xs
xsm
sm
md
lg

ทัศนะเกี่ยวกับ‘จีน’ของ‘ว่าที่รมว.กลาโหมสหรัฐฯ’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: แบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hagel cordial, but outdated on China
By Brendan O'Reilly
11/01/2013

จีนแสดงความยินดีต้อนรับโอกาสอันเป็นไปได้อย่างมาก ที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯและของจีนจะมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ถ้าหาก ชัค เฮเกล ผ่านการออกเสียงรับรองของวุฒิสภา และก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของอเมริกา อดีตวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้เข้ารับตำแหน่งนายใหญ่เพนตากอนผู้นี้ ได้กล่าวแถลงทัศนะหลายครั้งหลายหนในลักษณะมีมิตรไมตรีต่อปักกิ่ง แต่กระนั้น เขาก็แสดงความเข้าใจที่ผิดๆ ฉกรรจ์ๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ข่าว ชัค เฮเกล (Chuck Hagel)((1)) ได้รับเสนอชื่อจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯคนใหม่ เป็นข่าวที่ได้รับการต้อนรับอย่างชื่นชมในประเทศจีน เฮเกล ก็เฉกเช่นเดียวกับบุคคลส่วนใหญ่ในคณะผู้นำร่วมสมัยของแวดวงฝ่ายทหารอเมริกัน นั่นคือเห็นดีเห็นงามกับการเข้าติดต่อมีปฏิสัมพันธ์อันใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับบรรดาผู้นำในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน และพวกผู้นำระดับท็อปของประเทศจีน ได้ตีความคำแถลงต่อสาธารณชนหลายต่อหลายครั้งของ เฮเกล ในช่วงหลังๆ นี้ ว่าเป็นการส่งสัญญาณเพื่อย้ำยืนยันไมตรีจิตของฝ่ายอเมริกัน

แต่กระนั้น เฮเกล ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดๆ ในระดับฉกรรจ์ๆ ทีเดียว เกี่ยวกับฐานะในทางระหว่างประเทศในปัจจุบันของจีน ในขณะที่สหรัฐฯประกาศยุทธศาสตร์การปรับกองทัพของตนให้เน้นหนักมาทางแถบเอเชีย-แปซิฟิกเช่นนี้ มิติทางการทหารของสายสัมพันธ์จีน-อเมริกัน ก็กลายเป็นด้านที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อันเป็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีซึ่งควรต้องถือว่ามีความสำคัญที่สุดและมีพลวัตที่สุดของโลกในเวลานี้

ไชน่าเดลี่ (China Daily) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการจีน ไม่รีรอเลยที่จะกล่าวสรรเสริญการเสนอชื่อรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้ ในรายงานข่าวที่ใช้ชื่อเรื่องว่า "Hagel looks ready to work with China" (เฮเกลดูพรักพร้อมที่จะร่วมงานกับจีน) ของ ไชน่าเดลี่ มีการอ้างอิงหยิบยกถ้อยแถลงประเภทกล่าวย้ำให้มั่นใจจำนวนหนึ่งของเฮเกล ในประเด็นเกี่ยวกับการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน รายงานข่าวชิ้นนี้ยังได้อ้างคำพูดของ เสิ่น ติงหลี่ (Shen Dingli) ผู้ชำนาญการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan) นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งกล่าวชมเชยอดีตวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกันจากมลรัฐเนแบรสกาผู้นี้ว่า “ผมเห็นว่า ชัค เฮเกล เป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งที่ดีคนหนึ่ง เขาได้เคยแสดงความซื่อสัตย์จริงใจด้วยการคัดค้านสงครามอิรัก เป็นชาวรีพับลิกันที่มีแนวคิดสายกลางและเป็นที่เคารพนับถือ” [1]

การที่จีนมองเฮเกลไปในทางบวกเช่นนี้ มีสาเหตุสำคัญที่สุดมาจากประวัติการทำงานของอดีตวุฒิสมาชิกผู้นี้ เฮเกลเป็นที่รู้จักกันดีว่าพร้อมอภิปรายถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาในประเด็นยุ่งยากซับซ้อนทั้งหลายของนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา เมื่อเขาพูดถึงเรื่องการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน ความคิดเห็นของเฮเกลต้องถือว่าเป็นไปในทางสดใสอย่างพิเศษผิดธรรมดาสำหรับนักการเมืองชาวอเมริกัน โดยเขาบอกว่า:

