เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เมื่อวานนี้ (9) อาศัยวาระครบรอบ 50 ปีที่ชนพื้นเมืองในออสเตรเลียออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดิน เพื่อให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดการลงประชามติว่าด้วยการรับรองฐานะของชาวอะบอริจินในรัฐธรรมนูญ หากพรรคแรงงานของเขาชนะการเลือกตั้งอีกสมัย
จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า ได้เลื่อนแผนการลงประชามติในเรื่องดังกล่าวในสมัยรัฐสภานี้ออกไป โดยอ้างว่ามีเสียงสนับสนุนจากประชาชนน้อย แต่ รัดด์ มั่นใจว่าการยอมรับชาวอะบอริจินในฐานะชนผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกของประเทศ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด
“ด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องการให้เรื่องนี้ได้รับการพิจารณาจากชาวออสเตรเลียด้วยวิธีการลงประชามติภายใน 2 ปีนับจากการเลือกตั้งรัฐสภาสมัยหน้า” เขาแถลง โดยจะกำหนดวันลงประชามติในภายหลังในปีนี้ในปีนี้
รัดด์ กล่าวว่า เขาต้องการทำงานร่วมกับโทนี แอบบอตต์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านหัวอนุรักษนิยมในการร่างคำถามซึ่งเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการลงประชามติ
“จะไม่มีการเลื่อนกำหนดการออกไป อ้างเหตุผลใดๆ หรือปัดความรับผิดชอบอีกแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ออสเตรเลียต้องเดินหน้าทำเรื่องนี้ และนี่คือสิ่งที่ผมขอสัญญา”
การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญออสเตรเลียจะต้องผ่านการลงประชามติในระดับชาติ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้ลงคะแนนเสียง และโดยปกติแล้วการลงคะแนนด้วยวิธีนี้ก็ประสบความสำเร็จน้อยมาก
รัดด์ ออกมาแถลงล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการจัดงานในชุมชนเยอร์กาลาของชาวอะบอริจิน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทางภาคเหนือของประเทศ โดยสถานที่แห่งนี้คือจุดกำเนิดของขบวนการเรียกร้องสิทธิที่ดินเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ด้วยการลงนามรับรองคำร้องที่ทำจากเปลือกไม้ 2 ฉบับ เพื่อต่อต้านแผนการที่รัฐบาลจะริบที่ดินขนาดกว้างใหญ่ไพศาลเพื่อนำไปสร้างเหมืองแร่บอกไซต์
คำร้องดังกล่าวยืนยันว่า ชาวยอลงูแห่งชุมชนเยอร์กาลาเป็นเจ้าของพื้นที่ อีกทั้งกลายเป็นเอกสารสิทธิของชาวพื้นเมืองฉบับแรกที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลแดนจิงโจ้
แม้ว่าพวกเขาจะถูกศาลออสเตรเลียยกฟ้อง แต่คำร้องเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงผลักดันให้ในที่สุดมีการยอมรับชาวอะบอริจินในฐานะพลเมืองเต็มตัวในปี 1967 อีกทั้งให้การยอมรับว่าเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมายในปี 1976
“คำร้องที่ทำด้วยเปลือกไม้ คือ มหากฎบัตรซึ่งยืนยันว่าชาวอะบอริจินเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ เป็นเครื่องยืนยันสิทธิ เหนืออำนาจของราชวงศ์อังกฤษ และด้วยเหตุนี้เป็นสัญลักษณ์อันลึกซึ้งของความยุติธรรมสำหรับมนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม” รัดด์แถลง
ชาวอะบอริจินเป็นกลุ่มชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุดในออสเตรเลีย เด็กๆ ชาวอะบอริจินมีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนอายุครบ 5 ขวบมากเป็น 2 เท่าของเด็กอื่นๆ และโดยเฉลี่ยแล้ว ชายอะบอริจินจะเสียชีวิตเร็วกว่าผู้ชายชาติอื่นถึง 11.5 ปี
ในปี 1788 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอังกฤษเดินทางมาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย เชื่อกันว่ามีประชากรชาวอะบอริจินราวหนึ่งล้านคน ทว่าในตอนนี้เหลือเพียง 470,000 คน จากจำนวนประชากร 23 ล้านคนทั่วออสเตรเลีย
สมาชิกรัฐสภาออสซี ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ในประเทศเมื่อต้นปีนี้
ก้าวสำคัญก้าวนี้ เกิดขึ้นหลังจาก 5 ปีที่ รัดด์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กระทำสิ่งที่เป็นตำนาน คือ การออกมากล่าวขอโทษที่ชาวออสเตรเลียได้ล่วงเกินคนอะบอริจิน ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มผู้อพยพชาวอังกฤษเดินทางมาตั้งถิ่นฐาน รวมไปถึงการที่รัฐบาลออสเตรเลียช่วงหนึ่งมีนโยบายพรากเด็กๆ อะบอริจินออกจากพ่อแม่