xs
xsm
sm
md
lg

‘กัมพูชา’อยู่ใน‘ภาวะทางตัน’หลังเลือกตั้ง (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรังจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Post-poll deadlock tests Cambodian stability
By Sebastian Strangio
02/08/2013

ทั้งนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และ สม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชา ต่างฝ่ายต่างประกาศอ้างว่าเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้จึงกำลังตกอยู่ในภาวะทางตันทางการเมือง แต่ทั้งนี้การที่สองฝ่ายจะกลับมาประนีประนอมกันนั้นยังคงมีความเป็นไปได้ และไม่ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปอย่างไรก็จะส่งผลสืบเนื่องอันยาวไกลต่อการเริงระบำทางการเมืองในแดนเขมรซึ่งย่างเข้าสู่ยุคที่มีพรรคสองพรรคใหญ่เผชิญหน้ากัน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**เส้นทางเดินอันละเอียดอ่อน**

สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้พรรคกู้ชาติกัมพูชาดูจะมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทางเท่านั้น หนทางแรกก็คือ สม รังสี กับ แกม โสภา (Kem Sokha) รองผู้นำพรรคของเขา ซึ่งต่างรู้สึกมีกำลังใจจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาดีผิดคาด จะนำประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนน ทว่านี่เป็นเส้นทางที่พวกผู้สังเกตการณ์อิสระเตือนว่า จะเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงสูง

“สม รังสี จะต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่เขาชนะได้มาแล้วก็คือที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติซึ่งสามารถที่จะส่งอิทธิพลต่ออนาคตของกัมพูชา เขายังไม่ได้มีชัยถึงขั้นได้รับอาณัติให้ขึ้นปกครองประเทศ” ศาสตราจารย์เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกัมพูชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดผู้หนึ่งกล่าวเตือน ศาสตราจารย์ผู้นี้เปรียบเทียบสถานการณ์ในปัจจุบันกับเมื่อปี 1998 ตอนที่การประท้วงคัดค้านภายหลังการเลือกตั้งได้นำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรงและการยิงสังหารผู้ชุมนุมเดินขบวน และย้ำว่า สม รังสี กำลังเสี่ยงภัยที่จะตกถลำลงไปในการเผชิญหน้ากันซึ่งลุกลามบานปลายเกินกว่าที่เขาจะควบคุมได้

“เวลานี้สถานการณ์ยังไม่ใช่เป็นแบบตอนนั้น” แชนด์เลอร์แจกแจง “แต่ถ้าคุณนำเอาประชาชนลงสู่ท้องถนน ก็อาจจะมีคนถูกฆ่าตาย นั่นเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในปี 1998 และสำหรับเวลานี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องขบคิดกันให้มากกว่านั้นอีก เพราะในเวลานี้เขาได้รับความสนับสนุนมากขึ้นแล้ว”

หนทางเลือกอีกประการหนึ่ง ซึ่งพวกนักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า ได้แก่การเจรจาทำความตกลงรอมชอมบางอย่างบางประการกับพรรคประชาชนกัมพูชา ขณะที่ สม รังสี ระบุว่าพรรคกู้ชาติกัมพูชาไม่สนใจที่จะต่อรองเพื่อตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล โดยที่เขาต้องการ “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” เท่านั้น ทว่ามีความเป็นไปได้ที่เขาจะลดท่าทียืนกรานของเขาลงมา “ถ้อยคำโวหารที่ประกาศออกมาในตอนนี้ยังคงแตกต่างไปจากในอดีต แต่ในความเป็นจริงแล้วในอดีตเขา (สม รังสี) ก็เคยประนีประนอมมาแล้ว” โอ วิรัค (Ou Virak) ประธานของศูนย์ชาวกัมพูชาเพื่อสิทธิมนุษยชน (Cambodian Centre for Human Rights) กล่าวให้ความเห็น

