เอเจนซีส์ - พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี (แอลดีพี) พรรคอนุรักษนิยมเก่าแก่ที่ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านมาเป็นเวลา 3 ปี ภายหลังได้เคยบริหารประเทศญี่ปุ่นมายาวนาน กำลังจะได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ (16) ออกมาว่า แอลดีพีชนะขาด ได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาล่าง และทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ มีโอกาสกลับมาผลักดันแนวทางความมั่นคงแบบสายเหยี่ยว และนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดๆ ตลอดจนการอัดฉีดโครงการสาธารณะก้อนมหึมา เพื่อแก้ไขภาวะเงินฝืด รวมทั้งหยุดยั้งไม่ให้เงินเยนแข็งตัว
ชัยชนะของแอลดีพี ยังจะนำมาซึ่งรัฐบาลที่มุ่งมั่นใช้จุดยืนอันเข้มแข็งเหนียวแน่นในการพิพาททางดินแดนกับจีน ตลอดจนในนโยบายพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ถึงแม้ญี่ปุ่นเพิ่งประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อปีที่แล้ว
เอ็กซิตโพล จากสถานีทีวีหลายแห่ง ซึ่งประกาศออกมาภายหลังปิดหีบลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ (16) ต่างระบุว่า พรรคแอลดีพี จะชนะกวาดที่นั่งในสภาล่างอันทรงอำนาจไปได้เกือบๆ 300 ที่จากทั้งสภา 480 ที่ และพรรคนิว โคเมอิโตะ ซึ่งเป็นพรรคขนาดเล็กที่เป็นพันธมิตรของแอลดีพี ก็จะได้ราว 30 ที่
นั่นจะทำให้พันธมิตรสองพรรคนี้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด 2 ใน 3 ทั้งนี้ ในระบบรัฐสภาแบบ 2 สภาของญี่ปุ่นนั้น แม้สภาสูงแม้จะมีอำนาจน้อยกว่าสภาล่าง แต่ก็สามารถยับยั้งร่างกฎหมายได้ หากสภาล่างไม่มีเสียง 2 ใน 3 มาลบล้างมติของสภาสูง การที่แอลดีพี และ นิว โคเมอิโตะ ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในคราวนี้ จึงหมายความว่า พันธมิตรคู่นี้สามารถผ่าทางตันที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายต่างๆ ในรัฐสภานับตั้งแต่ช่วงปี 2007 เป็นต้นมา
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความผิดหวังของมีผู้มีสิทธิออกเสียง ที่เคยโหวตให้พรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) ของนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ จนกระทั่งชนะการเลือกตั้งสภาล่างปี 2009 จากการที่พรรคนี้ให้สัญญาว่า จะใส่ใจผู้บริโภคมากกว่าเอาใจพวกบริษัท และลดการบงการของข้าราชการประจำในการวางนโยบายด้านต่างๆ
ประชาชนผู้ออกเสียง มองว่า ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ดีพีเจดำเนินนโยบายด้านต่างๆ อย่างผิดพลาด มีพฤติการณ์ที่เป็นการเสียมารยาททางการทูต ตลอดจนล้มเหลวในการทำตามคำมั่นที่ให้ไว้ตอนเลือกตั้ง ถึงแม้รัฐบาลดีพีเจมีภาระหนักหน่วงเพิ่มเติมเข้ามากว่าที่คาดหมาย เนื่องจากต้องรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นสึนามิ แล้วตามมาด้วยวิกฤตนิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว ทว่าก็ไม่ได้มีผลงานที่ชวนประทับใจ มิหน้ำซ้ำรัฐบาลยังผลักดันการขึ้นภาษีการขายที่ประชาชนไม่ปลื้ม โดยได้ความช่วยเหลือจากแอลดีพี แลกเปลี่ยนกับการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดในคราวนี้
เอ็กซิตโพล ระบุว่า ดีพีเจอาจได้ที่นั่งในสภาล่างเพียง 65 ที่ หรือแค่กว่า 1 ใน 5 ของที่ได้เมื่อ 3 ปีก่อน
ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ไม่พอใจทั้ง 2 พรรคใหญ่ คือ ดีเจพี และ แอลดีพี ต่างหันไปหาพรรคใหม่ๆ เป็นต้นว่า เจแปน เรสตอเรชัน ปาร์ตี ที่ก่อตั้งโดย โทรุ ฮาชิโมโตะ ผู้ว่าราชการนครโอซากา ซึ่งเป็นที่รักของประชาชน โดยเอ็กซิตโพล คาดว่า พรรคนี้ได้ที่นั่งในสภา 46 ที่
ประชาชนยังไม่พอใจสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่เสื่อมทรุดลง สัปดาห์ที่แล้วเกาหลีเหนือเพิ่งทดลองยิงจรวดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร โดยที่จรวดถูกยิงข้ามหมู่เกาะทางใต้ของญี่ปุ่น ขณะที่จีนก็ได้ส่งเครื่องบินรุกล้ำน่านฟ้าประเทศ
สถานการณ์เหล่านี้เข้าทาง อาเบะ หัวหน้าพรรคแอลดีพี วัย 58 ปี ที่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2007 โดยอ้างว่า มีปัญหาสุขภาพ หลังจากกรำงานหนักในตำแหน่งมาเพียง 1 ปี
อาเบะนั้นมีจุดยืนแข็งกร้าวกรณีข้อพิพาทที่ญี่ปุ่นกับจีนช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก เขายังให้สัญญาจะเสริมสร้างการเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมและความมั่นคงกับอเมริกา
อาเบะ ยังต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1947 เพื่อผ่อนคลายข้อจำกัดในเรื่องการจัดตั้งกองทัพ และทำให้ญี่ปุ่นสามารถมีบทบาทในด้านความมั่นคงของโลกเพิ่มขึ้น
ในขณะที่ประชาชนญี่ปุ่นยังกำลังเข้าคูหาลงคะแนนกันอยู่ สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนก็ได้ออกบทบรรณาธิการ ระบุว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งในญี่ปุ่นคราวนี้ ควรกำหนดนโยบายการต่างประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ระยะยาวเพื่อเยียวยาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน พร้อมกับกล่าวเตือนการที่บางพรรคให้สัญญาระหว่างหาเสียง ว่า จะใช้ไม้แข็งกรณีข้อพิพาทด้านอธิปไตยและเพิ่มการใช้จ่ายทางทหาร
ขณะเดียวกัน แอลดีพีซึ่งส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ระหว่างบริหารประเทศมาหลายสิบปี ได้รับการคาดหมายว่า จะมีท่าทีเป็นมิตรต่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แม้ประชาชนมากมายกังวลกับความปลอดภัยก็ตาม
อีกประเด็นหลักที่ประชาชนกังวล คือ เรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 4 ครั้งนับจากปี 2000 รวมทั้งต้องรับมือกับภาวะการเติบโตชะลอตัวทั่วโลก ขณะที่ค่าเงินเยนแข็ง แถมเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทกับจีน
อาเบะเรียกร้องให้ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดๆ ให้มีการใช้จ่ายโครงการสาธารณะก้อนใหญ่เพื่อเอาชนะภาวะเงินฝืด ซึ่งเป็นแนวทางเศรษฐกิจหลักของแอลดีพีเรื่อยมา แม้นโยบายนี้ถูกวิจารณ์เซ็งแซ่ ว่า เป็นการแบ่งสรรเอื้อผลประโยชน์ทางการเมือง
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนฟันธงว่า นโยบายเศรษฐกิจของอาเบะอาจสร้างการเติบโตชั่วคราว และเปิดทางให้รัฐบาลเดินหน้าแผนขึ้นภาษีการขายในปี 2014 เพื่อลดหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันมีมูลค่าเท่ากับ 2 เท่าของจีดีพี ทว่า นโยบายเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มขจัดความป่วยไข้ระยะยาวหรือนำมาซึ่งการเติบโตที่ยั่งยืน รวมทั้งยังอาจทำให้ตลาดทรุด หากนักลงทุนมองว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถควบคุมฐานะการคลังของตนเองได้