xs
xsm
sm
md
lg

รมว.กลาโหมสหรัฐฯเผยเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ปักหมุด” เพิ่มกำลังทางอากาศ-ทหารภาคพื้นดิน-อาวุธไฮเทคในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล ของสหรัฐฯ ขณะกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมประจำปี “การสนทนาว่าด้วยความมั่นคงแชงกรีลา” (Shangri-La Security Dialogue) ที่สิงคโปร์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก
รอยเตอร์/นิวยอร์กไทมส์ – กองทัพอเมริกันจะนำเอาแสนยานุภาพทางอากาศ, กำลังทหารภาคพื้นดิน และระบบอาวุธไฮเทคต่างๆ มาประจำการอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้มากขึ้นในขณะที่วอชิงตันเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ “การปรับสมดุลใหม่” ของตน ทั้งนี้เป็นเนื้อหาในคำปราศรัยที่รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล ของสหรัฐฯ กล่าวที่สิงคโปร์เมื่อวันเสาร์ (1 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้ใช้โอกาสนี้กล่าวหาจีนว่า กำลังกลายเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการดำเนินการโจมตีทางไซเบอร์ต่ออเมริกันและพันธมิตร

เฮเกลใช้คำปราศรัยซึ่งเขากล่าวต่อที่ประชุมประจำปี “การสนทนาว่าด้วยความมั่นคงแชงกรี-ลา” (Shangri-La Security Dialogue) ที่สิงคโปร์คราวนี้ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เหล่าพันธมิตรและหุ้นส่วนบังเกิดความมั่นใจว่า ถึงแม้ในเวลานี้วอชิงตันตกอยู่ภายใต้การบีบคั้นทางด้านงบประมาณอย่างหนัก แต่สหรัฐฯยังคงมีความสามารถอย่างเต็มเปี่ยมที่จะดำเนินยุทธศาสตร์ที่เรียกขานกันว่า “การปรับสมดุลใหม่” (rebalance) หรือ “การปักหมุด” (pivot) หันกลับมาเน้นหนักให้ความสำคัญแก่ภูมิภาคแถบนี้

“มันจะเป็นเรื่องไม่ฉลาดและสายตาสั้น ถ้าหากจะสรุปว่า ... เราจะไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาในเรื่องการปรับสมดุลใหม่ได้อย่างยั่งยืนถาวร” นายใหญ่เพนตากอนกล่าวเช่นนี้ พร้อมชี้ว่า แม้กระทั่งในภาวะที่สหรัฐฯประสบปัญหาเรื่องงบประมาณแบบสุดโต่งอย่างที่สุด งบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯก็จะยังคงมีอัตราส่วนเท่ากับ 40% ของงบประมาณด้านนี้ของทั่วโลกอยู่ดี

เฮเกลยังได้วาดภาพคร่าวๆ ของประเด็นปัญหาความมั่นคงที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุดของเอเชีย-แปซิฟิกบางประเด็น เป็นต้นว่า ความพยายามของเกาหลีเหนือที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ, การแข่งขันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ และกิจกรรมอันแสนวุ่นวายในด้านอวกาศและไซเบอร์สเปซ

การกล่าวปราศรัยในรายการประชุมสำคัญประจำปีว่าด้วยความมั่นคงในเอเชียคราวนี้ นับเป็นครั้งแรกของ เฮเกล ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม แต่ก่อนหน้านี้เมื่อตอนที่เขาดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ เขาก็เป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนการประชุมนี้มาตั้งแต่แรกๆ

เฮเกลเน้นถึงความพยายามของสหรัฐฯที่จะสร้างสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับบรรดาพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคแถบนี้ โดยผ่านความผูกพันทั้งที่อยู่ในรูปลักษณ์แบบทวิภาคีและแบบพหุภาคี เขาประกาศว่าเขากำลังเชื้อเชิญบรรดารัฐมนตรีกลาโหมจากรัฐสมาชิกของสมาคมอาเซียน ให้เข้าร่วมการประชุมกับสหรัฐฯที่ฮาวายในปีหน้า ซึ่งจะถือเป็นการประชุมสหรัฐฯ-อาเซียนในระดับนี้เป็นหนแรก

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯใช้คำปราศรัยนี้ตอกย้ำให้เห็นประสบการณ์อันยาวนานในเอเชียของเขา ตั้งแต่ที่เขาเคยเป็นทหารสู้รบในสงครามเวียดนาม ไปจนถึงการเดินทางทำธุรกิจในจีนในฐานะผู้บริหารของบริษัทโทรศัพท์มือถือ และหลังจากนั้นก็เป็นการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ของภูมิภาคในฐานะวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ

“สิ่งที่ผมได้รับมาจากประสบการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ก็คือ ความเชื่ออันแน่นแฟ้นที่ว่า ส่วนสำคัญโดดเด่นที่สุดของศตวรรษที่ 21 จะก่อรูปขึ้นมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่นี่ ที่ในเอเชียนี้” เฮเกลกล่าว พร้อมกับพูดต่อไปว่า เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯจำเป็นที่จะต้องทำการปรับสมดุลใหม่ในเรื่องทรัพยากรต่างๆ ของตน โดยให้มาเน้นหนักในภูมิภาคนี้ ทันทีที่จบสิ้นภารกิจสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน
ยาน X-47B หุ่นบินพิฆาต อากาศยานไอพ่นไร้นักบิน หรือ โดรน ของสหรัฐฯ ทดสอบลงจอดแบบ ทัช แอนด์ โก ไร้ระบบเบรกช่วย บนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช (USS George H W Bush --CVN 77) ในวันที่ 17 พฤษภาคม รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล บอกว่า เครื่องบินชนิดนี้จะนำไปสู่ยุคใหม่แห่งการบินนาวี
เลียน แพเนตตา นายใหญ่เพนตากอนคนก่อนหน้าเฮเกล ได้เคยกล่าวกับที่ประชุมแชงกรี-ลา ในปีที่แล้ววว่า สหรัฐฯจะโยกย้ายแสนยานุภาพทางนาวีของตนประมาณ 60% เข้ามาอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิกภายในปี 2020 ซึ่งโดยรูปธรรมแล้วก็คือจะมีการเพิ่มเรือรบอีกราว 8 ลำจากที่มีประจำการอยู่แล้วในปัจจุบัน

เฮเกลบอกว่า สิ่งที่สหรัฐฯจะต่อยอดจากตรงนั้นก็คือ กองทัพอากาศอเมริกันก็จะโยกย้ายเครื่องบินและกำลังพลทางอากาศที่ประจำอยู่ในต่างแดนของตนประมาณ 60% เข้ามาอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิกด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะอยู่ประมาณระดับเดียวกับกับในปัจจุบันนั่นเอง ขณะที่ทหารของกองทัพบก และกองทัพนาวิกโยธินจะหวนกลับเข้ามาแสดงบทบาทในภูมิภาคแถบนี้ เมื่อพวกเขาสามารถปลีกตัวออกมาได้มากขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯกล่าวอีกว่า ในอนาคตเพนตากอนจะ “จัดลำดับความสำคัญ” เรื่องการ นำระบบอาวุธก้าวหน้าทันสมัยที่สุดของตนเข้าประจำการ โดยมุ่งเน้นที่ย่านแปซิฟิก เป็นต้นว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-22 ที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์, เครื่องบินขับไล่หลากบทบาท เอฟ-35 และเรือดำน้ำโจมตีเร็วชั้นเวอร์จิเนีย

เฮเกลยังเน้นว่า สหรัฐฯในภาวะที่งบประมาณจำกัดจำเขี่ย สามารถอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้ประหยัดการใช้ทรัพยากรได้ด้วยวิธีการอันฉลาดหลักแหลม โดยเขายกตัวอย่างว่า เมื่อเดือนที่แล้วกองทัพเรืออเมริกันได้เริ่มทำการทดลองนำอากาศยานไร้นักบิน (โดรน) ไอพ่น ขึ้นลงจากเรือบรรทุกเครื่องบินเป็นครั้งแรก เรื่องนี้เขาเห็นว่าจะเป็นการนำทางไปสู่ยุคใหม่แห่งการบินนาวีทีเดียว ทั้งนี้ถึงเขาไม่ได้พูดออกมาชัดๆ แต่ผู้ฟังจำนวนมากย่อมเข้าใจได้ว่า เขากำลังเปรียบเปรยพาดพิงเป็นนัยๆ ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จีนเพิ่งนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกเข้าประจำการเมื่อปีที่แล้วนี้เอง โดยที่เป็นเรือยูเครนเก่าที่แดนมังกรนำมาซ่อมแซมปรับปรุงเสียใหม่

เขาบอกด้วยว่า สหรัฐฯยังจะนำเอาระบบโซลิด สเตท เลเซอร์ (solid-state laser) เข้าประจำการบนเรือรบปอนเซ ในปีหน้า เขาระบุว่าอาวุธชนิดนี้สามารถที่จะ “เป็นคำตอบซึ่งพอจะจ่ายไหว” สำหรับการตอบโต้ภัยคุกคามอย่างเช่น “ขีปนาวุธ, การโจมตีด้วยกลุ่มเรือเล็กจำนวนมากๆ และอากาศยานใช้การนำทางจากระยะไกล”

นายใหญ่เพนตากอนยังพูดถึงการที่สหรัฐฯนำเอาเรือรบใกล้ฝั่ง (Littoral Combat Ship หรือ LCS) จำนวน 4 ลำเข้ามาหมุนเวียนประจำการที่สิงคโปร์ โดยลำแรกซึ่งมีชื่อว่า “ฟรีดอม” เพิ่งมาถึงเร็วๆ นี้ ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯระบุว่า เรือรบใกล้ฝั่ง เป็นเรือสงครามความเร็วสูงชั้นใหม่ ที่สามารถปฏิบัติการทั้งในทะเลลึกและน่านน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง แต่ละลำมีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์

