xs
xsm
sm
md
lg

อียิปต์แต่งตั้งนายกฯ-รอง ปธน.-ปูทางตั้งคณะบริหารชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮาเซม อัล เบบลาวี นายกรัฐมนตรีของอียิปต์ (ทางซ้าย) และ ประธานาธิบดีรักษาการ อัลดี มันซูร์ (ทางขวา)
เอเจนซีส์ – รัฐบาลเฉพาะกาลอียิปต์เริ่มฟอร์มรัฐบาลพร้อมแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรองประธานาธิบดี เพื่อเร่งรัดกระบวนการเลือกตั้งต่อไปตามโรดแมปของกองทัพไคโรยังได้รับการอัดฉีดหลายพันล้านจากยูเออีและซาอุดีฯ เพื่อบรรเทาความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่ทำเนียบขาวแย้มไม่มีแผนตัดการช่วยเหลืออียิปต์ทันทีแต่อย่างใด

เป็นที่แน่นอนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 7 วันที่ผ่านมาจะบดบังความสำคัญของฤดูถือศีลอดในเทศกาลรอมฎอนที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันพุธ (10) เนื่องจากชาวอียิปต์ 84 ล้านคน แตกแยกกันมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ชาวอิสลามหลายพันคนชุมนุมหน้ามัสยิดทางตะวันออกเฉียงเหนือของไคโรในช่วงคืนวันอังคาร (9) เพื่อต่อต้านการโค่นล้มโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี

ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตร หน้าค่ายทหารที่เชื่อว่า เป็นสถานที่ควบคุมตัวมอร์ซี ผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี 55 คนเสียชีวิตเมื่อเช้ามืดวันจันทร์ (8) ซึ่งขบวนการภราดรภาพมุสลิมที่สนับสนุนมอร์ซีกล่าวหาว่า ทหารยิงใส่ผู้ชุมนุมที่สวดมนตร์อยู่ ขณะที่รัฐบาลตอบโต้ว่า กลุ่มอิสลามยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและโจมตีทหารก่อน

กระนั้น รัฐบาลรักษาการประกาศสอบสวนผู้ต้องสงสัย 650 คนในข้อหาตั้งแต่ปล้นจนถึงฆาตกรรมและก่อการร้าย ซึ่งสื่อของรัฐต่างพากันชื่นชมท่าทีของทหาร แต่ประณามความรุนแรงเมื่อวันจันทร์ว่า เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้าย

ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากลทักท้วงว่า ไม่ว่าจะเป็นการตอบโต้การยั่วยุจริงหรือไม่ แต่กองกำลังความมั่นคงควรรู้สึกผิดที่ใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

แม้ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์หลังการปลดมอร์ซี ที่เริ่มแรกเชิญชวนให้ผู้คนนับล้านที่เอือมระอากับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและการที่มอร์ซีพยายามรวบอำนาจไว้ในมือภราดรภาพฯ ออกมาเฉลิมฉลองเอิกเกริกในกรุงไคโรและเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ

แต่สำหรับภราดรภาพฯ การยึดอำนาจมอร์ซีเท่ากับเป็นการกลับลำประชาธิปไตยโดยกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่เคยยอมรับชัยชนะในการเลือกตั้งของมอร์ซี ภราดรภาพฯ ยังปฏิเสธว่า ไม่ได้มีวาระอิสลามที่แข็งกร้าวแต่อย่างใด

ความกลัวว่าประเทศจะกลับสู่ระบอบเผด็จการเหมือนช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ดึงดูดให้ทั้งกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านมอร์ซีออกไปรวมตัวบนท้องถนนและเกิดการปะทะกันเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (5) จนมีผู้เสียชีวิต 35 คน

ล่าสุดในวันอังคารมีผู้บาดเจ็บ 6 คนจากเหตุการณ์นักรบอิสลามโจมตีจุดตรวจ

เหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันจันทร์ ยังสร้างความกังวลให้แก่ผู้บริจาครายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ตลอดจนถึงอิสราเอลที่ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอียิปต์ตั้งแต่ปี 1979 จากการสนับสนุนของอเมริกา

อย่างไรก็ดี ชาติเศรษฐีน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียที่เคลือบแคลงสงสัยกลุ่มภราดรภาพฯ มานาน ยื่นมือให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างรวดเร็วแก่ไคโรเมื่อวันอังคาร เพื่อลดความกดดันของคณะบริหารรักษาการณ์ที่ต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจชะงักงันที่ตกทอดมา โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เสนอให้เงินช่วยเหลือ 1,000 ล้านดอลลาร์และเงินกู้ 2,000 ล้านดอลลาร์, ซาอุดีอาระเบียเสนอเงินสดและสินเชื่อรวม 3,000 ล้านดอลลาร์ และเชื้อเพลิงมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์

ในด้านการเมืองที่กองทัพอยู่ภายใต้ความกดดันให้เร่งนำอียิปต์กลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยโดยเร็วนั้น ดูเหมือนสถานการณ์จะเป็นแบบถอย 1 ก้าวเพื่อเดินหน้า 1 ก้าว โดยในวันอังคาร แอดลี มันซูร์ ประธานาธิบดีชั่วคราว แต่งตั้งฮาเซม เอล-เบบลาวี นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยม รับตำแหน่งรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด อดีตนักการทูตสหประชาขาติ (ยูเอ็น) เป็นรองประธานาธิบดีรับผิดชอบกิจการต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวหน้าการปลดแอกแห่งชาติของเอลบาราดีที่เป็นแนวร่วมเสรีนิยมชั้นนำของอียิปต์ กลับประกาศไม่ยอมรับกฤษฎีกาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับภราดรภาพฯ ที่ปฏิเสธการร่วมมือกับคณะบริหารเฉพาะกาลทุกอย่าง ขณะที่พรรคนูร์ ซึ่งเป็นพรรคอิสลามแนวอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่แรกเริ่มนันให้การสนับสนุนโรดแมปแห่งอนาคตของกองทัพ แต่ล่าสุดถอนตัวออกมาแล้ว

ด้าน ทามาร็อด ขบวนการยุวชนที่เป็นแกนนำเรียกร้องให้มวลชนนับล้านออกมาประท้วงมอร์ซีก่อนหน้านี้ เสนอให้มีการแก้ไขกฤษฎีกาด้วยเช่นกัน

ที่อเมริกา เจน พีซากี โฆษกหญิงกระทรวงต่างประเทศ แสดงความยินดีอย่างระมัดระวังต่อแผนการผ่องถ่ายของอียิปต์เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

พีซากี เสริมว่า คณะบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เคยติดต่อกับตัวแทนจากภราดรภาพฯ แต่ไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับมอร์ซีนับจากถูกควบคุมตัว

วันอังคาร โอบามายังพูดคุยทางโทรศัพท์กับสองพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลางคือ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด แห่งยูเออี และชีค ทามิม บิน ฮามัด อัล ตานี ผู้ปกครองกาตาร์ เกี่ยวกับความกังกลต่อการประท้วงรุนแรงในอียิปต์ และเห็นพ้องในความสำคัญของการปรองดองภายในประเทศของอียิปต์ รวมทั้งการแก้ไขวิกฤตด้วยกระบวนการทางการเมืองที่ทุกกลุ่มและทุกพรรคการเมืองมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังกล่าวว่า จะไม่ระงับการให้ความช่วยเหลือแก่ไคโรทันที ระหว่างที่ทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์
รองประธานาธิบดีของอียิปต์ โมฮาเหม็ด เอลบาราเด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2005
กำลังโหลดความคิดเห็น