เอเจนซีส์ - สถานการณ์ใน 2 เมืองสำคัญของตุรกี อันได้แก่นครอิสตันบุล และกรุงอังการา กลับคืนสู่ความสงบโดยทั่วไปอีกครั้งในตอนเช้าวันอาทิตย์ (2 มิ.ย.) ถึงแม้ยังมีผู้คนหลายร้อยคนปักหลักยึดครองบริเวณจัตุรัสทักซิม ของอิสตันบูล อันเป็นจุดศูนย์กลางของการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบสิบปีของตุรกีคราวนี้ ขณะที่การปราบปรามอย่างรุนแรงของทางการในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมผู้ประท้วงไปร่วมๆ 1,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน
ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งได้ปักหลักพักอาศัยกันที่จัตุรัสทักซิม บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ซึ่งสร้างอุทิศแด่ มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก ผู้วางรากฐานให้แก่ประเทศตุรกียุคใหม่ที่แยกศาสนาออกจากรัฐ พวกเขาพากันตะโกนคำขวัญเรียกร้องให้ “รัฐบาลออกไป!” อยู่เป็นพักๆ รวมทั้งส่งเสียงเชียร์อย่างปีติยินดี ภายหลังตำรวจถอนกำลังออกไปจากบริเวณจัตุรัสในวันเสาร์ (1)
จัตุรัสทักซิมกลายเป็นหัวใจของกระแสการชุมนุมเดินขบวนมากกว่า 90 จุดตามเมืองต่างๆ 48 เมืองทั่วตุรกี นับเป็นการแสดงความไม่พอใจของสาธารณชนครั้งใหญ่โตที่สุด ต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน ตั้งแต่ที่เขาชนะเลือกตั้งและขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 2002 เป็นต้นมา
แต่ภายหลังการประท้วงที่เผชิญการปราบปรามอย่างรุนแรงดำเนินไปเป็นเวลา 2 วัน รวมทั้งเสียงเรียกร้องจากบรรดาพันธมิตรชาติตะวันตกของตุรกีให้ใช้ความยับยั้งชั่งใจ สถานการณ์ก็ดูเหมือนจะกลับคืนสู่ความสงบในวันอาทิตย์ ภายหลังกำลังตำรวจถอนตัวออกไปจากจัตุรัสทักซิม และพวกเจ้าหน้าที่ทางการหันมาใช้ท่าทีมุ่งให้เกิดความปรองดองมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ทางการระบุว่า ระหว่างเหตุการณ์รุนแรงคราวนี้มีพลเรือน 53 คน และตำรวจ 26 คนได้รับบาดเจ็บ ทว่าองค์การนิรโทษกรรมสากลบอกว่าผู้บาดเจ็บมีจำนวนหลายร้อยคน อีกทั้งมีผู้เสียชีวิต 2 คนด้วย
องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุด้วยว่า มีผู้ประท้วงบางคนต้องตาบอดจากการที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยเป็นกันอย่างมากมายมหาศาล และมีอย่างน้อยที่สุด 2 คนเสียชีวิตไปเมื่อกระสุนแก๊สน้ำตาตกลงมาถูกศีรษะของพวกเขา
จอห์น ดัลฮุยเซน ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากล ประจำยุโรป กล่าวว่า การใช้กำลังของตำรวจตุรกีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ ทว่า การตอบโต้อย่างรุนแรงต่อผู้ที่ชุมนุมโดยสันติในทักซิมถือว่า น่าละอายอย่างยิ่ง
ทางด้านรัฐมนตรีมหาดไทย มูอัมมาร์ กูเลอร์ แถลงว่า นับถึงคืนวันเสาร์ ตำรวจได้จับกุมผู้ประท้วงไป 939 คน แต่ได้ปล่อยตัวไปเป็นจำนวนมากแล้ว
เหตุการณ์คราวนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ทางการมีแผนการสร้างค่ายทหารยุคจักรวรรดิออตโตมัน ขึ้นมาใหม่ในบริเวณสวนสาธารณะของจัตุรัสทัคซิม โดยที่ทำท่าจะพัฒนาต่อยอดทำเป็นศูนย์การค้าต่อไปด้วย จึงสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนจำนวนมาก เพราะจะต้องตัดต้นไม้ราว 600 ต้นในบริเวณที่ถือเป็นพื้นที่สีเขียวหย่อมสุดท้ายกลางเมืองใหญ่ที่สุดของตุรกีแห่งนี้ ผู้คนที่ไม่พอใจจึงพากันมาชุมนุมยึดครองพื้นที่จัตุรัส เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการถางพื้นที่เดินหน้าโครงการ
