เอเจนซีส์ - 10 ปีมานี้ในญี่ปุ่นมีค่านิยมที่เป็นปัญหาสังคมระบาดในกลุ่มคนสูงอายุที่มีจำนวนประชากรมากถึง 1 ใน4ของจำนวนประชากรชาวญี่ปุ่นทั้งหมด 128 ล้านคนในแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ประชากรญี่ปุ่นอายุมากกว่า 65 ปี มีสัดส่วนประกอบอาชญากรรมลักทรัพย์ตามร้านค้ามากกว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นอายุ 14-19
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึง ฟูมิโอ คาเกยามา วัย 67 ปี ถูกจับในข้อหาลักทรัพย์จากร้านค้า ซึ่งมันเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2008 เมื่อเขาถูกจับเพราะพยายามชิงทรัพย์จากผู้โดยสารรถไฟใต้ดินที่เมาแต่ไม่สำเร็จ 2 ปี ก่อนหน้าที่เขาจะโดนจับในข้อหาขโมยชุดเบ็นโตะข้าวผัดหมู คาเกยามาได้รับการลงโทษในห้องขังเป็นเวลากว่า 2 ปี ในเรือนจำ และดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้รับบทเรียนในครั้งนี้ อีกครั้งในปี 2011 คาเกยามาถูกจับในข้อหาขโมยแซนด์วิชฮอทดอกและผัดหมี่
จากสถิติในปี 2012 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวที่ถูกจับในข้อหาลักทรัพย์พุ่งขึ้นสูง 28,673 คน ในขณะที่จำนวนกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ประกอบอาชญากรรมในรูปแบบเดียวกันนั้นอยู่ที่ 19,465 คน ซึ่งสำนักข่าวเกียวโดได้รายงานว่า ของกว่า 70% ที่ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นฉกฉวยมาเป็นอาหาร หรือของที่ทานได้ เช่นอาหารชุดเบ็นโตะ ข้าวปั้น ซัสชิมิ ปลาไหลย่าง สาเก ขนม เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีของ คาเกยามา
ทางด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากบริษัทเซ็นกากุ ซีคิวริตี้ การ์ด ในกรุงโตเกียว ยูจิ โอซากิ เผยว่า ตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่ามาก เพราะมีหลายรายที่ไม่ได้แจ้งความไว้
คาเกยามา ที่เคยทำงานก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ซึ่งโปรเจคที่เขามีส่วนร่วมนั้นรวมถึง ห้างสรรพสินค้าทาคาชิมาซึ่งตั้งอยู่ในชินจูกุ ได้เปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า “มันไม่ดีเลยที่ถูกจับ แต่ผมไม่สนอะไรทั้งนั้น ผมไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อนในตอนที่ผมยังมีงานอยู่ เพราะผมไม่อยากให้ใครเดือดร้อน”
อาชญากรรมในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อ 10 ปี มานี้ และช่วงอายุของกลุ่มที่ลักทรัพย์ตามห้างนั้นกลายเป็น 65ปี ขึ้นไป แทนที่กลุ่มวัยรุ่นในช่วง 14-19 ในอดีต
และจากการที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นมีแผนที่จะตัดงบเงินสวัสดิการบำนาญในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เพื่อลดหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมียอดชาวญี่ปุ่นที่เกษียณเพิ่มขึ้นอีก 4.5 ล้าน คน ปัญหาอาชญากรเป็นปัญหาหนึ่งที่พบในกลุ่มผู้สูงอายุ นอกจาก ปัญหาสวัสดิการบำนาญ การได้รับการดูแลสุขภาพ (nursing care) และปัญหาสวัสดิการอื่นที่ทวีคูณมากขึ้น โดยที่รัฐบาลอาเบะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร โคอิจิ ฮาจิ นักวิจัยประจำสถาบัน NIL ที่กรุงโตเกียว และตัวแทนจากนิปปอน ไลฟ์ อินชัวแรนซ์ บริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น เผย
นอกจากนี้ การที่ผู้สูงอายุญี่ปุ่นเริ่มต้นขโมยของเล็กๆน้อยๆ อาจจะไม่ใช่เพราะความหิวเสมอไป แต่เป็นเพราะรู้สึกเหงาและถูกทำให้โดดเดี่ยว ยูซุกะ อาชิกาว่า ผู้ช่วยพิเศษผุ้อำนวยการแผนกคุมประพฤติสังกัดกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น เผย จากสถิติพบว่า ภายในปี 2030 จะมีกลุ่มผู้สูงวัยในญี่ปุ่นที่ต้องใช้ชีวิตตามลำพังเพิ่มขึ้น 54% หรือ 7.2 ล้านคน ในขณะที่ปี 2010 มียอดอยู่ที่ 4.7 ล้านค้น อ้างจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยทางด้านประชากรศาสตร์และสวัสดิการสังคม