัฐสภาฝ่ายพรรครีพับลิกันที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศของโอบามาอย่างดุเดือดกราดเกรี้ยวที่สุด อันได้แก่ วุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน (John McCain) และวุฒิสมาชิกลินด์เซย์ เกรแฮม (Lindsay Graham) ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้บุคคลทั้งสองไปป่าวประกาศยืนยันกับฝ่ายต่างๆ ของอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหาร ว่าการใช้กำลังเข้าปราบปรามสลายฝูงชนด้วยความรุนแรงใดๆ จะส่งผลทำให้มีการยกเลิกความช่วยเหลือที่วอชิงตันให้แก่อียิปต์ ซึ่งคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ อยู่ในราวปีละ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้อยู่ในรูปของการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยต่างๆ ราว 1,300 ล้านดอลลาร์
ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดในแดนไอยคุปต์เมื่อวันพุธ แมคเคน ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโอบามาเมื่อปี 2008 ได้ทวีตในวันนั้นว่า “อย่างที่พวกเราได้พยากรณ์และได้หวาดกลัวกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ความปั่นป่วนวุ่นวายกำลังเกิดขึ้นในไคโร” เขาทวีตต่อไปว่า “การที่ รมว.เคร์รี ยกย่องการเข้ายึดอำนาจของทหาร ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย” อันเป็นการปล่อยหมัดแย็บใส่การแถลงในปากีสถานของเคร์รี
คณะรัฐบาลโอบามานั้นมีความหวาดกลัวอย่างชัดเจนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันพุธจะกลายเป็นการลดทอน หากไม่ถึงกับกลายเป็นการลบสูญซึ่งโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรอมชอมปรองดองขึ้นมา ระหว่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและพวกพรรคฝ่ายอิสลามิสต์เคร่งจารีตอื่นๆ (เป็นต้นว่า พรรคอัล-นูร์ Al-Nour party ซึ่งเป็นพวกที่เคร่งจารีตยิ่งกว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมด้วยซ้ำ ทว่าจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ได้แสดงท่าทีต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นคราวนี้ด้วยจุดยืนเป็นกลางๆ มากกว่า) กับกลุ่มพลังฝ่ายฆราวาสนิยม (secular forces พวกที่เรียกร้องสนับสนุนให้แยกขาดระหว่างรัฐกับศาสนา) ที่หนุนหลังการโค่นล้มมอร์ซีของฝ่ายทหาร
ที่จริงแล้ว ตามความเห็นของพวกนักวิเคราะห์อิสระ อียิปต์ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดและทรงอิทธิพลบารมีสูงที่สุดในโลกอาหรับ อีกทั้งเสถียรภาพของแดนไอยคุปต์ก็ได้รับการพิจารณามานานแล้วว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้นั้น กำลังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกขั้วแบ่งฝ่ายอย่างร้าวลึกยิ่งขึ้นมาก รวมทั้งความตึงเครียดขัดแย้งในหมู่ประชาชนก็กำลังเพิ่มทวียกระดับขึ้นไปอย่างรุนแรง เนื่องจากผลของการนองเลือดในวันพุธ
“เหตุการณ์ในอียิปต์จะกลายเป็นตัวขับดันอันสำคัญมากให้มีการพุ่งพรวดไปสู่ลัทธิสุดโต่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิสุดโต่งแบบอิสลามิสต์เคร่งจารีตอันเน้นความรุนแรง” พอล พิลลาร์ (Paul Pillar) อดีตนักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางระดับท็อปของซีไอเอซึ่งปัจจุบันปลดเกษียณแล้ว และไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) แจกแจงให้สำนักข่าวอินเตอร์เพรส (Inter Press Service หรือ IPS) ฟังผ่านการติดต่อทางอีเมล