แต่ไม่นานการชุมนุมกลับกลายเป็นความรุนแรง หลังจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม รายงานระบุว่า มีการยิงแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์เข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัย รวมถึงยิงเข้าไปในอาคารเพื่อผลักดันให้ผู้คนหนีออกมา คลิปในยูทิวบ์ยังเผยให้เห็นผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกรถหุ้มเกราะของตำรวจชนขณะพยายามฝ่าสิ่งกีดขวางบนถนน
จากนั้นได้เกิดการปะทะต่อเนื่องตลอดสองวัน และฝูงชนนับหมื่นเดินขบวนไปทั่วอิสตันบูล บ้างเคาะหม้อและกะทะ ขณะที่ผู้คนส่งเสียงสนับสนุนมาจากหน้าต่างอาคารบ้านเรือน
หลายคนชูกระป๋องเบียร์เพื่อประท้วงกฎหมายล่าสุดของพรรคจัสติส แอนด์ ดิเวลอปเมนท์ ปาร์ตี้ (เอเคพี) ของนายกรัฐมนตรีเออร์โดแกน ซึ่งระยะหลังได้นำเอาระเบียบกฎเกณฑ์แบบอนุรักษนิยมเข้ามาบังคับใช้มากขึ้น เป็นต้นว่าการจำกัดการจำหน่ายและโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การประท้วงโครงการฟื้นฟูค่ายทหาร จึงลุกลามกลายเป็นการประท้วงขับไล่รัฐบาลประชานิยมของเออร์โดแกน ท่ามกลางเสียงกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลชุดนี้กำลังแสดงตัวเป็นพวกอิสลามิสต์และใช้อำนาจแบบเผด็จการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ประชาชนส่วนหนึ่งยังกังวลว่า รัฐบาลกำลังปล่อยให้ประเทศถูกโลกตะวันตกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งในซีเรีย
ในวันเสาร์ เออร์โดแกนแถลงผ่านทีวียอมรับว่า ตำรวจบางส่วนดำเนินการผิดพลาดและใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ประชาชนยุติการชุมนุมทันที ซ้ำยังท้าทายว่าจะจัดม็อบแข่งกับผู้ประท้วง โดยเชื่อว่าพรรคของเขาจะสามารถระดมผู้คนออกมาได้มากเป็น 10 เท่าตัวของผู้ประท้วง
ทว่า ในขณะที่ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ในจัตุรัสทักซิมต่อ เออร์โดแกนก็กล่าวด้วยว่าโครงการนี้น่าจะไม่มีเรื่องศูนย์การค้าตามที่พวกผู้ประท้วงกลัวกัน นอกจากนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกมาให้สัญญาว่า จะดำเนินการตามกฎหมายต่อพวกตำรวจที่ปฏิบัติการ “เกินกว่าเหตุ” ส่วนประธานาธิบดีอับดุลเลาะห์ กุล ก็ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ
สำหรับปฏิกิริยาของพันธมิตรฝ่ายตะวันตกของตุรกีนั้น กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทางการตุรกีเคารพเสรีภาพพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของประชาชน เช่นเดียวกับกระทรวงต่างประเทศอังกฤษที่เรียกร้องผ่านทวิตเตอร์ให้อังการาระงับการใช้ความรุนแรง และใช้ก๊าซน้ำตาโดยขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ โลรองต์ ฟาบิอุส ของฝรั่งเศส กล่าวกับสื่อแดนน้ำหอมว่า ฝรั่งเศสเรียกร้องให้ตุรกีหาหนทางแก้ไขปัญหากันอย่างสันติ แต่เขาปฏิเสธแข็งขันเมื่อถูกสอบถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกี คือการลุกฮือแบบ “อาหรับสปริง” ใช่หรือไม่ โดยเขากล่าวว่าตุรกีนั้นมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย