เอเอฟพี - รัฐบาลญี่ปุ่นออกคำสั่งดำเนินการเฉียบขาดในวันพุธ (6 พ.ย.) หลังโรงแรมและภัตตาคาร กระทั่งห้างดังทั่วประเทศทยอยออกมายอมรับว่า ติดฉลากอาหารหลอกลวงผู้บริโภคมาหลายปีว่าใช้ของดี ทั้งที่ความจริงใช้ส่วนผสมเกรดพื้นๆ หวั่นข่าวฉาวนี้บ่อนทำลายชื่อเสียงของประเทศในเรื่องผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ปลอดภัยไว้วางใจได้
คำสั่งนี้มีขึ้นขณะที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำหลายแห่งกลายเป็นบริษัทแดนปลาดิบระลอกล่าสุดที่ออกมายอมรับว่า ขายอาหารที่ติดฉลากแอบอ้างว่า ใช้ส่วนผสมคุณภาพสูงราคาแพง
โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกล่าวระหว่างแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันพุธ (6) ว่า นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก เนื่องจากบ่อนทำลายความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างรุนแรง และประกาศว่า สำนักงานกิจการผู้บริโภคจะดำเนินการอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายปราบปรามการเผยแพร่ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
คำแถลงของซูกะ ผู้ช่วยมือขวาของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มีขึ้นหลังจากที่ “ทาคาชิมายะ” เชนห้างสรรพสินค้าหรูยอมรับว่า ติดฉลากแอบอ้างบนผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายว่าใช้กุ้งราคาแพง หรือใช้น้ำส้มคั้นสด ทั้งที่ความจริงใช้ส่วนผสมเกรดต่ำกว่าราคาคุยมานานหลายปี
ตัวอย่างเช่น การใช้กุ้งกุลาดำยักษ์ มาผลิต เทอร์รีน “กุ้งกุลาดำญี่ปุ่น” ภายใต้แบรนด์โฟชอง ซึ่งเป็นแบรนด์หรูจากฝรั่งเศส
กุ้งกุลาดำญี่ปุ่นนั้นถือเป็นกุ้งเกรดเอที่สามารถตั้งราคาสูงได้ในญี่ปุ่นซึ่งโปรดปรานอาหารทะเลอย่างยิ่ง ขณะที่กุ้งกุลาดำยักษ์หาซื้อได้ง่ายกว่าและราคาถูกกว่า
ทาคาชิมายะยืนยันว่า ฉลากสินค้าหลายอย่างที่มีข้อความเท็จนั้นเป็นความผิดพลาดโดยสุจริต และแถลงขอโทษเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยที่ก่อนหน้านี้ ก็มีโรงแรมหรูหลายแห่งที่ออกมายอมรับว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเสิร์ฟอาหารที่อวดอ้างความเท็จว่าใช้ส่วนผสมคุณภาพสูง
ทางด้านหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุง วิจารณ์บนหน้า 1 ว่า ไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ธุรกิจเหล่านี้หลอกลวงผู้บริโภคด้วยการทำเหมือนว่าผลิตภัณฑ์ของตนหรูหรากว่าความเป็นจริง อาซาฮียังเรียกร้องให้ทางการออกกฎที่เข้มงวดขึ้น
โรงแรมใหญ่หลายแห่งซึ่งรวมถึงฮังเคียว ฮังชิน โฮเต็ลส์ ที่ดำเนินกิจการโรงแรมริตซ์ คาร์ลตัน ในเมืองโอซากา ยอมรับว่า ภัตตาคารในโรงแรมติดฉลากอาหารที่เป็นเท็จบนเมนู อาทิ ใช้กุ้งราคาถูกทั้งที่อวดอ้างในเมนูว่าเป็นกุ้งชั้นดีราคาแพง
โตคิว โฮเต็ลส์ที่ดำเนินการโรงแรม 45 แห่ง ยอมรับเช่นเดียวกันว่า ภัตตาคาร 22 แห่ง รวมทั้งบริษัทจัดเลี้ยง 7 แห่งของบริษัท ติดฉลากอาหารเท็จ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับกุ้งและสเต็ก
โฮเต็ล นิว โอตานิ คูมาโมโตะ เผยว่า ใช้กุ้งและเนื้อราคาถูก แต่โกหกลูกค้าว่า เป็นกุ้งและเนื้อชั้นดี
โรงแรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม (เรียวกัง) ในเมืองนารา เผยว่า ใช้เนื้อออสเตรเลีย แต่ติดป้ายว่าเป็นเนื้อ “วากิว” ซึ่งเป็นเนื้อเกรดเอของญี่ปุ่น
อาหารญี่ปุ่นสั่งสมชื่อเสียงไปทั่วโลกว่า มีทั้งคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พรีเมียมสามารถตั้งราคาสูงมากทั้งในและนอกประเทศ
ที่ผ่านมา พวกผู้บริโภคชาวจีนต่างชื่นชอบอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นมากกว่าอาหารที่ผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกรณีอื้อฉาวการปลอมปนอาหารหลายครั้งหลายหน ซึ่งรวมถึงเรื่องการเติมสารเคมีอุตสาหกรรมในนมผงสำเร็จรูปที่ทำให้มีทารกเสียชีวิต
กระนั้น ก่อนหน้านี้ ภายหลังเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ ซึ่งทำให้รังสีรั่วไหลปกคลุมพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนของญี่ปุ่น ก็ได้ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกปฏิเสธสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่นเนื่องจากกลัวว่าจะมีการปนเปื้อนรังสี