xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-อียู’เริ่มเจรจาทำข้อตกลงสำคัญทางการค้า

เผยแพร่:   โดย: รอน ซีโนวิตซ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US starts EU trade talks
By Ron Synovitz
09/07/2013

สหรัฐอเมริกา กับ สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มต้นเปิดการเจรจาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะจัดทำข้อตกลงสำคัญทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งอาจจะส่งเสริมเพิ่มพูนผลผลิตทางเศรษฐกิจของพวกเขาได้ถึงปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บรรดากิจการยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น แอร์บัส, โบอิ้ง, ไปจนถึง กูเกิล, และพวกบริษัทเหล็กกล้าอเมริกัน ต่างกำลังพยายามวิ่งเต้นล็อบบี้เพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่า เสียงเรียกร้องของพวกเขาจะเป็นที่รับฟังให้ความสำคัญ

วอชิงตัน กับ บรัสเซลส์ เริ่มต้นเปิดการเจรจาหารือจัดทำข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนฉบับใหม่ในวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมเพิ่มพูนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของข้อตกลงที่กำลังพยายามจัดทำกันอยู่ฉบับนี้ ทาง เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) จึงขอนำเสนอข้อเขียนที่อยู่ในรูปแบบคำถาม-คำตอบ ดังต่อไปนี้:

ข้อตกลงที่กำลังเจรจากันอยู่ฉบับนี้ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ความตกลงเพื่อความเป็นหุ้นส่วนด้านการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership pact) คืออะไรกันแน่?

โดยเนื้อหาสาระแล้ว มันคือความพยายามของวอชิงตันและบรัสเซลส์ที่จะเดินหน้าไปให้ไกลยิ่งกว่าข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งเคยทำๆ กันมาในอดีตซึ่งมุ่งเน้นรวมศูนย์อยู่ที่เรื่องอัตราภาษีศุลกากร โดยที่ในคราวนี้จะหันมาพิจารณาประยุกต์ระบบการค้าให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาต่างๆ ทางการผลิตแบบสมัยใหม่ เนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรในการค้าระหว่างสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเวลานี้ เกือบทั้งหมดเลยอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงฉบับก่อนๆ ที่ทำกันเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่คาดหมายกันว่าการเจรจาในคราวนี้จะโฟกัสให้มากขึ้นที่เรื่องกำแพงกีดกันการค้าต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นมาจากกฎระเบียบข้อบังคับที่แตกต่างกันภายในสหรัฐฯและภายในสหภาพยุโรป

“กฎเกณฑ์พื้นฐานต่างๆ ของระบบการค้าโลกในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดขึ้นมาโดยองค์การการค้าโลก รวมทั้งพวกวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่ดำเนินกันอยู่ในนครเจนีวา (ที่ตั้งขององค์การการค้าโลก) กฎเกณฑ์เหล่านี้วิวัฒนาการมาจากระบบเศรษฐกิจในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานอยู่ที่สินค้าชนิดที่เป็นตัวสินค้าจริงๆ (goods) และการผลิตทางอุตสาหกรรม” โจเซฟ ฟรังซัวส์ (Joseph Francois) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโจฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler University) ของออสเตรีย อธิบายแจกแจง “กฎเกณฑ์พื้นฐานเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมุ่งเน้นหนักไปที่เรื่องอัตราภาษีศุลกากรและหลักประกันในการเข้าถึงตลาด ตลอดจนความโปร่งใสและการปราศจากการแบ่งแยกกีดกัน ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุด ก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรอยู่นั่นเอง ทว่านับตั้งแต่นั้นมา เศรษฐกิจโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาล ปัจจุบัน บริการต่างๆ กำลังกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าตัวสินค้า และการที่วิสาหกิจต่างๆ จะสามารถดำเนินการข้ามพรมแดนกันได้อย่างไรก็กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องอัตราภาษีศุลกากร ด้วยเหตุนี้ (การเจรจากัน) ในรูปแบบเช่นนี้ ในแง่หนึ่ง จึงเท่ากับเป็นความพยายามที่จะทดสอบ ที่จะเสาะแสวงหาหนทางในการทำให้ระบบการค้ามีความทันสมัยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง”

ข้อตกลงที่เจรจากันอยู่นี้จะให้ประโยชน์อะไรบ้างแก่สหรัฐฯและพวกประเทศอียู?

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น จากการลดกำแพงกีดกันทางด้านกฎระเบียบข้อบังคับในระหว่างสหรัฐฯกับอียู ตลอดจนจากการลดค่าใช้จ่ายทางด้านนี้ มีมูลค่าสูงมากทีเดียว เนื่องจากพวกเขาเป็นเจ้าของส่วนแบ่งก้อนมหึมาของการค้าโลก และของผลผลิตทางเศรษฐกิจของโลก

ข้อตกลงที่เสนอกันในคราวนี้จะกลายเป็นข้อตกลงทางด้านการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทีเดียว โดยที่จะครอบคลุมผลผลิตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกถึงประมาณ 50%, ครอบคลุมการค้าโลกราว 30%, และครอบคลุมการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ในทั่วโลกราว 20% เมื่อปี 2012 นั้น การค้าสองทางระหว่างสหรัฐฯกับอียูมีมูลค่าทั้งสิ้นมากกว่า 646,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การศึกษาชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดย ศูนย์เพื่อการวิจัยนโยบายทางเศรษฐกิจ (Centre for Economic Policy Research) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน โดยที่มีบรัสเซลส์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และกำกับดูแลโดย ฟรังซัวส์ ประมาณการเอาไว้ว่าข้อตกลงฉบับนี้สามารถส่งเสริมเพิ่มพูนผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและอียูได้ถึงปีละกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ และน่าที่จะลดอัตราการว่างงานทั้งในสหรัฐฯและในอียูลงได้ เนื่องจากการลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้น และจะมีความต้องการว่าจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ข้อตกลงฉบับนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อพวกประเทศที่สาม อย่างเช่น รัสเซียและจีน ตลอดจนพวกเพื่อนบ้านอื่นๆ ในฝ่ายตะวันออกของอียู?

