xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดเกิดใหม่เจอลูกหลง ศก.ขาลง ชนชั้นกลางลุกต้านรัฐไร้น้ำยา-ขี้ฉ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – งบประมาณตึงตัวและภาวะการเติบโตชะงักงัน กำลังทำให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ทั้งหลายเผชิญความกดดันจากชนชั้นกลางที่มีพลังมากขึ้นและต้องการให้ทางการเพิ่มการใช้จ่ายและปรับปรุงบริการสาธารณะ ถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลที่สร้างความชอบธรรมจากการเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจเผชิญมรสุมหนักเมื่อไม่สามารถผลักดันการเติบโตน่าทึ่งได้อีกต่อไป และไม่วางแผนลงทุนอย่างชาญฉลาดในช่วงที่เศรษฐกิจบูม หรือทุจริตคอร์รัปชันหนักข้อ

รายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่ายุคสภาพคล่องเหลือเฟือทั่วโลกที่นำไปสู่การเติบโตเร็วที่สุดในช่วง 3 ทศวรรษมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยช่วง 8 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบข้อมูลว่า มีนักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากพันธบัตรและหุ้นกู้ในตลาดเกิดใหม่เบ็ดเสร็จกว่า 40,300 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางสัญญาณว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเริ่มลดการใช้แผนกระตุ้น หรือ “คิวอี” ปลายปีนี้

อันที่จริงแผนการของเฟดไม่ได้เป็นต้นเหตุหลัก โดยหลังจากหนึ่งทศวรรษแห่งความมั่งคั่ง เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ต่างเริ่มชะลอลงตั้งแต่ปี 2010

โฮเซ อังเฆล กูร์เรีย เตรบินโญ เลขาธิการใหญ่ชาวเม็กซิกัน ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และอดีตขุนคลังแดนจังโก้ชี้ว่า ในช่วงขาลง ประเทศกำลังพัฒนาทุ่มเทผลักดันเศรษฐกิจมากกว่าชาติยุโรป เนื่องจากต้องพึ่งพิงการเติบโตเพื่อบรรเทาความตึงเครียดทางสังคม

ด้านโนมูระ อินเตอร์เนชันแนล เสริมว่า กว่า 10 ประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย และรัสเซีย รวมทั้งประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอาร์เจนตินา และเวเนซุเอลา ต่างเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายที่ขับเคลื่อนจากตลาดในระยะสั้นและกลาง โดยอ้างอิงการประท้วงที่ระเบิดขึ้นอย่าง “น่าประหลาดใจ” ในบราซิล และตุรกี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่พอใจของชนชั้นกลางต่อการทุจริตที่ระบาดหนักขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อลาสแตร์ นิวตัน นักวิเคราะห์การเมืองของโนมูระในลอนดอนที่จัดทำรายงานฉบับนี้ เสริมว่า ภาครัฐยังมีความสามารถในการปลดชนวนความตึงเครียดทางสังคมที่ซ่อนอยู่ จากการสร้างสมสถานะทางการคลังนับจากวิกฤตระลอกล่าสุดในตลาดเกิดใหม่ที่โค่นล้มรัฐบาลตั้งแต่อินโดนีเซีย จนถึงอาร์เจนตินา ปลายทศวรรษ 1990

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐต้องรักษาสมดุลระหว่างการชุมนุมบนท้องถนนกับวินัยที่ตลาดเรียกร้องในบรรยากาศการเติบโตชะลอลงและงบประมาณตึงตัว

ต้นเดือนนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกติดต่อกันเป็นครั้งที่ 5 โดยระบุปัจจัยคือ การชะลอตัวของจีนและความเสี่ยงเงินทุนไหลออก ในส่วนประเทศกำลังพัฒนานั้นถูกคาดหมายว่า จะมีอัตราเติบโต 5% ในปีนี้ ลดลงจาก 5.3% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน และ 6.6% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตตลอดทศวรรษที่แล้ว

