xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญนุกไม่พบ “รังสี” แพร่กระจายจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์โสมแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้โดยสารรถไฟใต้ดินในกรุงโซลยืนดูรายงานข่าวการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(12) ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีใต้ยังตรวจไม่พบร่องรอยสารกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยจากระเบิดนิวเคลียร์โสมแดง
เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญพลังงานนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ตรวจไม่พบสารกัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจายจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12) ซึ่งทำให้การระบุชนิดและคุณสมบัติของระเบิดทำได้ลำบากขึ้น

กองทัพเกาหลีใต้ส่งทั้งเรือรบและเครื่องบินติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับชนิดพิเศษไปตรวจหาร่องรอยสารกัมมันตรังสีที่อาจตกค้างจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน เมื่อ 2 วันก่อน

คณะกรรมาธิการความปลอดภัยและความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งเกาหลีใต้ แถลงว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างบรรยากาศที่เก็บจากพื้นดิน, ทะเล และอากาศ รวมทั้งสิ้น 8 จุด “ยังไม่พบไอโซโทปของสารกัมมันตรังสี”

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์หวังว่า จะพบร่องรอยก๊าซซีนอน (xenon) ที่ถูกปลดปล่อยออกมาระหว่างการระเบิด ซึ่งจะสามารถนำมาวิเคราะห์ชนิดของวัสดุฟิซไซล์ที่เกาหลีเหนือใช้ได้

“เรากำลังตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างบรรยากาศ แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่พบก๊าซซีนอน” ถ้อยแถลงจากคณะกรรมาธิการระบุ

ผู้เชี่ยวชาญในเกาหลีใต้พยายามค้นหาคำตอบว่า เกาหลีเหนือยังใช้ระเบิดพลูโตเนียมเหมือนเช่นเมื่อปี 2006 และ 2009 หรือว่าพัฒนาไปสู่โครงการผลิตอาวุธแบบยั่งยืนที่ใช้ยูเรเนียมสมรรถนะสูงเป็นวัตถุดิบได้แล้ว

หากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินถูกควบคุมไว้เป็นอย่างดี ก็มีความเป็นไปได้ที่สารกัมมันตรังสีจะเล็ดลอดออกสู่บรรยากาศน้อยมาก หรืออาจถึงขั้นไม่มีเลย และต่อให้มีก๊าซรั่วไหลออกมาบ้าง แต่การจะเก็บตัวอย่างมาพิสูจน์ได้นั้นก็ต้องอาศัยโชคช่วยอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ระบุ

ทั้งนี้ เมื่อเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ในปี 2009 ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่สามารถตรวจจับก๊าซซีนอนได้เลยเช่นกัน

ซีนอน-133 เอ็ม เป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) ที่สามารถบอกชนิดของระเบิดนิวเคลียร์ได้ ทว่าการตรวจสอบก๊าซชนิดนี้จะต้องทำในระยะเวลาอันจำกัด เพราะมีครึ่งชีวิตสั้นเพียงราวๆ 2 วันเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น