เอเอฟพี - เกาหลีเหนือประกาศจะเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์เพื่อป้อนโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิเสธคำสั่งคว่ำบาตรขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อย่างชัดเจนที่สุด ในช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีเข้าขั้นวิกฤต
ถ้อยแถลงในวันนี้ (2) มีขึ้นหลังจากที่ผู้นำเกาหลีเหนือออกแถลงการณ์ขู่โจมตีชาติศัตรูแทบไม่เว้นวัน จนสหรัฐฯต้องส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 และ บี-2 รวมถึงเรือพิฆาตลำหนึ่งเข้าไปยังเกาหลีใต้ เพื่อ “ป้องปราม” มิให้โสมแดงเหิมเกริมมากไปกว่านี้
โฆษกสำนักงานนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ระบุว่า รัฐบาลจะสั่งให้มีการ “ปรับปรุงและเดินเครื่อง” อุปกรณ์ทุกชิ้นที่โรงงานนิวเคลียร์เมืองยองบยอน รวมถึงโรงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมศักยภาพกองกำลังติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ รวมถึงบรรเทาปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน สำนักข่าวเคซีเอ็นเอ รายงาน
เกาหลีเหนือสั่งดับเครื่องเตาปฏิกรณ์แห่งนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2007 เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงลดอาวุธกับมหาอำนาจทั้งห้า ซึ่งได้แก่ จีน, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ
เปียงยางยังทำลายหอระบายความร้อน (cooling tower) ของเตาปฏิกรณ์แห่งนี้ในฤดูร้อนปีถัดมา
เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวเคยใช้เพื่อผลิตพลูโตเนียมสำหรับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และผู้เชี่ยวชาญก็คาดว่า ปัจจุบันเกาหลีเหนือน่าจะมีพลูโตเนียมอยู่ในสต๊อกมากพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ 4-8 ลูก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเปียงยางเผยให้โลกรู้ถึงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่เมืองยองเบียน เมื่อปี 2010 และยังเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้าไปเยี่ยมชมเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์อีกด้วย ขณะนั้นเกาหลีเหนืออ้างว่า ยูเรเนียมที่ผลิตได้จะใช้เพื่อจุดประสงค์ด้านพลังงานเป็นหลัก
คำว่า “ปรับปรุง” ที่โฆษกสำนักงานนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเอ่ยถึง ย่อมจะทำให้หลายฝ่ายคาดเดาได้ว่า เปียงยางมีแผนที่จะแปลงคุณสมบัติของเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ไปสู่การผลิตยูเรเนียมเกรดอาวุธ
ด้านกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ แถลงว่า ท่าทีดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่ง
“เกาหลีเหนือควรเคารพข้อตกลงและคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในอดีต... เราจะจับตาดูสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ
ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เกาหลีเหนือลักลอบผลิตยูเรเนียมสมรรถนะสูงมานานหลายปีแล้ว และสิ่งที่พวกเขาใช้ทดลองเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ปีนี้ ก็อาจเป็นระเบิดยูเรเนียม ซึ่งต่างจากการทดลองเมื่อปี 2006 และ 2009 ที่ใช้เพียงระเบิดพลูโตเนียมเท่านั้น