xs
xsm
sm
md
lg

เบอร์นันกีเปิดช่องพลิกแพลงQEย้ำไม่มีแผนขึ้นด/บ.จนถึงปี2015

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ประธาน “เบอร์นันกี” คลายกังวลตลาด แจง “เฟด” ยังเล็งลดการซื้อพันธบัตรตั้งแต่ปลายปีนี้ แต่เปิดช่องสำหรับการพลิกแพลงกลยุทธ์ หากแนวโน้มเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาด รวมทั้งยังไม่มีแผนขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงปี 2015 ย้ำแม้มีการฟื้นตัวในระดับพอประมาณ แต่เศรษฐกิจอเมริกันยังอาจได้รับผลกระทบเกินความคาดหมายจากมาตรการขึ้นภาษีและลดงบประมาณรายจ่ายของวอชิงตัน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในประเทศอื่นๆ

“โครงการซื้อพันธบัตรของเราอิงกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงิน แต่ไม่ใช่เงื่อนไขที่กำหนดล่วงหน้า” เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการทางการเงินสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธ (17 ก.ค.)

ภายใต้แผนการที่เบอร์นันกีเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 เดือนที่แล้ว ทำให้เป็นที่รับทราบกันว่าเฟดมีแนวโน้มลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรในแต่ละเดือนลงตั้งแต่ปลายปีนี้ และยกเลิกทั้งหมดกลางปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่คาดไว้

ในการแถลงเมื่อวันพุธ นายใหญ่เฟดไม่ได้ล่าถอยจากจุดยืนดังกล่าว แต่ขยายความว่า มูลค่าการซื้อพันธบัตรที่อยู่ในระดับเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์นี้ อาจลดลง “เร็วกว่านั้น” หากเศรษฐกิจปรับตัวเร็วกว่าที่คิด ในทางกลับกัน แผนการซื้อพันธบัตรอาจคงอยู่นานกว่าที่ประกาศไว้ หากแนวโน้มตลาดแรงงานซึมเซาลง หรืออัตราเงินเฟ้อทำท่าว่าจะสูงกว่าเป้าหมาย 2% ที่เฟดเล็งไว้

ความคิดเห็นดังกล่าวหนุนให้ราคาหุ้นในตลาดนิวยอร์กในวันเดียวกันขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลง และดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและเยน เนื่องจากมีการตีความว่า เบอร์นันกีเปิดช่องทางสำหรับการพลิกแพลงนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม

การแถลงนโยบายการเงินรอบกลางปีของเฟดต่อรัฐสภาครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของเบอร์นันกี หากเขาลงจากตำแหน่งหลังหมดวาระนี้ในเดือนมกราคมปีหน้าตามที่หลายคนคาดไว้ ทั้งนี้หลังจากแถลงต่อสภาล่างในวันพุธแล้ว เขายังจะไปแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคาร, การเคหะ, และกิจการเขตเมืองใหญ่ ของวุฒิสภาในวันพฤหัสบดี (18) โดยสิ่งที่เขาเตรียมไปพูด น่าจะไม่แตกต่างจากที่กล่าวในวันพุธ
เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคาร, การเคหะ, และกิจการเขตเมืองใหญ่ ของวุฒิสภาในวันพฤหัสบดี (18)
ภายใต้ยุคสมัยของเบอร์นันกี เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย “เฟด ฟันด์ เรต” ซึ่งเป็นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยชั่วข้ามคืน เอาไว้ที่ใกล้ 0% นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008 และเพิ่มงบดุลเป็นกว่า 3 เท่าจนอยู่ในระดับ 3.46 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับรับซื้อพันธบัตรตามแผนการดึงต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวลง ควบคู่กับส่งเสริมการลงทุนและการจ้างงาน

เดือนที่ผ่านมา เขาทำให้ตลาดทั่วโลกเทขายช่วงสั้นๆ แต่รุนแรง ด้วยการเปิดเผยแผนการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และประสานเสียงกับเจ้าหน้าที่อีกหลายคนนับจากนั้นในการยืนยันว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% แม้ภายหลังยุติแผนการซื้อพันธบัตร

เบอร์นันกียอมรับว่า หนึ่งในแรงจูงใจในการประกาศแผนการยุติ QE เมื่อเดือนที่แล้วคือ การตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อปิดโอกาสเกิดฟองสบู่ในตลาดการเงิน

เขาย้ำว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดขีดนี้ไว้อย่างน้อยจนกว่าอัตราว่างงานที่ 7.6% ในขณะนี้ จะลดลงเหลือ 6.5% โดยที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ รวมทั้งยังบอกอีกว่า เฟดจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า อัตราว่างงานลดลงเนื่องจากมีการจ้างงานเพิ่มหรือเป็นเพียงเพราะคนอเมริกันที่ต้องการหางานทำมีจำนวนลดลง ซึ่งหากเป็นในกรณีหลัง เฟดจะยังคงระงับการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน

เบอร์นันกีสำทับว่า เป้าหมายเหล่านั้นเป็นเพียงเกณฑ์ในการพิจารณา ไม่ใช่กลไกเริ่มต้นการขึ้นดอกเบี้ยอัตโนมัติ และหากตัดสินใจเช่นนั้น ก็จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คำแถลงนี้ทำให้บรรดาเทรดเดอร์ในตลาดล่วงหน้าพากันคาดว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมปีหน้า จากเดิมที่คาดไว้เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ขณะที่เดือนที่ผ่านมา รายงานของเฟดเผยว่า ผู้วางนโยบาย 14 จาก 19 คน เชื่อว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2015

ในส่วนการลดมูลค่าการซื้อพันธบัตรนั้น นักเศรษฐศาสตร์ในวอลล์สตรีทเชื่อว่า เฟดจะเริ่มดำเนินการในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกันยายนนี้

เบอร์นันกีเสริมว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงฟื้นตัวในระดับพอประมาณ เนื่องจากการขยายตัวอย่างเข้มแข็งของภาคที่อยู่อาศัย ได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการในตลาดแรงงานอีกทอด และข้อมูลนี้ตรงกับเบจบุ๊ก หรือรายงานภาวะเศรษฐกิจที่เฟดเผยแพร่ออกมาในวันพุธเช่นเดียวกัน

กระนั้น เขาย้ำว่า แม้เฟดรับรู้ว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจลดลงนับจากฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ทว่า การขึ้นภาษีและลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลที่บั่นทอนการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งสถานการณ์แง่ลบในประเทศอื่นๆ อาจร่วมกันทำให้เกิดผลกระทบอย่างไม่คาดคิด ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังฟื้นตัวพอประมาณเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น