หลังจากนั้นไม่กี่วัน หลู จี้เว่ย รัฐมนตรีคลังจีน ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลคาดไว้ที่ 7.5% แต่น่าเชื่อได้ว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 7% และในอนาคต จีนอาจยอมให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 6.5%

ประเทศที่รับรู้ถึงความกดดันแล้ว คืออินโดนีเซีย โดยในเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน เพิกเฉยต่อการประท้วงและสั่งลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง มีผลให้ราคาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 44% และรื้อฟื้นความทรงจำถึงการใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่นำไปสู่การประท้วงรุนแรงและการโค่นล้มระบอบซูฮาร์โต ที่กุมอำนาจนาน 3 ทศวรรษในปี 1998

15 ปีผ่านมาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่ถูกคาดหมายว่าจะยังคงโตถึง 6% ในปีนี้ ปฏิกิริยาในแดนอิเหนาจึงไม่รุนแรงนัก แม้นักลงทุนเทขายจนเงินรูเปียห์เฉียดสถิติต่ำสุดในรอบ 4 ปีก็ตาม

บราซิลเป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของจีน และกำลังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกำราบเงินเฟ้อซึ่งอาจบั่นทอนการเติบโต

ภายหลังการประท้วงที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ในแดนแซมบ้า ประธานาธิบดีหญิงดิลมา รุสเซฟฟ์ ประกาศควบคุมการใช้จ่าย แม้รับปากจัดการกับข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงที่ต้องการโรงเรียน โรงพยาบาล และระบบขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น รวมทั้งเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินทุนที่ใช้มาเป็นปีที่ 5 เพื่อปกป้องเศรษฐกิจใหญ่สุดในละตินอเมริกาจาก “สงครามค่าเงิน” ที่ชาติมั่งคั่งก่อขึ้น

ขณะเดียวกัน ปราวิน กอร์แดน รัฐมนตรีคลังแอฟริกาใต้ชี้ว่า การขยายตัวของชนชั้นกลางที่ธนาคารโลกจำกัดความว่าหมายถึง คนที่มีรายได้วันละ 10 ดอลลาร์ขึ้นไป กำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปทรงทางการเมืองทั่วโลก กล่าวคือก่อให้เกิดความโกรธแค้นที่คนบางกลุ่มได้ดิบได้ดีกับกระบวนการเติบโต ขณะที่คนกลุ่มอื่นพลาดโอกาส

เช่นเดียวกับ จอร์จ ฟรายด์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบายและความเสี่ยง สแตรทฟอร์ เตือนว่า รัฐบาลที่สร้างความชอบธรรมจากการเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจเผชิญมรสุมหนักเมื่อไม่สามารถผลักดันการเติบโตน่าทึ่งได้อีกต่อไป

ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิป แอร์โดกัน แห่งตุรกี โทษว่ามีการปลุกปั่นให้ประชาชนประท้วงแผนของรัฐบาลในการสร้างชอปปิงมอลล์ในสวนสาธารณะในนครอิสตันบูล และขณะนี้เครือข่ายสังคมกำลังยั่วยุสถานการณ์ในบราซิล

รูเชียร์ ชาร์มา ผู้จัดการกองทุนของมอร์แกน สแตนลีย์ แมเนจเมนท์ ในนิวยอร์ก ทิ้งท้ายว่า หากความวุ่นวายลุกลามทั่วโลก ผู้นำที่ครองอำนาจยาวนาน อาทิ วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย, มานโมฮัน ซิงห์ ของอินเดีย อาจหลุดจากตำแหน่ง หรือได้รับการสนับสนุนน้อยลง และผู้นำปัจจุบันที่ได้อานิสงส์จากการเติบโตอาจเผชิญการแก้แค้นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากไม่ลงทุนอย่างชาญฉลาดในช่วงที่เศรษฐกิจบูม
กำลังโหลดความคิดเห็น