“การที่พวกอิสลามิสต์เคร่งจารีตที่มีแนวคิดสายกลาง กำลังตกอยู่ในสภาพซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถูกกีดกันออกมาจากกระบวนการทางการเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยและสันติในอียิปต์นั้น ก็เป็นสิ่งที่ย่ำแย่เต็มทีแล้ว แต่ในเวลานี้ความโกรธแค้นซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเป็นความโกรธแค้นซึ่งมุ่งที่จะตอบโต้การนองเลือดอย่างใหญ่โตมโหฬารเช่นที่เกิดขึ้นคราวนี้ ก็กำลังจะต้องนำเอาเข้ามาบวกในส่วนผสมนี้ด้วย”
ข้อสังเกตในทำนองนี้ ปรากฏว่าสอดคล้องขานรับกับความคิดเห็นของ โมฮัมเหม็ด เอล-บาราเด (Mohammed El-Baradei) รองประธานาธิบดีของคณะรัฐบาลผสมของอียิปต์เอง อีกทั้งยังเป็นคนโปรดของวอชิงตัน โดยที่เขาได้ประกาศขอลาออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อประสบกับความรุนแรงในวันพุธ
“ความรุนแรงย่อมก่อให้เกิดความรุนแรงต่อไปอีก และขอให้จดจำคำพูดของผมเอาไว้ให้ดี พวกที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มีเพียงพวกเดียว นั่นคือ กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งทั้งหลาย” เอล-บาราเด ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) เมื่อตอนที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการขององค์กรชำนัญพิเศษทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหประชาชาติแห่งนี้ ระบุเอาไว้เช่นนี้ในจดหมายขอลาออกจากการเป็นรองประธานาธิบดีของเขา
จิม โล้บ เป็นผู้จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถติดตามอ่านได้ที่ atLobelog.com ขณะที่ ธาลิฟ ดีน เป็นผู้ที่รายงานข่าวจากสหประชาชาติให้แก่สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Egyptian crackdown death toll climbs
By Jim Lobe and Thalif Deen
15/08/2013
ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการที่ฝ่ายทหารของอียิปต์เข้ากวาดล้างพวกผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในวันพุธ(14ส.ค.) ได้เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับมากกว่า 500 คนเมื่อวันพฤหัสบดี (15) ที่ผ่านมา และทางการสหรัฐฯก็ได้แสดงปฏิกิริยาด้วยการประณามตำหนิอย่างรุนแรง ทว่ายังคงไม่มีการคุกคามข่มขู่ที่จะระงับความช่วยเหลือแก่ระบอบปกครองใหม่แห่งแดนไอยคุปต์ ถึงแม้ภายในแวดวงชนชั้นปกครองในกรุงวอชิงตันนั้น เริ่มมีการส่งเสียงออกมาแล้วว่า บทบาทที่คณะรัฐบาลโอบามาแสดงอยู่ในปัจจุบัน ย่อมมีความหมายเท่ากับการเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับการก่อเหตุนองเลือดคราวนี้ด้วย
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *
คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ใช้ถ้อยคำอันดุดันเกรี้ยวกราดผิดธรรมดาทีเดียว ในการประณามตำหนิการที่ฝ่ายทหารของอียิปต์ใช้กำลังเข้าปราบปรามพวกผู้สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) อย่างนองเลือด ทว่าแม้จะมีผู้ออกมาเรียกร้องประสานเสียงกันดังระงมขึ้นทุกที ให้สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทุกๆ อย่างซึ่งให้แก่รัฐบาลชั่วคราวในกรุงไคโร ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภายหลังฝ่ายทหารก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี คณะรัฐบาลโอบามาก็แสดงท่าทีแต่เพียงว่าจะดำเนินการทบทวน “ความเกี่ยวข้องด้านต่างๆ ในความสัมพันธ์โดยภาพรวมของเรา ซึ่งนี่ก็รวมถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้วย”
