รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สหรัฐฯ-จีน สองชาติมหาอำนาจโลก เตรียมเปิดประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการปลายสัปดาห์นี้ เพื่อสร้างมิติใหม่แห่งความสัมพันธ์ ทว่า เป้าหมายดังกล่าวอาจถูกบั่นทอนจากการที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จ้องหยิบยกประเด็นสงครามไซเบอร์กดดันปักกิ่งอย่างไม่อ้อมค้อม ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เตรียมระบายความไม่สบายใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” ของวอชิงตัน
โอบามา กับ สี จะพบกันในวันศุกร์นี้ (7) ที่รีสอร์ตหรูกลางทะเลทรายใกล้ๆ เมืองปาล์มสปริง มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ทั้งคู่ได้ทำความรู้จักกันให้มากขึ้นในบรรยากาศผ่อนคลาย โดยหลบเร้นจากแสงสปอตไลต์ของกรุงวอชิงตัน
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านจีนชี้ว่า หากโอบามาและสี สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไป ระหว่างผู้นำแดนอินทรีหลายคนก่อนหน้านี้กับหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าของจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องความเฉยชาแข็งกระด้าง รวมทั้งสามารถทำให้ประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ มีความคืบหน้าไปได้บ้าง ซัมมิตคราวนี้ก็น่าจะได้รับการยกย่องว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในระดับหนึ่งได้แล้ว
แต่บรรยากาศผ่อนคลายในรีสอร์ตหรูกลางทะเลทรายของแคลิฟอร์เนียอาจมีอันต้องบูดเสียไป ในเมื่อโอบามาแสดงท่าทีที่จะใช้แม้แข็งกับสีในประเด็นแฮกเกอร์จีนล้วงความลับอเมริกา ขณะที่ปักกิ่งเองกังวลว่า จะถูกปิดล้อมทางทหารด้วยยุทธศาสตร์ “ปักหมุดในเอเชีย” (pivot to Asia) ของวอชิงตัน
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ เผยว่า โอบามาต้องการเปิดประเด็นปัญหาความปลอดภัยในระบบสารสนเทศกับสีอย่างตรงไปตรงมาในระหว่างการหารือแบบปิดประตูคุยกัน ในเมื่อปัญหาและกิจกรรมของฝ่ายจีนมีผลกระทบอย่างอันตรายต่อบริษัทอเมริกัน ต่อผลประโยชน์ของอเมริกัน และต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกว่า โอบามาจะไม่ถอยแต่จะเดินหน้าชี้ให้เห็นความกังวลของสหรัฐฯในเรื่องภัยจากการแฮกของจีน อีกทั้งจะไม่ยอมรับคำแก้ตัวตามสูตรเดิมๆ ของปักกิ่งที่ว่า จีนเองก็ตกเป็นเหยื่อของการถูกรุกล้ำทางไซเบอร์จากต่างแดนเช่นกัน
กระนั้นก็ตามที มีสัญญาณเหมือนกันว่า ประเทศทั้งสองกำลังพยายามผ่อนคลายความตึงเครียดในเรื่องการเจาะระบบล้วงความลับนี้ โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของรัฐบาลโอบามากล่าวในวันเสาร์ (1) ว่า คณะทำงานระดับสูงที่สองประเทศได้เคยตกลงจัดตั้งกันไว้ก่อนหน้านี้ จะเริ่มประชุมครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมและนัดหารือกันเป็นประจำหลังจากนั้น โดยจะไม่ได้เน้นเพียงปัญหาการเจาะระบบข้อมูลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนากฎระเบียบเพื่อการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยในไซเบอร์สเปซอีกด้วย
โอบามานั้นกำลังถูกกดดันอย่างหนักให้โน้มน้าวให้สีใส่ใจกับความกังวลของอเมริกาเกี่ยวกับการเจาะระบบอย่างจริงจัง ขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯก็โวยวายเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังขึ้นทุกที
สัปดาห์ที่แล้ว หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า จีนใช้การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อเข้าถึงข้อมูลโครงการอาวุธเกือบ 40 โครงการของเพนตากอน รวมทั้งระบบอาวุธไฮเทคล้ำสมัยด้วย ทว่า ปักกิ่งออกมาปฏิเสธทันทีและยืนยันว่า การพัฒนาทางทหารของตนเองไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก ขณะที่เพนตากอนเองกล่าวว่า ข้อมูลที่ถูกเจาะเอาไปนั้นไม่ได้กระทบความไว้วางใจได้ของระบบอาวุธของสหรัฐฯแต่อย่างใด
ในระหว่างการพบกับสี 2 วัน ยังมีแนวโน้มว่า โอบามาจะหยิบยกมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ การค้าโลก และข้อพิพาทด้านอธิปไตยในทะเลจีนใต้ของจีนขึ้นมาหารือด้วย
ซัมมิตครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับโอบามาในการทำคะแนนด้านนโยบายการต่างประเทศ ขณะที่อเมริกายังไม่มีมาตรการรูปธรรมใดๆ ในวิกฤตซีเรีย อีกทั้งยังจะเป็นโอกาสแห่งการหันเหความสนใจออกจากประเด็นภายในประเทศซึ่งถูกฝ่ายค้านโจมตีหนัก จนทำให้การบริหารประเทศในวาระสองของเขาต้องเริ่มต้นอย่างค่อนข้างขลุกขลัก
สำหรับทางด้านสีนั้น ต้องการใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นว่า ตนสามารถส่งเสริมผลประโยชน์ของจีนบนเวทีโลก ขณะที่ปักกิ่งต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ในมิติใหม่ที่วอชิงตันควรต้องยอมรับอำนาจและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง
ผู้นำทั้งสองคนนี้เคยพบปะหารือกันมาแล้วที่กรุงวอชิงตันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2012 แต่การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางสู่สหรัฐฯครั้งแรกนับจากที่สีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมปีนี้ โดยมีแนวโน้มว่า เขาจะแสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งไม่สบายใจกับการปรับทิศทางนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา และการโอนย้ายทรัพยากรทางทหารมาเน้นหนักที่แถบเอเชีย-แปซิฟิก ภายหลังถอนตัวออกจากสงครามในอัฟกานิสถานมากขึ้นๆ
ยุทธศาสตร์เช่นนี้ของสหรัฐฯได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางว่า เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่พันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่า อเมริกามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการตอบโต้คานอำนาจของจีน
เสิ่น ติงลี่ รองคณบดีสถาบันกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟู่ต้าน ในเซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า การกลับสู่เอเชียของอเมริกาและประเด็นความมั่นคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสายตาของปักกิ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังแผ่ขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจในระดับโลก และด้านการทหารภายในภูมิภาค
จีนนั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกโอบล้อมจากยุทธศาสตร์ "ปักหมุดในเอเชีย” ของอเมริกา โดยที่ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่งไปกล่าวปราศรัยที่สิงคโปร์เมื่อวันเสาร์ (1) ว่า นอกเหนือจากการโยกย้ายแสนยานุภาพทางนาวีประมาณ 60% ของสหรัฐฯเข้ามาประจำการในภูมิภาคแถบนี้แล้ว ยังจะมีการนำเอากำลังทางอากาศที่ประจำอยู่ในต่างแดนของทัพฟ้าสหรัฐฯเข้ามาด้วยราวๆ 60% เช่นกัน รวมถึงจะจัดลำดับความสำคัญให้กับการนำเอาระบบอาวุธทันสมัยที่สุดเข้ามาประจำการในแถบแปซิฟิก เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-22 ที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ และ เครื่องบินขับไล่หลากบทบาท เอฟ-35 ตลอดจนเรือดำน้ำโจมตีเร็วชั้นเวอร์จิเนีย
“จีนกำลังก้าวไปตามเส้นทางสู่การพัฒนาอย่างสันติ และประเทศอื่นๆ ก็จักต้องเดินไปตามเส้นทางนี้ด้วย เพราะมีแต่เป็นเช่นนี้เท่านั้นประเทศต่างๆ จึงจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้” หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวเอาไว้เช่นนี้ในบทวิจารณ์ตีพิมพ์ในหน้าหนึ่ง ที่มีเนื้อหาพูดถึงการเจรจาระหว่างสีกับโอบามา
พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันพยายามออกตัวกันแล้วว่า ซัมมิตนี้คงจะไม่มีข้อตกลงรูปธรรมสำคัญฟ เกิดขึ้น กระนั้น บรรยากาศการหารืออย่างไม่เป็นทางการเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความสัมพันธ์วอชิงตัน-ปักกิ่ง
จอน ฮันต์สแมน อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำปักกิ่ง ชี้ว่า นี่เป็นโอกาสอันดีที่ไม่มีมานานแล้วในการส่งเสริมการเจรจาด้านยุทธศาสตร์เชิงลึกและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม แม้พูดกันว่าครั้งนี้เป็นการประชุมซัมมิตอย่างไม่เป็นทางการ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีการประชุมตกลงกันเกี่ยวกับแผนการขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยที่มีรายงานว่ายังตกลงกันไม่ได้ว่า จะมีการแถลงข่าวร่วมระหว่างสองผู้นำหรือไม่ ถึงแม้นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้การต้อนรับผู้นำจากชาติอื่นก็ตาม