รอยเตอร์ - กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ทดลองผลิตพลูโตเนียมเกรดต่ำกว่าอาวุธล็อตแรก เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเดินทางสำรวจอวกาศ หลังจากที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งหนึ่งต้องปิดตัวลงไปเมื่อ 25 ปีก่อน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารการบินและอวกาศ (นาซา) แถลงวานนี้(18)
โรงงานนิวเคลียร์ สะวันนาห์ ริเวอร์ไซต์ ในมลรัฐเซาท์แคโรไลนา ประสบปัญหาด้านความปลอดภัยจนต้องปิดตัวลงในปลายทศวรรษที่ 1980 ส่งผลให้นาซาต้องซื้อพลูโตเนียม-238 จากรัสเซียตั้งแต่นั้นมา
สัญญาซื้อขายพลูโตเนียมที่หมดอายุไปเมื่อปี 2010 ทำให้นาซามีปริมาณพลูโตเนียมเหลือเพียงเล็กน้อย และเก่าเกินไปสำหรับภารกิจบินสำรวจอวกาศซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์
พลูโตเนียมเป็นสารกัมมันตรังสีที่ปลดปล่อยความร้อนโดยธรรมชาติ จึงสามารถแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าเครื่องผลิตไฟฟ้าโดยใช้ความร้อนจากไอโซโทปรังสี (radioisotope thermoelectric generator)
นาซาส่งยานขึ้นไปบินสำรวจห้วงอวกาศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และปัจจุบันก็ยังมีภารกิจคั่งค้าง เช่น ยาน Curiosity ซึ่งสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร, ยานอวกาศ Cassino ซึ่งสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์, ยาน New Horizons ที่ถูกส่งออกไปสำรวจดาวพลูโตเมื่อ 7 ปีก่อน และยานแฝด Voyagers ซึ่งกำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะ
“พลูโตเนียมล็อตใหม่มีความสำคัญต่อเราอย่างยิ่ง” จิม กรีน หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซา กล่าวระหว่างแถลงสรุปในการประชุมว่าด้วยวิทยาศาสตร์ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ที่เมืองฮุสตัน
ด้วยความร่วมมือกับนาซา กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ใช้วิธีฉายรังสีนิวตรอนผ่านเนปทูเนียม-237 ที่ห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งชาติ โอ๊ก ริดจ์ ในมลรัฐเทนเนสซี เป็นเวลา 1 เดือน และสามารถผลิตพลูโตเนียมปริมาณเล็กน้อยได้สำเร็จ
“นี่เป็นเพียงขั้นทดลองเท่านั้น” กรีนกล่าว พร้อมระบุว่ากระทรวงพลังงานควรจัดทำรายงานว่าด้วยกระบวนการผลิตและค่าใช้จ่ายให้เสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นปีนี้
นาซาคาดหวังให้กระทรวงพลังงานผลิตพลูโตเนียม-238 ได้อย่างน้อย 1.5-2 กิโลกรัมต่อปี
ทั้งนี้ พลูโตเนียมที่ผลิตได้ใหม่ยังสามารถฟื้นคุณสมบัติของพลูโตเนียมเก่า ซึ่งเสื่อมสภาพจนไม่อาจใช้เป็นเชื้อเพลิงในการสำรวจอวกาศระยะไกลได้