“สหรัฐฯขอประณามอย่างแรงกล้าต่อการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ประท้วงในอียิปต์” โฆษกทำเนียบขาว โจช เออร์เนสต์ (Josh Earnest) แถลงต่อผู้สื่อข่าวในวันพุธ (14 ส.ค.) จากเกาะมาร์ธาส์วินยาร์ด (Martha's Vineyard) มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ที่ซึ่งโอบามาและครอบครัวของเขากำลังพำนักอยู่ในช่วงหยุดพักร้อน “ความรุนแรงมีแต่จะทำให้เกิดความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นสำหรับการที่อียิปต์จะก้าวเดินหน้าไปบนเส้นทางสู่เสถียรภาพอันยั่งยืนและระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับคำมั่นสัญญาซึ่งรัฐบาลชั่วคราว (ของอียิปต์) ให้ไว้ในเรื่องที่มุ่งเสาะแสวงหาการปรองดองรอมชอม” โฆษกทำเนียบขาวตั้งข้อสังเกต
เออร์เนสต์กล่าวต่อไปว่า วอชิงตันยังขอ “คัดค้านอย่างแข็งขัน” ต่อการที่อียิปต์จะหวนกลับคืนไปใช้การปกครองแบบภาวะฉุกเฉินตามที่ฝ่ายทหารประกาศตามมา ภายหลังจากก่อนหน้านั้นได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อช่วงเช้าของวันพุธ
การแถลงของโฆษกทำเนียบขาวครั้งนี้ มีขึ้นในท่ามกลางรายงานข่าวอันชวนสยดสยองเกี่ยวกับความรุนแรง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการใช้กำลังทหารและตำรวจอย่างเต็มที่ เพื่อกวาดล้างสลายพวกผู้ประท้วงที่เป็นฝ่ายหนุนมอร์ซีจำนวนหลายหมื่นคน ซึ่งได้มาตั้งค่ายพักค้างแรมอยู่ที่จัตุรัสสำคัญ 2 แห่งในกรุงไคโร นับตั้งแต่ที่การรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 3 กรกฎาคมผ่านไปไม่นานนัก นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างพวกนักเคลื่อนไหวที่หนุนกองทัพ กับพวกผู้ชุมนุมเดินขบวนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ทั้งในเมืองหลวงไคโร และเมืองใหญ่อื่นๆ
ตามคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ความรุนแรงคราวนี้ทำให้มีผู้สูญเสียชีวิตอย่างน้อย 327 คนทั้งในกรุงไคโรและในที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะที่อีก 2,930 คนได้รับบาดเจ็บ (หมายเหตุผู้แปล – กระทรวงสาธารณสุขอียิปต์แถลงในคืนวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค. ปรับตัวเลขผู้เสียชีวิตขึ้นเป็นอย่างน้อย 578 คน และบาดเจ็บกว่า 4,000 คน) ตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายนี้ดูท่าว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนในเมื่อความไม่สงบยังคงขยายตัวแผ่กว้างออกไป พวกเจ้าหน้าที่ของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมนั้น เรียกการเข่นฆ่าที่เกิดขึ้นคราวนี้ว่า เป็น “การสังหารหมู่” และให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตซึ่งสูงกว่าของทางการหลายเท่าตัว ในวันซึ่งได้กลายเป็นวันเกิดเหตุรุนแรงอย่างเลวร้ายที่สุดในอียิปต์เท่าที่ผู้มีชีวิตอยู่ทั้งหลายยังพอจะสามารถจดจำกันได้
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าสังเวชเสียใจ และเป็นสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับความมุ่งมาดปรารถนาของชาวอียิปต์ที่จะเห็นสันติภาพ, การมีส่วนร่วม, และประชาธิปไตย” เป็นคำแถลงของ รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี (John Kerry) ของสหรัฐฯ ผู้ซึ่งได้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการที่เขาแถลงยกย่องชมเชยฝ่ายทหารของอียิปต์ว่า “กำลังฟื้นฟูประชาธิปไตย” ด้วยการโค่นล้มมอร์ซี ในระหว่างที่เขาแถลงข่าวอยู่ในปากีสถานเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ “ชาวอียิปต์ทั้งที่อยู่ภายในรัฐบาลและทั้งที่อยู่นอกรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องก้าวออกมา พวกเขาจำเป็นที่จะต้องทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ความสงบและหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตมากไปกว่านี้” เขากล่าวในวันพุธ