“ประเทศจีนกำลังจะก้าวขึ้นมาและเจริญเติบโต มันเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว และเราสมควรที่จะยินดีต้อนรับเรื่องเช่นนี้ พวกเขากำลังจะกลายเป็นคู่แข่งขันนะหรือ อันที่จริงเวลานี้พวกเขาก็เป็นอยู่แล้วล่ะ เหมือนกับอินเดีย, บราซิล, และชาติอื่นๆ นี่ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้นะ การค้า, การแลกเปลี่ยนต่างๆ, ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ, ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งหลาย พวกชาติตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจตลาดใหม่เหล่านี้ทุกๆ รายเลย ... คราวนี้ความเข้มแข็งที่จะเกิดขึ้นมาก็คือการที่พวกเขาเหล่านี้ทั้งหมดต่างจับจิตจับใจมุ่งมั่นสนใจอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่เป็นชนิดเดียวกันโดยพื้นฐาน อันได้แก่เรื่องของเสถียรภาพ, ความมั่นคง, แหล่งพลังงาน, ทรัพยากรต่างๆ, ประชาชน นี่ก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการให้มีเพื่อให้ประเทศของเราเจริญรุ่งเรืองนั่นแหละ ทางฝ่ายจีนก็ต้องการสิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนกัน”[2]

ถ้อยคำต่างๆ เกี่ยวกับจีนที่เฮเกลแสดงออกมาอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะนั้น เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้วก็เรียกได้ว่า เป็นการแสดงท่าทีแบบแทบจะเห็นอกเห็นใจให้ความสนับสนุนกันทีเดียว เขายอมรับและเห็นด้วยกับแรงจูงใจขั้นพื้นฐานต่างๆ ในทางเศรษฐกิจของประชาชนจีนและพวกผู้นำจีน ยิ่งกว่านั้น เฮเกลยังแสดงท่าทีรับทราบอย่างอ้อมๆ ว่าโลกของเรากำลังมีพัฒนาการไปสู่โลกที่มีหลายขั้วอำนาจ (multipolar world) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เขาดูเหมือนไม่ได้มีทัศนะที่ว่า แนวโน้มเช่นนี้ควรต้องถือเป็นภัยคุกคามอันเลวร้ายต่อความมั่นคงของชาวอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติต่อจีนแบบสายกลางของเฮเกล ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าอกเข้าใจอย่างมีเหตุมีผลเกี่ยวกับแรงจูงใจต่างๆ ของฝ่ายจีนเท่านั้น เฮเกลยังคงเหมือนสมาชิกอื่นๆ จำนวนมากในแวดวงการเมืองอเมริกัน ที่มีความสงสัยข้องใจอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความสามารถ (หรือบางทีน่าจะเรียกว่า แรงจูงใจ) ของจีน ในการท้าทายบทบาทในลักษณะครอบงำบง
การโลกของอเมริกา ดังที่เขาพูดเอาไว้ว่า:

