xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประท้วง “ตุรกี” ยังปักหลักสู้เป็นวันที่ 6 เมินคำ “ขออภัย” จากรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งปะทะกับตำรวจปราบจลาจล บนถนนที่มุ่งไปยังจตุรัสตักซิมในนครอิสตันบูล เมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา(5)
เอเอฟพี - เหตุปะทะรุนแรงระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจตุรกียังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเช้ามืด วันนี้(5) หลังกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมรับคำขออภัยจากรัฐบาล และเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องให้ยุติเหตุจลาจล ซึ่งถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดแกน ก้าวขึ้นปกครองประเทศ

เมื่อวันอังคาร(4) รองนายกรัฐมนตรี บูเลนต์ อาริงก์ แห่งตุรกี มีถ้อยแถลงขออภัยต่อประชาชนที่ใช้สิทธิ์ประท้วงอย่างชอบธรรม แต่กลับถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งเป็นท่าทีประนีประนอมที่สหรัฐฯ ออกมาชื่นชม ทว่าคำพูดดังกล่าวก็ไม่อาจดับความโกรธแค้นของมหาชนได้

วันนี้(5) ชาวตุรกีหลายพันคนยังคงปักหลักชุมนุมที่จตุรัสตักซิมในนครอิสตันบูลเป็นวันที่ 6 และตะโกนด่าทอนายกรัฐมนตรี เออร์โดแกน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปรามาสผู้ชุมนุมว่าเป็นแค่ “พวกหัวรุนแรง” และ “นักเลงป่าเถื่อน”

ผู้ประท้วงกล่าวหาว่า เออร์โดแกน ซึ่งชนะเลือกตั้งมา 3 สมัยซ้อน ใช้อำนาจปิดปากนักวิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน, ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด หรือแม้แต่บุคคลในกองทัพที่ต้องการให้แยกศาสนากับรัฐออกจากกัน และพยายามยัดเยียดการปฏิรูปเชิงอนุรักษ์นิยมเพื่อทำให้ตุรกีกลายเป็นรัฐอิสลามเคร่งจารีต ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญแล้วตุรกียังคงเป็นรัฐทางโลก (secular nation)

รองนายกรัฐมนตรี อาริงก์ ระบุวานนี้(4)ว่า รัฐบาล “ได้รับบทเรียน” แล้วจากสิ่งที่เกิดขึ้น และตระหนักว่า “รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ และไม่สามารถละเลยความต้องการของประชาชนได้ ประชาธิปไตยไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากฝ่ายค้าน”

เขายังวิงวอนให้ “พลเมืองผู้มีความรับผิดชอบทั้งหลาย” ยุติการก่อเหตุรุนแรง

อย่างไรก็ดี บากี ซินาร์ โฆษกสมาพันธ์สหภาพแรงงานสาธารณะแห่งตุรกี (KESK) ซึ่งประกาศให้สมาชิกผู้ใช้แรงงานราว 240,000 คนนัดหยุดงานประท้วงเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วานนี้(4) ชี้ว่า คำขอโทษของ อาริงก์ เป็นแค่ “การควบคุมความเสียหาย และเป็นเพราะรัฐบาลรู้ดีว่าไม่มีทางไปแล้ว”

ขณะเดียวกัน กลุ่มสหภาพแรงงาน DISK ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 420,000 คน ได้ประกาศหยุดงาน และจะออกมาแสดงพลังร่วมกับผู้ประท้วงในวันนี้ด้วย(5)

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลตุรกีเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันศุกร์ (31) หลังจากตำรวจใช้กำลังปราบปรามกลุ่มคนที่ชุมนุมอย่างสงบในนครอิสตันบูลเพื่อต่อต้านแผนการแปลงโฉมสวนสาธารณะเกซี ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่หาได้น้อยมากในเมืองนี้และอยู่ติดกับจัตุรัสทักซิม ให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ นำไปสู่การชุมนุมประท้วงที่ขยายวงกว้างขึ้นในหลายสิบเมืองทั่วประเทศ

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น), สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอีกหลายประเทศ ต่างแสดงความกังวลเรื่องที่ตำรวจตุรกีปราบปรามผู้ประท้วงด้วยวิธีรุนแรงเกินเหตุ พร้อมขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

รองนายกรัฐมนตรี บูเลนต์ อาริงก์ แห่งตุรกี แถลงขออภัยต่อผู้ประท้วงซึ่งกระทำการตามสิทธิ์อันชอบธรรม แต่ขณะเดียวกันก็วิงวอนให้พลเมืองผู้มีความรับผิดชอบยุติการชุมนุม วานนี้(4)
กำลังโหลดความคิดเห็น