เอเจนซีส์- พบข้อมูล มีชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในต่างแดนจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ขอยื่นเรื่อง "สละสัญชาติ" ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบอย่างหนักจากรัฐบาลสหรัฐฯต่อการที่เศรษฐีชาวอเมริกันมักใช้ต่างแดนเป็นสถานที่เลี่ยงภาษี
สื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดัง "วอลสตรีท เจอร์นัล" รายงานในวันจันทร์(12) โดยระบุว่า มีจำนวนชาวอเมริกันที่อาศัยในต่างแดนเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ยื่นขอสละสัญชาติอเมริกันของตนเองที่สถานทูตสหรัฐฯทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ในปี 2013 ซึ่งมีจำนวนชาวอเมริกันขอสละสัญชาติมากกว่าทั้งปี 2012
โดยบันทึกของกรมสรรพากรสหรัฐฯ หรือ IRS ชี้ว่า มีรายชื่อชาวอเมริกันทั้งสิ้นราว 1,130 รายชื่อ ได้ยื่นเรื่องขอสละสัญชาติในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
เป็นที่น่าสนใจว่า สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวจากสมาชิกทั้งหมดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่มีการเรียกเก็บภาษีจากพลเมืองของตัวเองรวมถึงผู้ที่ถือกรีนการ์ด (ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับอนุญาตให้อาศัยในสหรัฐฯ) โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในดินแดนส่วนใดของโลก
เมื่อเร็วๆนี้ทางรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ได้เอาจริงเอาจังในการตรวจการเลี่ยงภาษีในต่างแดนที่กลายเป็น "สวรรค์ของการเลี่ยงภาษี" รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯกำลังพยายามอย่างหนักที่จะลดตัวเลขการขาดดุลงบประมาณของตัวเอง
ถึงแม้ว่าตัวเลขของเศรษฐีชาวอเมริกันที่เข้าคิวขอสละสัญชาตินั้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดของชาวอเมริกันกว่า 6 ล้านคนที่อาศัยอยู่นอกประเทศ แต่ทว่ากฎหมายบังคับการจัดเก็บภาษีในต่างแดน หรือ FATCA ที่บังคับให้สถาบันการเงินในต่างแดนต้องยอมเปิดเผยต่อรัฐบาลสหรัฐฯถึงข้อมูลทรัพย์สินของพลเมืองสหรัฐฯหรือผู้ที่กรีนการ์ดที่ได้ฝากไว้ ทำให้ชาวอเมริกันที่อยู่ในต่างแดนจำนวนไม่น้อยทีเริ่มชั่งใจในการถือครองหนังสือเดินทางสหรัฐฯและสัญชาติอเมริกันไว้ต่อไป
กฎหมาย FATCA นี้มีจุดประสงค์เพื่อเปิดโปงบรรดาเศรษฐีอเมริกันที่มักซุกเงินไว้ตามสถาบันการเงิน และตลาดหลักทรัพย์นอกประเทศ และที่มีผลกระทบมากที่สุดนั้นคือในเอเชีย
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เวลานี้มีชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งที่ต้องการหาสัญชาติใหม่ในฮ่องกง ดินแดนที่ภาษีรายได้ส่วนบุคคลนั้นสูงสุดแค่ 15% และประกอบกับปัจจัยในระบบการเรียกเก็บภาษีของ IRS ที่ได้เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้นในการเตรียมเอกสารและการคิดคำนวณภาษีสำหรับชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในต่างแดนมีผลต่อการตัดสินใจในการสละสัญชาติของชาวสหรัฐฯ มากขึ้น
“จริงๆแล้วตัวเลขภาษีที่ผมต้องจ่ายนั้นมันยังไม่เท่ากับระบบที่ทางIRS ให้ผมต้องเตรียมเอกสารมากมาย ผมไม่ใช่พวกเศรษฐีหมื่นล้าน ผมไม่ต้องการที่จะปวดหัวกับเอกสารมากมายพวกนั้น” อดีตพลเมืองสหรัฐฯรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว
เจย์ เคราเซอร์ แห่งสำนักงานกฏหมาย วิทเธอร์ กล่าวว่า ทนายความในสำนักงานของเขาที่สิงคโปร์และฮ่องกงได้ให้ความช่วยเหลือลูกความชาวสหรัฐฯและผู้ถือกรีนการ์ดอเมริกันที่ไม่ได้อาศัยอยู่บนแผ่นดินอเมริกานานหลายปี และหลังจากที่พวกเขาได้จ่ายภาษีไปแล้วนั้น หลายคนรู้สึกว่าภาษีที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาลสหรัฐฯนั้นสูงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขภาษีที่เพื่อนอดีตชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์และฮ่องกงจ่ายในอัตราที่ต่ำกว่ามาก และยังไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์อีกด้วย