การประนีประนอมรอมชอมนั้นในตัวมันเองก็มีอันตรายดำรงอยู่เช่นกัน ดังที่พรรคฟุนซินเปกค้นพบว่า ภายหลังเข้าร่วมในรัฐบาลผสมกับพรรคประชาชนกัมพูชาหลังการเลือกตั้งในปี 1993, 1998, และ 2003 แล้ว การได้รับแบ่งสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งในรัฐบาลอื่นๆ ไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าพวกเขาจะมีอำนาจในทางปฏิบัติ อำนาจที่ได้รับจัดสรรแบ่งปันของพรรคฟุนซินเปกกลับหดลดถอยลงเรื่อยๆ ภายหลังการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และในเวลานี้พรรคการเมืองพรรคนี้อยู่ในสภาพตายซากแล้วในทางเป็นจริงหลังจากที่ประสบความล้มเหลวไม่ได้ชัยชนะเลยแม้แต่ที่นั่งเดียวในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ถ้าหากพรรคกู้ชาติกัมพูชาเข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับฮุนเซน ชัยชนะในการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านพรรคนี้อวดอ้าง ก็อาจจะตกอยู่ในสภาพถูกเจือปนด้วยเงินเก๊มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นเหรียญหมดราคาแบบเดียวกับที่พรรคฟุนซินเปกของพวกนิยมกษัตริย์เผชิญอยู่ ทั้งนี้เพราะแม้จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากระทรวงและประธานของสถาบันต่างๆ ทว่าก็จะเป็นหัวหน้าเพียงในนามเท่านั้น ขณะที่อำนาจแท้จริงๆ ยังคงตกอยู่ในมือของพรรคประชาชนกัมพูชา

“พรรคฝ่ายค้านพรรคนี้สมควรที่จะเรียนรู้บทเรียนบทนี้” แกม เลย์ (Kem Ley) นักวิเคราะห์การเมืองอิสระให้ทัศนะ “กระทั่งถ้าหากพวกเขาไดรับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงสาธารณสุข พวกเขาก็ยังจะไม่สามารถควบคุมโครงสร้างการบริหารของกระทรวงนั้นได้เลย”

เลย์เสนอแนะว่า พรรคกู้ชาติกัมพูชาควรที่จะหันมาทุ่มเทพลังงานของพวกเขาไปยังการเข้าครองตำแหน่งสำคัญๆ ในสมัชชาแห่งชาติให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ประธานหรือรองประธานสมัชชา ตลอดจนตำแหน่งระดับนำในคณะกรรมาธิการประจำของสมัชชาทั้ง 9 คณะ เพราะจากตำแหน่งเหล่านี้เองพวกเขาจะสามารถดำเนินการคัดค้านทัดทานพรรคประชาชนกัมพูชาได้อย่างมีชีวิตชีวา และเริ่มต้นผลักดันกระบวนการปฏิรูปจากภายในอย่างช้าๆ พรรคกู้ชาติกัมพูชายังจะสามารถต่อรองเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพวกสถาบันที่พรรคประชาชนกัมพูชาครอบงำอยู่ เป็นต้นว่า คณะกรรมการเลือกตั้งแห่งชาติ และคณะกรรมการรัฐธรรมนูญ (Constitutional Council) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างสนามแข่งขันซึ่งมีความเสมอภาคมากขึ้นสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปในปี 2018
ปัญหาท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับ สม รังสี จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการความคาดหวังของสาธารณชน เหมือนดังเช่นที่ อองซานซูจี ผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเผชิญอยู่ในพม่าในช่วงหลังๆ นี้ ความสามารถที่จะยกระดับความหวังของประชาชนนั้น ย่อมผูกติดมากับภาระอันหนักหน่วงสาหัสในการที่จะต้องพยายามตอบสนองให้ประชาชนผู้มีความคาดหวังขึ้นมาแล้วบังเกิดความพึงพอใจอีกด้วย สำหรับ สม รังสี และพรรคของเขาแล้ว การทำข้อตกลงกับพรรคประชาชนกัมพูชาด้วยท่าทีอ่อนปวกเปียก ย่อมเสี่ยงต่อการถูกโดดเดี่ยวแปลกแยกจากฐานสนับสนุนของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฐานเสียงที่เป็นพวกนักเคลื่อนไหวซึ่งยอมเสียสละความปลอดภัยส่วนตัวของพวกเขาเพื่อดำเนินการรณรงค์หาเสียงให้พรรคกู้ชาติกัมพูชา และมาถึงเวลานี้มีรายงานว่ากำลังเคลื่อนไหวผลักดันให้เลือกหนทางออกมาประท้วงคัดค้านตามท้องถนน

“พวกนักเคลื่อนไหวที่จำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ไม่จำเป็นว่าจะให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อ แกนม โสภา หรือ สม รังสี พวกเขาเพียงแค่ต้องการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น” วิรัค วิเคราะห์ “ถ้าพวกผู้นำของพวกเขาทรยศหักหลังพวกเขาแล้ว พวกเขาก็อาจจะไม่ฟังเสียงอะไรทั้งนั้น”

