Sell on fact หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เกิดแรงเทขายหุ้นไทยรูด 17 จุด ต่างชาติ พอร์ตโบรกฯ เททิ้งร่วม 7 พันล้าน นักวิเคราะห์จับตามาตรการดูแลค่าบาทที่อาจประกาศตามออกมา “บล.กสิกรไทย” คาดไตรมาส 3 หุ้นอาจร่วงลงถึง 100 จุด จากสถานการณ์การเมืองร้อน และ QE3 พร้อมเชื่อมีมาตรการคุมอสังหาฯ ป้องกันฟองสบู่ ส่วนเม็ดเงินไหลออกน่าจะเบาบางลง
ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (29 พ.ค.) เกิดอาการ Sell on fact ปรับตัวผันผวนทั้งในแดนบวกและลบ ก่อนลดลงอย่างแรงในช่วงการซื้อขายรอบบ่าย หลังนักลงทุนรับรู้ว่า กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีแรงเทขายออกมาหลังดัชนีปรับตัวขึ้นไปรอรับข่าวดังกล่าวก่อนแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) มีการขายสุทธิ 4,559.41 ล้านบาท และ 2,446.42 ล้านบาท
ทั้งนี้ ดัชนีหลักทรัพย์ปิดตลาดที่ระดับ 1,601.61 จุด ลดลง 17.96 จุด หรือ -1.11% มูลค่าการซื้อขาย 61,256.61 ล้านบาท ระหว่างวันดัชนีแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1,624.87 จุด และจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,599.92 จุด
นักวิเคราะห์ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหลังจากที่ กนง.ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิด Sell on fact หลังจากดัชนีปรับตัวขึ้นไปรอรับข่าวตั้งแต่วันก่อน และเมื่อจบเรื่อง กนง. ดัชนียังปรับตัวลงต่อตามการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกที่อยู่ในช่วงพักฐาน จากประเด็นมาตรการ QE ที่กดดันให้เกิดการปรับพอร์ตลงทุน อีกทั้งมีแนวโน้มที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น จึงเกิดการขายทำกำไรออกมา
โดยประเมินว่า ทิศทางการลงทุนในวันนี้ (30 พ.ค.) ดัชนีน่าจะปรับลดลงต่อ ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามคือ เมื่อมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะเกิดมาตรการดูแลค่าเงินบาทออกมา รวมทั้งคำแถลงของประธานเฟด สาขาบอสตัน ที่จะมีผลต่อทิศทางของหุ้นในอนาคต โดยให้แนวรับ 1,590 จุด แนวต้าน 1,612 จุด
ชี้ ารเมือง-QE กดดันหุ้น Q3 ร่วงได้ถึง 100 จุด
นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยในประเทศต้องจับตาการประชุม กนง. ที่คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 และต้องติดตามมาตรการอื่นๆ ที่อาจจะออกมาดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่จะร้อนแรงจากภาวะดอกเบี้ยต่ำจนเกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นทางการเมืองที่จะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้น และเศรษฐกิจไทย ประกอบกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4 ต่ำกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 รวมทั้งกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงไตรมาส 2-3 จะเป็นช่วงที่กำไรต่ำที่สุด
ดังนั้น จึงมีหลายปัจจัยที่กดดันตลาดอยู่ ประเมินว่าดัชนีมีแนวโน้มปรับลดลงประมาณ 5-10% จากระดับ 1,600 จุดในปัจจุบัน หรือประมาณ 100 จุด โดยมีแนวรับสำคัญที่ 1,550 จุด และ 1,500 จุด ซึ่งเป็นระดับที่นักลงทุนระยะกลางสามารถเข้าสะสมหุ้นเพื่อลงทุนได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงเป้าหมายดัชนีปลายปีที่ 1,700 จุด โดยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 โดยหุ้นที่น่าสนใจยังเป็นหุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภคในประเทศ และธนาคารพาณิชย์
สำหรับปัจจัยภายนอก มาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะยุติมาตรการอัดฉีดเงิน (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วกว่ากำหนด แต่คาดว่าแรงเทขายน่าจะชะลอตัวลง เพราะเชื่อว่าเฟดจะไม่เรียกเงินคืนทั้ง 100% ในทันที