“เส้นทางอันยั่งยืนเพียงเส้นทางเดียวไม่ว่าสำหรับฝ่ายใด ก็คือเส้นทางสายซึ่งมุ่งไปสู่การหาทางแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง และจากการที่ผมได้สนทนาในวันนี้กับท่านรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติต่างๆ จำนวนหนึ่ง รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ด้วย ผมมีความมั่นใจว่า … แท้ที่จริงแล้ว เส้นทางสายดังกล่าวยังคงเปิดอยู่ … ถึงแม้มันจะเป็นเส้นทางซึ่งกำลังยากลำบากเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ และสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างมากๆ จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้”
(หมายเหตุผู้แปล – ต่อมาในวันพฤหัสบดีที่ 16 ส.ค. ตัวประธานาธิบดีโอบามาเอง ได้ออกมาแถลงข่าวที่เกาะมาร์ธาส์วินยาร์ด ด้วย ทั้งนี้เขาระบุว่า จากความรุนแรงนองเลือดที่เกิดขึ้นในวันพุธ สหรัฐฯจึงตัดสินใจยกเลิกแผนการซ่อมรบร่วม “ไบรต์สตาร์” Bright Star ระหว่างอเมริกากับอียิปต์ โดยเขากล่าวว่า “แม้สหรัฐฯ จะต้องการสืบสานความสัมพันธ์กับอียิปต์ต่อไป แต่ความร่วมมือที่มีมาแต่เดิมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หากยังมีพลเรือนถูกสังหารบนท้องถนน และถูกล่วงละเมิดสิทธิ” อย่างไรก็ตาม โอบามายังไม่ระงับความช่วยเหลือที่ให้แก่รัฐบาลอียิปต์ ดูรายละเอียดที่เรื่อง ไม่จบ! ภราดรภาพมุสลิมนัด “ชุมนุมใหญ่” วันนี้ หลังกองทัพอียิปต์สลายชุมนุม “ตายกว่าครึ่งพัน” http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000101908)
การกวาดล้างสลายผู้ชุมนุมครั้งนี้ คือสิ่งซึ่งพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทั้งจากกระทรวงกลาโหมและจากกระทรวงการต่างประเทศ ต่างได้ใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงในช่วงหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเกลี้ยกล่อมชักชวนให้พวกเจ้าหน้าที่ของฝ่ายอียิปต์หลีกเลี่ยงให้ห่างไกล ด้วยความหวังว่าอีกไม่นานเท่าไรนัก กลุ่มภราดรภาพมุสลิมและพวกผู้สนับสนุนของพวกเขาจะยินยอมอ่อนข้อยกเลิกข้อเรียกร้องที่จะให้แต่งตั้งมอร์ซีกลับขึ้นครองอำนาจอีกคำรบหนึ่ง และจากนั้นกระบวนการปรองดองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็จะสามารถเดินหน้าได้
คณะรัฐบาลโอบามา กระทั่งดูเหมือนจะให้ความเห็นชอบต่อการเดินทางเที่ยวพิเศษสู่กรุงไคโรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของ 2 สมาชิกรัฐสภาฝ่ายพรรครีพับลิกันที่เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศของโอบามาอย่างดุเดือดกราดเกรี้ยวที่สุด อันได้แก่ วุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน (John McCain) และวุฒิสมาชิกลินด์เซย์ เกรแฮม (Lindsay Graham) ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้บุคคลทั้งสองไปป่าวประกาศยืนยันกับฝ่ายต่างๆ ของอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายทหาร ว่าการใช้กำลังเข้าปราบปรามสลายฝูงชนด้วยความรุนแรงใดๆ จะส่งผลทำให้มีการยกเลิกความช่วยเหลือที่วอชิงตันให้แก่อียิปต์ ซึ่งคิดเป็นตัวเลขคร่าวๆ อยู่ในราวปีละ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้อยู่ในรูปของการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยต่างๆ ราว 1,300 ล้านดอลลาร์
ภายหลังเหตุการณ์นองเลือดในแดนไอยคุปต์เมื่อวันพุธ แมคเคน ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโอบามาเมื่อปี 2008 ได้ทวีตในวันนั้นว่า “อย่างที่พวกเราได้พยากรณ์และได้หวาดกลัวกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ความปั่นป่วนวุ่นวายกำลังเกิดขึ้นในไคโร” เขาทวีตต่อไปว่า “การที่ รมว.เคร์รี ยกย่องการเข้ายึดอำนาจของทหาร ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย” อันเป็นการปล่อยหมัดแย็บใส่การแถลงในปากีสถานของเคร์รี
