เอเอฟพี - โครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของอิหร่านคืบหน้าไปมาก รวมถึงการผลิตพลูโตเนียมซึ่งอาจใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกที่สองในการผลิตระเบิดปรมาณู รายงานจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระบุวานนี้(22)
รายงานของ ไอเออีเอ ประจำไตรมาสล่าสุด เผยว่า เตหะรานกำลังเร่งติดตั้งอุปกรณ์เสริมสมรรถนะยูเรเนียมขั้นสูงที่โรงงานในเมืองนาตันซ์ (Natanz) นอกจากนี้ยังพบความคืบหน้าในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองอารัค (Arak) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ และโรงงานแห่งนี้เองที่ชาติตะวันตกเกรงว่า อิหร่านอาจจะใช้ผลิตพลูโตเนียมเป็นทางเลือกที่สอง
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า รายงานของ ไอเออีเอ เผยถึงความคืบหน้าครั้งใหญ่ในโครงการนิวเคลียร์ที่อิหร่านมุ่งมั่นพัฒนามานานนับสิบปี “และเป็นการฝ่าฝืนพันธกรณีต่อนานาชาติอย่างร้ายแรง” ขณะที่คณะกรรมการสภาคองเกรสก็เร่งเร้าให้วอชิงตันคว่ำบาตรอิหร่านให้หนักขึ้น
ยูเรเนียมและพลูโตเนียมที่ผ่านการเสริมสมรรถนะสามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ทั้งคู่ ดังจะเห็นได้จากเกาหลีเหนือซึ่งทดลองระเบิดพลูโตเนียมมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2006 และ 2009 ส่วนยูเรเนียมก็เคยถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในระเบิดปรมาณู “ลิตเติลบอย” ที่สหรัฐฯ ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อปี 1945
ไอเออีเอ เผยว่า อิหร่านติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuge) รุ่น ไออาร์-2เอ็ม หรืออาจจะเป็นเพียงฝาครอบภายนอก เสร็จสิ้นไปแล้วเกือบ 700 ตัว เมื่อเทียบกับจำนวน 180 ตัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทว่าอุปกรณ์ทั้งหมดยังไม่ได้เริ่มใช้งานจริง
รัฐบาลอิหร่านเคยประกาศจะติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์รุ่นใหม่ให้ได้ถึง 3,000 ตัวที่โรงงานนาตันซ์ ซึ่งมีเครื่องรุ่นเก่าอยู่แล้วประมาณ 13,500 ตัว และหากสำเร็จก็จะช่วยให้การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมทำได้รวดเร็วขึ้น
แม้จะพบสัญญาณความก้าวหน้าที่เมืองนาตันซ์ แต่ ไอเออีเอ ไม่พบว่าอิหร่านติดตั้งอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆที่โรงงานฟอร์โด ซึ่งสร้างอยู่ใต้ภูเขาใกล้กับเมืองกอม
นานาชาติหวั่นวิตกต่อกิจกรรมนิวเคลียร์ที่โรงงานฟอร์โดมากเป็นพิเศษ เพราะอิหร่านใช้โรงงานแห่งนี้ผลิตยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ถึง 20% ซึ่งเมื่อผนวกกับยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ 5% ที่เมืองนาตันซ์ด้วยแล้ว จะทำให้เตหะรานเข้าใกล้เป้าหมายที่จะผลิตยูเรเนียมเกรดอาวุธซึ่งต้องมีความบริสุทธิ์สูงถึง 90%
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยเรียกร้องหลายต่อหลายครั้งให้อิหร่านล้มเลิกแผนติดตั้งเตาปฏิกรณ์น้ำมวลหนักเพื่อเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่โรงงานในเมืองอารัค และเคยออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมาแล้วถึง 4 ครั้ง
แม้อิหร่านจะยืนยันว่ากิจกรรมนิวเคลียร์ทั้งหมดมีจุดประสงค์เชิงสันติ แต่อิสราเอลซึ่งเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่เปิดเผย ขู่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้ายับยั้ง หากพบว่าอิหร่านมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง
ปีที่แล้ว มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและระบบธนาคารของอิหร่านโดยสหรัฐฯและอียู เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่านอย่างชัดเจน