ผลกระทบที่มีต่อบรรดาประเทศที่สามนั้นจะยังคงไม่มีความชัดเจน จนกว่าจะมีการตกลงกันในเรื่องรายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงฉบับนี้แล้ว

ตามความเห็นของฟรังซัวส์ ถ้าหากสหรัฐฯและอียูสามารถยอมรับกฎระเบียบข้อบังคับของกันและกัน หรือสามารถจัดทำชุดกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานร่วมกันขึ้นมา ซึ่งพวกประเทศที่สามก็สามารถเดินตามได้ด้วยแล้ว ในทางเป็นจริงมันก็น่าจะกลายเป็นการลดทอนกำแพงกีดกันทางกฎระเบียบในระหว่างสหรัฐฯ, อียู, แล้วก็ประเทศอื่นๆ ไปด้วยนั่นเอง

“จริงๆ แล้วมันจะขึ้นอยู่กับว่า สหรัฐฯกับอียูใช้วิธีไหนในการแก้ไขความแตกต่างทางด้านกฎระเบียบข้อบังคับ และหลังจากนั้นแล้ว มีช่องทางหรือไม่ที่จะให้ประเทศอื่นๆ เข้าใช้ประโยชน์จากการทำงานอย่างหนักของทั้งสองฝ่ายนี้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ยอมรับร่วมกันขึ้นมา หรือว่ามาตรฐานร่วมกันที่ออกมานั้นจะเป็นอย่างไร” เขากล่าว “ดังนั้น ถ้าหากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกมาได้อย่างทะมัดทะแมงหนักแน่น ก็มีความเป็นไปอย่างแท้จริงที่มันจะให้ประโยชน์แก่พวกประเทศที่สามด้วย”

พอจะลองยกตัวอย่างได้ไหมว่า ในการเจรจากันนี้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญๆ อะไรกันบ้าง?

คณะผู้เจรจาจะแยกกันออกเป็นกลุ่มต่างๆ 15 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะเจรจาหารือกันในประเด็นซึ่งแตกต่างกัน เป็นต้นว่า การเข้าถึงตลาดภาคการเกษตร, อี-คอมเมิร์ซ, การลงทุน, และนโยบายในด้านการแข่งขัน

พวกบริษัทของสหรัฐฯอย่างเช่น กูเกิล และ เฟซบุ๊ก ต้องการให้บรัสเซลส์ลดกฎเกณฑ์ในเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูล ซึ่งเป็นตัวการทำให้บริษัทเหล่านี้เสียเปรียบในตลาดอียูในเรื่องการให้บริการต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต แต่เป้าหมายดังกล่าวนี้กำลังเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นจากที่มีการเปิดเผยกันว่า สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (US National Security Agency) ใช้ข้อมูลลูกค้าซึ่งได้รับจากพวกบริษัทอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก เพื่อการระบุแยกแยะสืบสาวถึงภัยคุกคามต่อสหรัฐฯที่อาจเกิดขึ้นจากพวกผู้ก่อการร้าย

นอกจากนั้นวอชิงตันยังต้องการให้อียูผ่อนคลายกฎระเบียบข้อบังคับของฝ่ายยุโรปว่าด้วยเรื่องพืชผลที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) แต่เรื่องนี้อาจจะไม่เป็นที่นิยมชมชอบในทางการเมืองสำหรับพวกผู้ออกเสียงชาวยุโรป

สำหรับบรัสเซลส์นั้นต้องการให้สหรัฐฯเสนอข้อยกเว้นต่างๆ ในเงื่อนไขข้อกำหนดเรื่อง “ซื้อของอเมริกัน” (Buy American) ในการดำเนินโครงการด้านงานโยธาของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า ทางหลวง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เกี่ยวกับสนามบิน ทว่าจุดยืนเช่นนี้ถูกคัดค้านหนักโดยนักล็อบบี้ทรงอำนาจของสหรัฐฯซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ

ในเวลาเดียวกัน ข้อพิพาททางการค้าระหว่าง โบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐฯ กับ แอร์บัส คู่แข่งสำคัญจากอียู เวลานี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาขององค์การการค้าโลก ประเด็นนี้ก็มีความเป็นไปได้ทีเดียวที่จะส่งผลทำให้การเจรจาต้องถอยหลังกรูด

การเจรจาทำข้อตกลงนี้คาดกันไว้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะเสร็จสิ้น?

พวกเจ้าหน้าที่เจรจาของสหรัฐฯและยุโรปบอกว่า พวกเขาปรารถนาที่จะทำข้อตกลงกันให้ได้ก่อนที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission องค์กรบริหารของสหภาพยุโรป) ชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงในตอนสิ้นปี 2014

แต่พวกนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากตลอดจนผู้สังเกตการณ์อื่นๆ บอกว่ามีประเด็นปัญหาหลายประเด็นที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก และคงยากที่จะแก้ไขได้สำเร็จก่อนปี 2015 ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็จะเกิดความเป็นไปได้ที่ว่า ความคืบหน้าในการเจรจาใดๆ ในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้านี้ อาจจะต้องถอยหลังกลับมาอีกเมื่อคณะผู้เจรจาชุดใหม่ของยุโรป (จากการแต่งตั้งของคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่) เข้ามาทำหน้าที่แทนชุดเก่า เรื่องนี้อาจทำให้ข้อตกลงฉบับนี้ต้องมีอันเลื่อนช้าออกไปเช่นกัน

รายงานนี้มาจากเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น