คณะรัฐบาลโอบามานั้นมีความหวาดกลัวอย่างชัดเจนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันพุธจะกลายเป็นการลดทอน หากไม่ถึงกับกลายเป็นการลบสูญซึ่งโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรอมชอมปรองดองขึ้นมา ระหว่างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและพวกพรรคฝ่ายอิสลามิสต์เคร่งจารีตอื่นๆ (เป็นต้นว่า พรรคอัล-นูร์ Al-Nour party ซึ่งเป็นพวกที่เคร่งจารีตยิ่งกว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมด้วยซ้ำ ทว่าจวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ได้แสดงท่าทีต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นคราวนี้ด้วยจุดยืนเป็นกลางๆ มากกว่า) กับกลุ่มพลังฝ่ายฆราวาสนิยม (secular forces พวกที่เรียกร้องสนับสนุนให้แยกขาดระหว่างรัฐกับศาสนา) ที่หนุนหลังการโค่นล้มมอร์ซีของฝ่ายทหาร
ที่จริงแล้ว ตามความเห็นของพวกนักวิเคราะห์อิสระ อียิปต์ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดและทรงอิทธิพลบารมีสูงที่สุดในโลกอาหรับ อีกทั้งเสถียรภาพของแดนไอยคุปต์ก็ได้รับการพิจารณามานานแล้วว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้นั้น กำลังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกขั้วแบ่งฝ่ายอย่างร้าวลึกยิ่งขึ้นมาก รวมทั้งความตึงเครียดขัดแย้งในหมู่ประชาชนก็กำลังเพิ่มทวียกระดับขึ้นไปอย่างรุนแรง เนื่องจากผลของการนองเลือดในวันพุธ
“เหตุการณ์ในอียิปต์จะกลายเป็นตัวขับดันอันสำคัญมากให้มีการพุ่งพรวดไปสู่ลัทธิสุดโต่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิสุดโต่งแบบอิสลามิสต์เคร่งจารีตอันเน้นความรุนแรง” พอล พิลลาร์ (Paul Pillar) อดีตนักวิเคราะห์ด้านตะวันออกกลางระดับท็อปของซีไอเอซึ่งปัจจุบันปลดเกษียณแล้ว และไปสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) แจกแจงให้สำนักข่าวอินเตอร์เพรส (Inter Press Service หรือ IPS) ฟังผ่านการติดต่อทางอีเมล
“การที่พวกอิสลามิสต์เคร่งจารีตที่มีแนวคิดสายกลาง กำลังตกอยู่ในสภาพซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถูกกีดกันออกมาจากกระบวนการทางการเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยและสันติในอียิปต์นั้น ก็เป็นสิ่งที่ย่ำแย่เต็มทีแล้ว แต่ในเวลานี้ความโกรธแค้นซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเป็นความโกรธแค้นซึ่งมุ่งที่จะตอบโต้การนองเลือดอย่างใหญ่โตมโหฬารเช่นที่เกิดขึ้นคราวนี้ ก็กำลังจะต้องนำเอาเข้ามาบวกในส่วนผสมนี้ด้วย”
ข้อสังเกตในทำนองนี้ ปรากฏว่าสอดคล้องขานรับกับความคิดเห็นของ โมฮัมเหม็ด เอล-บาราเด (Mohammed El-Baradei) รองประธานาธิบดีของคณะรัฐบาลผสมของอียิปต์เอง อีกทั้งยังเป็นคนโปรดของวอชิงตัน โดยที่เขาได้ประกาศขอลาออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อประสบกับความรุนแรงในวันพุธ
“ความรุนแรงย่อมก่อให้เกิดความรุนแรงต่อไปอีก และขอให้จดจำคำพูดของผมเอาไว้ให้ดี พวกที่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้มีเพียงพวกเดียว นั่นคือ กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งทั้งหลาย” เอล-บาราเด ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) เมื่อตอนที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการขององค์กรชำนัญพิเศษทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหประชาชาติแห่งนี้ ระบุเอาไว้เช่นนี้ในจดหมายขอลาออกจากการเป็นรองประธานาธิบดีของเขา
จิม โล้บ เป็นผู้จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถติดตามอ่านได้ที่ atLobelog.com ขณะที่ ธาลิฟ ดีน เป็นผู้ที่รายงานข่าวจากสหประชาชาติให้แก่สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)