เอเจนซีส์ - คาดผู้นำของเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาสูงสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงภายในวันอังคาร (15 ต.ค.) เพื่อปูทางให้หน่วยงานรัฐบาลกลางเปิดทำการอีกครั้ง และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่จะบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของอเมริกา รวมทั้งเขย่าเศรษฐกิจโลก
บรรดาผู้ช่วยในรัฐสภาสหรัฐฯแสดงการคาดหมายกับผู้สื่อข่าวในวันจันทร์ (14) ว่า ส.ว. แฮร์รี รีด ของพรรคเดโมแครต ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา และ ส.ว. มิตช์ แมคคอนเนลล์ ของพรรครีพับลิกัน ที่เป็นผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาเดียวกัน จะบรรลุข้อตกลงกันได้ในวันอังคาร หรือเพียง 2 วันก่อนวันพฤหัสบดี (17) อันเป็นเส้นตายซึ่งกระทรวงคลังสหรัฐฯระบุว่าหากรัฐสภายังไม่อนุมัติให้ขยายเพดานการก่อหนี้ รัฐบาลก็จะไม่สามารถกู้ยืมเงินได้แล้ว
ภายใต้ข้อเสนอที่เจรจาต่อรองกันและน่าจะตกลงกันได้ดังกล่าวนี้ พวกหน่วยงานรัฐบาลกลางซึ่งต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ที่ผ่านมาจะได้รับงบประมาณใช้จ่ายเพียงพอที่จะเปิดดำเนินการอีกครั้งไปถึงวันที่ 15 มกราคมปีหน้า ขณะที่จะมีการเพิ่มเพดานก่อหนี้ เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกู้ยืมเงินได้ตามปกติจนถึงวันที่ 7 ก.พ. ดังนั้นจึงจะเป็นการยุติวิกฤตการคลัง 2 เรื่องซ้อนกัน ซึ่งกำลังทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อสหรัฐฯ และก็กระชากคะแนนนิยมของรีพับลิกันให้ต่ำเรี่ยดิน
ข้อเสนอนี้ยังกำหนดให้เริ่มการเจรจาว่าด้วยการแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณในระยะยาวอย่างเป็นทางการระหว่างสภาสูงและสภาล่าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ โดยที่การแก้ไขเช่นนี้จะมีเป้าหมายประการหนึ่งว่าจะผ่อนคลายมาตรการลดการใช้จ่ายแบบเหมารวมอัตโนมัติ (ซีเควสเตอร์) ทั้งนี้ซีเควสเตอร์เริ่มต้นในเดือนมีนาคมปีนี้ และจะขยายผลเพิ่มขึ้นอีกในเดือนมีนาคมปีหน้า โดยจะมีการตัดงบกลาโหมเพิ่มอีก 20,000 ล้านดอลลาร์
วุฒิสมาชิกของรีพับลิกันมีกำหนดนัดหมายประชุมกันในตอนเที่ยงวันอังคาร เพื่อทบทวนแผนการที่กำลังออกมาจากการเจรจากันระหว่าง รีด กับ แมคคอนเนลล์ โดยที่ รีด กล่าวในตอนสรุปก่อนปิดการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันจันทร์ (14) ว่า เขามองการณ์ในแง่ดีเป็นอย่างมากว่าจะสามารถทำความตกลงที่สมเหตุสมผลกันได้ในสัปดาห์นี้ “เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่มีความคืบหน้าไปอย่างน่าตื่นตะลึง” เขาบอก ขณะที่แมคคอนเนนล์ ก็กล่าวว่า เขาก็ร่วมมองการณ์ในแง่ดีนี้เช่นเดียวกัน
จากท่าทีของพวกผู้นำในวุฒิสภาเช่นนี้ ได้หนุนหนุนให้ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นอีก 64 จุดในวันจันทร์ (14) และดันตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียขยับขึ้นตามในวันอังคาร
อย่างไรก็ดี ยังคงมีความวิตกกันว่า การขยายเพดานหนี้ชั่วคราวตามที่ประนีประนอมกันนี้ จะสามารถออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ทันกำหนดเส้นตายหรือไม่ เพราะวุฒิสมาชิกอนุรักษนิยมสุดโต่ง “ทีปาร์ตี้” ของรีพับลิกันบางคน อาจใช้ยุทธวิธีดังเช่นการอภิปรายลากยาวข้ามวันข้ามคืน มาถ่วงเวลาการลงมติอนุมัติ หรือกระทั่งว่าร่างกฎหมายผ่านสภาสูงไปแล้ว ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถผ่านสภาล่างซึ่งพรรครีพับลิกันควบคุมอยู่ไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ พวกอนุรักษนิยมรีพับลิกินมีอิทธิพลสูงในสภาล่างยิ่งกว่าในสภาสูงเสียอีก และถ้าสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างที่มีข้อความผิดเพี้ยนไปจากร่างของวุฒิสภาแล้ว ทั้งสองสภาก็ต้องมาตกลงกันเพื่อให้เป็นกฎหมายหนึ่งเดียว ซึ่งย่อมต้องใช้เวลามากขึ้นอีก
แผนการที่รีดและแมคคอนเนลล์ร่วมกันพิจารณาอยู่นั้น ไม่มีเงื่อนไขในการยกเลิกการจัดเก็บภาษีอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในกฎหมายปฏิรูประบบสาธารณสุขของโอบามา หรือ “โอบามาแคร์” และทางโอบามากับเดโมแครตประกาศจะไม่ยอมอ่อนข้อให้
ความที่คะแนนนิยมของรีพับลิกันกำลังทรุดดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชาชนไม่พอใจและกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ กับการปิดหน่วยงานรัฐบาลที่ล่วงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ด้วยเหตุนี้สมาชิกรัฐสภารีพับลิกันจึงกระตือรือร้นที่จะยุติวิกฤตชัตดาวน์และหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาล และนี่จึงทำให้เกิดการมองการณ์ในแง่ดีว่า ร่างกฎหมายที่เกิดจากการตกลงกันของ รีดและแมคคอนเนลล์ มีโอกาสสูงที่ผ่านออกมาประกาศบังคับใช้
ทั้งนี้ โพลล์จากวอชิงตัน โพสต์/เอบีซีที่ออกมาเมื่อวันจันทร์พบว่า ชาวอเมริกัน 74% คัดค้านวิธีการในการเผชิญหน้าของรีพับลิกันในสภา เทียบกับ 53% ที่ไม่เห็นด้วยกับเทคนิคการต่อสู้รับมือของโอบามา
ขณะเดียวกัน ทั่วโลกกำลังติดตามสถานการณ์ในวอชิงตันอย่างใจจดใจจ่อ จีนและญี่ปุ่นที่ถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯ รวมกันกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ เรียกร้องให้อเมริกาเร่งคลี่คลายวิกฤต
หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกดดันว่า อเมริกาควรแสดงความรับผิดชอบในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนรัฐมนตรีคลัง ทาโร อาโสะ ของญี่ปุ่น ก็เรียกร้องให้พวกนักการเมืองสหรัฐฯตื่นได้แล้ว
“พวกเขาจำนวนมากดูเหมือนยังไม่เข้าใจเลยเกี่ยวกับขนาดขอบเขตของผลกระทบต่อนานาชาติซึ่งปัญหานี้จะก่อให้เกิดขึ้น” อาโสะบอกกับผู้สื่อข่าว
ทางด้าน คริสเตียง นัวเยร์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติฝรั่งเศส ขานรับว่า หากวอชิงตันไม่สามารถหาทางออกได้ จะเกิดผลลบร้ายแรงตามมา