“เมื่อผสมผสานแนวความคิดใหม่ๆ, หลักการและแผนการใหม่ๆ ซึ่งบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ ตลอดจนสมรรถนะอันสำคัญในระดับสามารถเปลี่ยนเกมได้ เราก็จะมีความมั่นใจได้ว่าจะมีเสรีภาพในการปฏิบัติการตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ได้เป็นอย่างดีในอนาคตข้างหน้า” เฮเกลระบุ
ซานตาริตา -- เรือ LCS 1 ฟรีดอม (USS Freedom LCS 1) ที่เวลาเข้าประจำการในสิงคโปร์ เรือรบ LCS ถือเป็นเรือรบชั้นใหม่ซึ่งสหรัฐฯระบุว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีอันล้ำยุคมาผสมผสานสร้างเป็นระบบอาวุธใหม่ที่ประหยัดงบประมาณยิ่งกว่าเดิม
**พลตรีหญิงจีนตั้งคำถามสหรัฐฯทุ่มแสนยานุภาพมาที่เอเชีย**

ในคำปราศรัยต่อที่ประชุมประจำปี “การสนทนาว่าด้วยความมั่นคงแชงกรี-ลา” ที่สิงคโปร์คราวนี้ รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล ของสหรัฐฯได้เน้นย้ำว่า เวลานี้สหรัฐฯกำลังถูกคุกคามด้วยการโจมตีทางไซเบอร์สเปซเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเขาเรียกร้องให้อเมริกากับพันธมิตรทั้งหมดร่วมกัน “จัดทำบรรทัดฐานระหว่างประเทศว่าด้วยความประพฤติอันมีความรับผิดชอบในไซเบอร์สเปซ”

เขาบอกว่า สหรัฐฯมองเห็นอย่างถนัดชัดเจนเกี่ยวกับความท้าทายในโลกไซเบอร์ และระบุชี้นิ้วกล่าวโทษทางการจีนกันตรงๆ โดยเขากล่าวว่า “สหรัฐฯกำลังมีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากการรุกล้ำทางไซเบอร์ โดยที่การรุกล้ำเหล่านี้บางส่วนดูเหมือนจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนและฝ่ายทหารของจีน”

กระนั้น นายใหญ่เพนตากอนก็ย้ำว่า เขาเชื่อว่าประเด็นปัญหาความมั่นคงของภูมิภาคหลายๆ ประเด็น จะสามารถแก้ไขคลี่คลายได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมืออันใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง

“การสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกและในทางสร้างสรรค์กับจีน คือ ... ส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของการปรับสมดุลใหม่สู่เอเชียของสหรัฐฯ” เขาบอก “ขณะที่สหรัฐฯกับจีนมีความแตกต่างกันของพวกเรา ... กุญแจสำคัญอยู่ที่ว่าจะมีการแก้ไขคลี่คลายความแตกต่างเหล่านี้บนพื้นฐานของการสนทนากันอย่างต่อเนื่องและอย่างเคารพกัน”

เมื่อถึงช่วงถาม-ตอบภายหลังการกล่าวปราศรัยของเฮเกล ปรากฏว่า พล.ต.เหยา อิ๋ว์นจู (Yao Yunzhu) นายทหารหญิงของจีนที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์เพื่อความสัมพันธ์ด้านกลาโหมจีน-อเมริกา แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การทหารในกรุงปักกิ่ง ได้ถามนายใหญ่เพนตากอนเป็นภาษาอังกฤษอย่างฉาดฉานว่า สหรัฐฯสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อทำให้จีนมั่นใจว่า สหรัฐฯมีความต้องการความสัมพันธ์ในทางบวกอย่างแท้จริง ในเมื่อสหรัฐฯเองกำลังเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางทหารต่างๆ เข้ามาอยู่ในภูมิภาคแถบนี้อย่างมากมายเช่นนี้ ทั้งนี้เธอระบุว่า เธอยังไม่มีความมั่นใจ และประเทศจีนก็ยังไม่มีความมั่นใจเช่นกัน ว่าสหรัฐฯนั้นต้องการความสัมพันธ์ “ที่รอบด้าน” กับจีน และนโยบายใหม่ของอเมริกันต่อเอเชียและแปซิฟิกนั้นมีความหมายเท่ากับการปิดล้อมจีนนั่นเอง

ทางด้านเฮเกลตอบว่า เรื่องนี้แหละที่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศทั้งสองจึงต้องมีความสัมพันธ์ในระดับทหารกับทหารอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เขากล่าวว่า “เราไม่ต้องการให้เกิดการคำนวณผิดพลาด และการเข้าใจอย่างผิดพลาด และการตีความอย่างผิดพลาด และหนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมาก็คือคุณจะต้องพูดจากับอีกฝ่ายหนึ่ง คุณจะต้องตรงไปตรงมากับอีกฝ่ายหนึ่ง ... และผมคิดว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางเช่นนั้นอยู่”
กำลังโหลดความคิดเห็น