“ถึงอย่างไรทางฝ่ายจีนก็มีปัญหาหลายๆ ประการที่ใหญ่โตกว่าของเรามาก พวกเขามีปัญหาที่เป็นระดับยักษ์จริงๆ เริ่มตั้งแต่ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขามีพลเมืองมากมายถึง 1,300 ล้านคน โดยที่คนเหล่านี้จำนวนหลายร้อยล้านทีเดียวกำลังมีชีวิตอยู่ในความยากจนอย่างน่าสังเวช เรื่องนี้หมายถึงการต้องสร้างงาน เรื่องนี้หมายถึงอะไรอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาเผชิญกับประเด็นทางด้านพลังงานที่พวกเขากำลังจะต้องหาทางอยู่กับมันให้ได้ นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เป็นรัฐบาลเผด็จการ เป็นรัฐบาลที่คลุมเครือเข้าใจยาก ไม่มีความโปร่งใสเอาเสียเลย พวกเขามีอะไรบ้างและพวกเขาไม่มีอะไรบ้าง นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางที่จะแน่ใจได้อย่างแท้จริง พวกเขาสามารถก้าวเดินไปได้อย่างรวดเร็วน่าตื่นตะลึง พวกเขากลายเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ไปแล้วในทุกวันนี้ และพวกเขาก็จะยังคงเดินหน้ากลายเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ต่อไปอีก –นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้นะ แต่ว่าเราไม่ควรที่จะตัวงอตัวสั่นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมานี้หรอก เช่นเดียวกับที่เราไม่ควรรู้สึกวิตกกังวลว่าพวกเขากำลังจะมาแย่งยึดตำแหน่งของเราในโลกไปแล้ว”[3]

ในเวลาเดียวกับที่รับทราบว่า ประเทศจีนกำลังก้าวผงาดขึ้นมามีฐานะเป็น “มหาอำนาจยิ่งใหญ่” เฮเกลก็เน้นย้ำให้น้ำหนักกับบรรดาความท้าทายภายในซึ่งกำลังเผชิญหน้าคณะผู้นำจีนอยู่ในปัจจุบัน ความท้าท้ายดังกล่าวเหล่านี้มีอยู่จริงๆ แน่นอน และก็ทำท่าจะมีศักยภาพคุกคามขัดขวางไม่ให้จีนสามารถก้าวผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจระดับโลกได้ ความยากลำบากภายในเหล่านี้สามารถที่จะส่งผลชะลอหรือกระทั่งหยุดยั้งโมเมนตัมอันคึกคักเข้มแข็งของแดนมังกรในช่วงหลังๆ มานี้หรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ท่านผู้ชมจะต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป

อย่างไรก็ดี การที่เฮเกลมีความมั่นอกมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า จีนจะไม่สามารถ “มาแย่งยึดตำแหน่งของเราในโลก” ไปได้นั้น เป็นเรื่องที่น่าจะถูกต้องแทบแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว ทั้งนี้ไม่ว่าจะพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์หรือในท่ามกลางภาวการณ์ร่วมสมัย ก็จะพบว่าจีนนั้นแทบไม่มีความกระหายที่จะแผ่แสนยานุภาพทางทหาร หรือที่จะดำเนินการสุ่มเสี่ยงต่างๆ ไปยังต่างแดนอย่างกว้างขวางและมีราคาแพงลิ่ว ถ้าหากจีนสามารถก้าวแซงหน้าสหรัฐฯกลายเป็นชาติทรงอำนาจที่สุดบนพื้นพิภพนี้ได้เมื่อใด เราก็น่าจะได้พบเห็นว่า แดนมังกรมีการบริหารอำนาจของตนไปในลักษณะที่แตกต่างอย่างมากมายจากวิถีทางที่ลุงแซมกระทำอยู่ในระยะหลังๆ มานี้

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Transcendent Harmony

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
‘จีน’ปรับตัวรับ‘วิกฤต’กระทบไปถึง‘นโยบายต่างประเทศ’ (ตอนแรก)
ในขณะที่จีนกำลังเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนถ่ายคณะผู้นำแบบยกชุดซึ่งกระทำกันทุกสิบปีครั้งอยู่นั้น ก็ต้องถูกกระทบกระเทือนจากความไม่แน่นอนต่างๆ ซึ่งปรากฏขึ้นมาสืบเนื่องจากความท้าทายอันน่าหวั่นวิตกทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านการเมือง ถึงแม้ความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ที่สำคัญแล้วเป็นเรื่องภายในประเทศ ทว่ามันก็จะต้องส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการต่างประเทศของคณะผู้นำชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งนี้ การที่ประเทศอื่นๆ ในโลกจะมีปฏิกิริยาต่อนโยบายนี้อย่างไร จะกลายเป็นตัวตัดสินว่าการก้าวผงาดขึ้นมาของจีนจะยังคงเป็นไปอย่างสันติได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น