เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พ่อเฒ่าญี่ปุ่นวัยเกษียณยื่นฟ้องสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค ฐาน “สร้างความเครียดแก่ผู้ชม” โดยอ้างว่ามีการใช้คำยืมภาษาต่างประเทศมากเกินไป ทำให้ผู้ชมชาวญี่ปุ่นฟังเนื้อหาของรายการไม่รู้เรื่อง ทนายฝ่ายโจทก์แถลงวันนี้ (27)
โฮจิ ทากาฮาชิ วัย 71 ปี เรียกร้องให้ เอ็นเอชเค ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1.41 ล้านเยน (ราว 448,000 บาท) โทษฐานใช้ภาษาอังกฤษมากเกินไป แทนที่จะเลือกใช้คำที่เข้าใจง่ายกว่า
“ลูกความของผมไม่สบายใจที่ญี่ปุ่นเริ่มมีความเป็นอเมริกันมากเกินไป... เขารู้สึกว่ามันเป็นวิกฤตของชาติ เมื่อญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของอเมริกาไปแล้ว” มัตสุโอะ มิยาตะ ทนายของ ทากาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
แม้คำศัพท์ญี่ปุ่นแท้จะมีอยู่มากมาย แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังนิยมยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ความหมายของคำเหล่านั้นเปลี่ยนไปด้วย
ชาวเมืองปลาดิบส่วนใหญ่นำคำภาษาอังกฤษอย่าง trouble (ความลำบาก, ปัญหา), risk (ความเสี่ยง), drive (การขับรถ, แรงขับ) หรือ parking (การจอดรถ, ที่จอดรถ) มาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องปาก
นอกจากคำยืมภาษาอังกฤษซึ่งเป็นมรดกจากการถูกสหรัฐฯ ปกครองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกระแสคลั่งไคล้วัฒนธรรมอเมริกันที่เกิดตามมาแล้ว ญี่ปุ่นยังยืมคำจากภาษาอื่นๆ มาใช้ด้วย เช่น “baito” หรือ “arubaito” ซึ่งมาจากคำว่า arbeit ในภาษาเยอรมัน แปลว่า “งานพาร์ทไทม์” หรือคำว่า pan ซึ่งแปลว่า “ขนมปัง” ในภาษาสเปน ชาวญี่ปุ่นก็ยืมเอามาใช้โดยออกเสียงว่า “ปัง” เป็นต้น
อย่างไรก็ดี โครงสร้างพยางค์ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งมักจะประกอบด้วยเสียงพยัญชนะ 1 ตัวกับเสียงสระอีก 1 ตัว ทำให้การออกเสียงคำยืมเหล่านี้ไม่ชัดเจน และแม้แต่เจ้าของภาษาเดิมก็อาจฟังไม่เข้าใจ เช่น trouble ญี่ปุ่นออกเสียงว่า “toraburu” ส่วน concierge ในภาษาฝรั่งเศส ญี่ปุ่นออกเสียงว่า “konshereju” เป็นต้น
ทากาฮาชิ ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมรู้รักภาษาญี่ปุ่น (Nihongo wo taisetsu ni suru kai) ตัดสินใจฟ้องร้องต่อศาล หลังร้องเรียนไปยังสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ
ด้าน เอ็นเอชเค ระบุว่า ยังไม่พร้อมที่จะให้ความเห็นในขณะนี้ เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้รับหมายศาล
ความอิหลักอิเหลื่อเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในฝรั่งเศส และรัฐควิเบกของแคนาดา ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก โดยพวกอนุรักษนิยมต่างกังวลที่ภาษาฝรั่งเศสกำลังถูกคุกคามจากกระแสคลั่งไคล้ฮอลลีวูด
เมื่อปี 1994 รัฐสภาฝรั่งเศสผ่านกฎหมาย “ตูบง” (Toubon Law) ซึ่งกำหนดให้โรงเรียนทุกแห่งในเมืองน้ำหอมต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก เว้นแต่ในบางกรณีที่จำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ส่วนที่รัฐควิเบกก็มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ออกกฎให้เอกสารข้อเขียนบางอย่างต้องเป็นภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น