xs
xsm
sm
md
lg

บ.เน็ตดังแจงกรณี รบ.ขอข้อมูล วอชิงตันยัน “เจาะ” ไม่ถึง 300 เบอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตรีผู้หนึ่งถือแผ่นป้ายภาพโอบามา ขณะเข้าร่วมการชุมนุมเดินขบวนประท้วงที่บริเวณสถานกงสุลของสหรัฐฯในฮ่องกงเมื่อวันเสาร์(15) การชุมนุมคราวนี้มีจุดมุ่งหมายให้การสนับสนุน เอ็ดเวิร์ด สโนว์ดอน และเรียกร้องทางการฮ่องกงอย่าส่งตัว “จอมแฉ” ผู้นี้กลับไปให้สหรัฐฯ
เอเจนซีส์ - หน่วยข่าวกรองอเมริกันหวังลบข้อครหาก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวประชาชน ออกเอกสารเวียนแจงเจาะลึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ไม่ถึง 300 หมายเลข จากที่สุ่มเก็บข้อมูลดิบนับล้านๆ หมายเลขในปี 2012 ทางด้านเฟซบุ๊ก-ไมโครซอฟท์ เผยบ้าง ระบุได้รับคำขอข้อมูลจากหน่วยงานผู้มีอำนาจทั้งหลายเป็นจำนวนนับหมื่นๆ รายการเมื่อปีที่แล้ว แต่เปิดเผยไม่ได้ว่ามีมากน้อยเท่าใดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ

เฟซบุ๊กแถลงเมื่อวันศุกร์ (14) ว่า ได้รับการร้องขอข้อมูลผู้ใช้ 9,000-10,000 คำขอ ครอบคลุมบัญชี 18,000-19,000 บัญชี ในระหว่างช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ขณะที่ไมโครซอฟท์เผยว่า ได้รับการร้องขอข้อมูลผู้ใช้ 6,000-7,000 คำขอ ครอบคลุมบัญชี 31,000-32,000 บัญชี ระหว่างช่วงเวลาเดียวกัน

คำขอดังกล่าวมาพร้อมหมายอาญา หมายศาล และคำสั่งอื่นๆ โดยที่ทั้งสองบริษัทต่างบอกด้วยว่ากฎหมายห้ามไม่ให้พวกเขาระบุแยกแยะอย่างชัดเจนว่า คำขอในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงมีจำนวนเท่าใด และที่เป็นคำสั่งศาลลับเกี่ยวกับการตรวจสอบการก่อการร้ายมีจำนวนเท่าใด

ทางด้านองค์การ เซ็นเตอร์ ฟอร์ เดโมเครซี แอนด์ เทคโนโลยี ได้แถลงยกย่องการเปิดเผยของเฟซบุ๊กและไมโครซอฟท์คราวนี้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญ แต่ก็เรียกร้องรัฐบาลสหรัฐฯ อนุญาตให้บริษัทเหล่านี้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้

จอห์น แฟรงก์ รองที่ปรึกษากฎหมายใหญ่ของไมโครซอฟท์ยอมรับว่า สิ่งที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยนี้ยังห่างไกลจากสิ่งที่จำเป็นต่อการทำให้สังคมเข้าใจ ตลอดจนต่อการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ เขาเสริมว่า คำร้องขอข้อมูลที่ต้องมาพร้อมกับคำสั่งศาลเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อฐานลูกค้าทั่วโลกของบริษัทเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น

ขณะที่ ท็ด อุลลิย็อต ที่ปรึกษากฎหมายใหญ่ของเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า บริษัทปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเข้มแข็ง และไม่ได้ปฏิบัติตามคำร้องขอทั้งหมดของทางการ

สำหรับ กูเกิล ซึ่งได้จัดแจงเผยแพร่ “รายงานเพื่อความโปร่งใส” เกี่ยวกับคำร้องขอของทางการในลักษณะนี้ออกมาแล้ว ได้ขอให้สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อนุญาตให้บริษัทเปิดเผยจำนวนคำขอแบบแยกตามกรณีอันเกี่ยวกับความมั่นคงต่างๆ ไปเลย เนื่องจาก “ไม่มีอะไรต้องปิดบัง”

