เอเอเอฟพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ จะพบปะกับประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ของจีน ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ในช่วง 7-8 มิถุนายนที่จะถึงนี้ คาดผู้นำทั้งสองจะถกปัญหาเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์และเรื่องความตึงเครียดทางภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เกิดจากจีนที่แผ่ขยายอำนาจมา
ในการนี้ โอบามาจะต้อนรับประธานาธิบดี สี อย่างเป็นทางการที่รีสอร์ต ซันนีแลนด์เอสเตท อดีตบ้านพักฤดูหนาวสุดหรูของวาลเตอร์และเลโอนอร์ แอนเนเบอร์ก ที่เมืองปาล์ม สปริงส์ แคลิฟอร์เนีย ช่วงระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายนนี้ โดยทางวอชิงตันมีข้อหารือกับจีนให้กดดันเกาหลีเหนือ พร้อมกับหาความร่วมมือทางการทูตกับจีนในการหาทางยุติสงครามกลางเมืองซีเรีย
ในแถลงการณ์ทำเนียบขาวชี้ว่า “ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ จะร่วมถกประเด็นรอบด้านทั้งการเจรจาระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลกที่ครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศระหว่างสหรัฐฯและจีนทั้งตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการวางแผนที่จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือต่อไปในอนาคต”
ดังนั้นในวันที่ 26-28 พฤษภาคมนี้ ทอม ดอนิลอน ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยแห่งชาติของโอบามา จะเดินทางไปเยือนจีนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการพบปะของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ
ในขณะเดียวกัน ที่กรุงปักกิ่ง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ฉิน กัง เปิดเผยว่า การประชุมสุดยอดของผู้นำทั้งสองเป็นเรื่องที่ “ยิ่งใหญ่” มากๆ
“เชื่อกันว่าการพบปะครั้งนี้จะส่งผลดีถึงความสัมพันธ์ระยะยาวของทั้งสหรัฐฯ และจีนให้มั่นคงและแน่นแฟ้นมากขึ้น รวมถึงจะมีผลดีในแง่ความสงบสุข ปลอดภัยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก” โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนฉิน เปิดเผยต่อในคำแถลงการบนเวบไซต์กระทรวงการต่างประเทศจีน
ในการเยือนต่างประเทศของผู้นำจีนในครั้งนี้ ประธานาธิบดีจีน สี จะเยือนทรินิแดดแอนด์โทเบโก คอสตาริกา และเม็กซิโก ก่อนที่จะพบหารือกับโอบามาที่สหรัฐฯ
แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีกำหนดการณ์ที่โอบามา และประธานาธิบดี สี จะเข้าหารือก่อนการประชุมสุดยอด G20 ที่รัสเซียในเดือนกันยายน แต่เป็นเพราะผู้นำทั้งสองชาติต่างเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไป จึงเป็นเรื่องปกติที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการพบปะหารือก่อนการประชุมที่เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก
สำหรับการประกาศกำหนดการพบกันอย่างเป็นทางการระหว่างประธานาธิบดี โอบามา และประธานาธิบดีจีน สี นั้นมีขึ้นภายหลังไม่กี่ชั่วโมงที่โอบามาพบกับผู้นำสูงสุดของรัฐบาลพม่า ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่ทำเนียบขาว ซึ่งนับเป็นผู้นำคนแรกของพม่าที่มาเยือนสหรัฐฯในรอบเกือบ 50 ปี
ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างให้ความเห็นตรงกันว่าการที่สหรัฐฯใช้ความพยายาม ทางการทูตเข้าหาพม่า เพื่อต้องการลดบทบาทของชาติมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียอย่างจีนลงไป อ้างจากในบริบทของนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐในการ “หวนกลับมาถ่วงดุล อำนาจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง”
ซึ่งการประกาศการพบปะกันอย่างเป็นทางการที่มีขึ้นในวันจันทร์ (20) ที่ผ่านมา นี้ ยังรวมไปถึงการยืนยันกำหนดการของโอบามาที่จะไปเยือนทวีปแอฟริกาช่วงปลาย เดือนมิถุนายนอีกด้วย
จากที่ผ่านมาวอชิงตันยื่นข้อเรียกร้องหลายครั้งไปทางปักกิ่ง ให้เตือนเกาหลีเหนือประเทศที่ได้รับการหนุนหลังจากจีนให้เลิกสร้างความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยคำขู่จากผู้นำคนใหม่ของเปียงยางที่พร้อมจะทำสงครามอาวุธนิวเคลียร์
จากการเยือนกรุงปักกิ่งเดือนที่แล้วของจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เขาบอกอย่างตรงไปตรงมากับผู้นำจีนประธานาธิบดี สี ว่า จีนนั้นมีอิทธิพลอย่างประหลาดเหนือประเทศเพื่อนบ้านที่ชอบก่อความยุ่งยากอย่างเกาหลีเหนือ
ซึ่งภูมิภาคเอเชียเหนือ อาทิเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต้องกล้ำกลืนกับคำขู่เรื่องสงครามนิวเคลียร์จากกรุงเปียงยางที่เป็นผลมาจากมาตรการตอบโต้ของเปียงยางจากการโดนสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรที่เกาหลีเหนือ ทดลองยิงขีปนาวุธ และทดสอบนิวเคลียร์
นอกจากนี้วอชิงตันยังรู้สึกกดดันมากที่จีนจับมือกับรัสเซียในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงองค์การสหประชาชาติคัดค้านมติคว่ำบาตรรัฐบาลของประธานาธิบดี อัลซาด แห่งซีเรีย
มีคำเตือนล่าสุดปล่อยมาจากเพนตากอน สหรัฐฯ และบรรดานักวิจารณ์อิสระว่า จีนมีความเกี่ยวพันในการใช้อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ สืบล้วงความลับทางการทหารตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองให้กับวอชิงตันเป็นอย่างมาก
ในการสัมภาษณ์ที่โอบามาให้ไว้กับสถานีข่าวเอบีซีว่า จากจำนวนของการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของภาคเอกชนและภาครัฐบาลในสหรัฐฯ นั้นล้วนมี “ต้นตอมาจากจีน” บางส่วน แต่ไม่จำเป็นต้องทั้งหมด “ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน” และโอบามายังเตือนคองเกรสให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอภัยทางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ แต่ต้องไม่ให้กระทบกับเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน นอกจากนี้ทำเนียบขาวเสริมว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯบ่อยครั้งที่ยกปัญหาการโจรกรรมความลับทางคอมพิวเตอร์ในการปรึกษากับบรรดาผู้นำของจีน
ส่วนจีนนั้นรู้สึกขุ่นเคืองต่อนโยบายมุ่งสู่เอเชีย หรือการกลับมากระชับอำนาจของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกครั้ง จะเห็นจากการที่สหรัฐฯโยกย้ายกำลังทางทหารมาภูมิภาคนี้หลังจากเสร็จสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก
และจีนยังไม่พอใจต่อท่าทีที่สหรัฐฯตอบรับคำเรียกร้องจากบรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ยามมีเรื่องพิพาทเขตแดนเหนือน่านน้ำแปซิฟิก จีนชอบแก้ปัญหาเจรจาแบบทวิภาคีมากกว่าที่จะยอมให้ประเทศที่ 3 อย่างสหรัฐฯเข้ามามีส่วนร่วม