ไม่ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายต่อไปอย่างไร การเลือกตั้งในวันที่ 28 กรกฎาคมก็ต้องถือเป็นผลงานที่โดดเด่นน่าจับตาสำหรับกัมพูชา เฉกเช่นเดียวกับในปี 1993 ประชาชนกัมพูชาพากันหลั่งไหลออกมาและส่งเสียงอันเข้มแข็งดังกึกก้องว่าพวกเขาเลือกที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง ท่าทีอันไม่คาดหมายเช่นนี้สร้างความงุนงงสับสนให้แก่พรรครัฐบาลผู้ซึ่งคิดว่าพวกเขาได้สร้างสะพาน, ถนน, และโรงเรียนต่างๆ อย่างมากมายจนกระทั่งควรเป็นที่พึงพอใจของประชาชนผู้คับข้องใจและยากจนได้แล้ว

ในขณะที่ประเทศชาติกำลังย่างเข้าสู่โลกแห่งการเมืองใหม่อันห้าวหาญไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นนี้ พรรคฝ่ายค้านซึ่งยังคงปลาบปลื้มอยู่กับความสำเร็จที่ได้รับ ก็จักต้องโชว์การเริงระบำอันประณีตละเอียดอ่อน ถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะแปรผลการเลือกตั้งครั้งนี้ให้กลายเป็นการปฏิรูปที่แท้จริงและอำนาจในทางปฏิบัติขึ้นมา “การเมืองย่อมจะต้องเป็นการสร้างความสมดุลอันละเอียดอ่อนเสมอมา” วิรัค บอก “คราวนี้ก็ไม่ได้แตกต่างออกไปหรอก”

หมายเหตุผู้แปล

สำหรับสถานการณ์ในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ภายหลังจากที่ เซบาสเตียน สตรังจิโอ เผยแพร่ข้อเขียนชิ้นนี้นั้น สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของกัมพูชา ได้ออกมาแถลงในวันศุกร์ (9 ส.ค.) ว่า จะเลื่อนการประกาศผลการเลือกตั้งขั้นสุดท้ายของการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติออกไปก่อน ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถูกมองว่าอาจะเป็นความพยายามที่จะลดทอนความหวาดกลัวที่ว่าหลังการประกาศ ฝ่ายค้านจะออกมาประท้วงใหญ่ และจะมีการปราบปรามอย่างรุนแรงติดตามมา

คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกว่ามีกำหนดที่จะเผยแพร่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันเสาร์ (10 ส.ค.) แต่จะเลื่อนออกไปก่อนเพราะการสอบสวนของคณะกรรมการเองในเรื่องที่กล่าวหากันว่ามีความไม่ปกติในการเลือกตั้งนั้น ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้จะมีการยืนยันรับรองผลการเลือกตั้งสุดท้ายกันในอีก 4 วันถัดไป ถ้าหากไม่มีการคัดค้าน แต่ถ้ามีการยื่นคัดค้านอย่างเป็นทางการแล้ว ก็จะเลื่อนไปประกาศเอาในวันที่ 8 กันยายน

การเลื่อนประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้งคราวนี้ มีขึ้นภายหลังรัฐบาลยอมรับว่ากำลังเคลื่อนยานยนต์หุ้มเกราะและทหารเข้ามาในกรุงพนมเปญ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าหากการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ตามที่พรรคกู้ชาติกัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายค้านข่มขู่ที่จะจัดขึ้นมานั้น เกิดลุกลามบานปลายจนควบคุมไม่อยู่

ในวันศุกร์ (10 ส.ค.) ยังมีสัญญาอื่นๆ ในทางมุ่งสู่การประนีประนอมกันด้วย โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแถลงว่า กำลังจะพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาสอบสวนคำร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้ง และพรรคประชาชนกัมพูชา กับพรรคกู้ชาติกัมพูชา ซึ่งเป็นสองพรรคที่กำลังเผชิญหน้ากันอยู่ ได้ตกลงในหลักการที่จะยอมรับการตั้งคณะกรรมการเช่นนี้แล้ว
(ดูรายละเอียดได้ที่ http://abcnews.go.com/International/wireStory/cambodia-postpones-release-election-results-19912930)

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น