ทั้งนี้ พวกบริษัทอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ๆ กำลังถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน พนักงานของบริษัทรับเหมางานปฏิบัติการของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปล่อยข้อมูลลับเกี่ยวกับโปรแกรม “ปริซึม” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่กำหนดให้บริษัทเว็บไซต์ใหญ่ 9 แห่งส่งข้อมูลลูกค้าให้แก่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ)

รายละเอียดที่รั่วไหลที่ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกโดยหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษและวอชิงตัน โพสต์นั้น จุดชนวนการโต้เถียงเกี่ยวกับการยื่นหมูยื่นแมวระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงภายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

บริษัทเหล่านี้ซึ่งมีแอปเปิลและยาฮู รวมอยู่ด้วย ต่างปฏิเสธข้อกล่าวอ้างที่ว่า เอ็นเอสเอสามารถเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของพวกตนโดยตรง ขณะเดียวกัน ทางการสหรัฐฯ ก็พยายามแก้ข้อกล่าวหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมือง โดยล่าสุดเมื่อวันเสาร์ (15) หน่วยงานด้านข่าวกรองได้ออกเอกสารที่ไม่ใช่เอกสารลับ เผยแพร่ไปตามหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล มีเนื้อหาระบุว่า จากข้อมูลดิบด้านโทรศัพท์ที่เอ็นเอสเอเก็บรวบรวมในปีที่ผ่านมานับล้านๆ หมายเลข รัฐบาลเจาะค้นข้อมูลโดยละเอียดจากหมายเลขโทรศัพท์ไม่ถึง 300 หมายเลข

คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังยืนยันว่า การเก็บข้อมูลจากบริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทโทรศัพท์ในสหรัฐฯ และต่างประเทศ เป็นการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพลเมืองอเมริกันทั่วไป

เอกสารที่เผยแพร่ยังระบุว่า ข้อมูลเหล่านั้นไม่เพียงช่วยให้เจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐฯ สามารถจับกุมนาจีบุลเลาะห์ ซาซี ชาวอัฟกันอพยพที่วางแผนโจมตีระบบรถไฟใต้ดินนิวยอร์กในปี 2009 ได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดของซาซีในอเมริกา คือ อาดิส เมดันจานิน รวมทั้งช่วยสกัดแผนการก่อการร้ายทั้งในสหรัฐฯ และอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

การกล่าวอ้างในเอกสารนี้ สอดคล้องกับที่โรเบิร์ต มุลเลอร์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ถ้าหากมีโปรแกรมปริซึมใช้งานอยู่ในตอนนั้น ก็อาจช่วยปกป้องอเมริกาจากเหตุการณ์ 9/11 ได้ เขาสำทับด้วยว่า การเผยแพร่ข้อมูลลับของสโนว์เดนเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสหรัฐฯ และความปลอดภัยของชาวอเมริกัน รวมทั้งยืนยันว่า สโนว์เดนเป็นเป้าหมายการสอบสวนคดีอาญา

สโนว์เดน ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีวัย 29 ปี ได้เปิดเผยตัวตนในฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และขณะนี้ยังคงกบดานอยู่บนเกาะดังกล่าว โดยเขาประกาศพร้อมสู้ความหากมีคำสั่งศาลให้ส่งตัวเขากลับอเมริกา

เมื่อวันเสาร์ ชาวฮ่องกงหลายร้อยคนได้ออกมาชุมนุมท่ามกลางสายฝนเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิเสธคำขอของวอชิงตันให้ส่งตัวสโนว์เดน ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่มีคำขอจากทางสหรัฐฯก็ตามที

แม้ฮ่องกงทำข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐฯ และยังคงใช้ระบบกฎหมายของตนเองภายหลังคืนกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของจีน แต่กระนั้นปักกิ่งยังคงมีอำนาจควบคุมสูงสุดในกิจการกลาโหมและการต่างประเทศของฮ่องกง
กำลังโหลดความคิดเห็น