เอเอฟพี - นายกเทศมนตรีเมืองโอซากายินดี “ขออภัย” สตรีเอเชียที่ถูกเกณฑ์เป็นทาสบำเรอกามทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยังยืนยันคำเดิมว่า กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติเดียวในโลกที่ข่มเหงสตรี
นักประวัติศาสตร์สายหลักระบุตรงกันว่า มีสตรีราว 200,000 คนจากเกาหลี, จีน, ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆในเอเชีย ถูกญี่ปุ่นเกณฑ์มาเป็น “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” (comfort women) ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
โทรุ ฮาชิโมโตะ พ่อเมืองโอซากา และหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค เจแปน เรสโตเรชัน ปาร์ตี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์วันนี้(16)ว่า “ผมคิดว่าผมต้องขออภัยในสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยกระทำ หากผมได้พบกับสตรีเหล่านั้น”
“ผมจะบอกสตรีเพื่อการผ่อนคลายว่า ผมเสียใจที่เราเคยมีระบบเช่นนั้นเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือบีบบังคับก็ตาม... มันเป็นการกระทำอันเสื่อมเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก”
อย่างไรก็ดี ฮาชิโมโตะ ผู้ถูกคาดหมายว่าจะก้าวไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต ยืนยันว่าญี่ปุ่นมิใช่ชาติแรกและชาติเดียวในโลกที่ปฏิบัติต่อสตรีอย่างโหดร้าย
“ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐฯและอังกฤษไม่เคยเปิดสถานบริการทางเพศ หรือตั้งระบบสตรีเพื่อการผ่อนคลายก็จริง แต่ทหารพวกนั้นก็หาความสุขกับหญิงชาวบ้าน”
“ญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติเดียวที่ทำเช่นนี้... ทุกคนต่างทำสิ่งเลวร้ายเหมือนกันหมด ผมเชื่อว่าชาวญี่ปุ่นควรออกมาโต้แย้ง หากว่าความจริงในโลกยังถูกเข้าใจอย่างผิดๆ”
ที่ผ่านมายังไม่ปรากฎหลักฐานว่า กองทัพสมัยใหม่ของประเทศอื่นๆเคยเกณฑ์ผู้หญิงมาให้ทหารได้เสพสุขระหว่างรบ เหมือนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นทำ
ฮาชิโมโตะ สร้างความไม่พอใจต่อผู้ฟังทั้งในและนอกประเทศ หลังจากที่เขาออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันจันทร์(13)ว่า ทหารที่เสี่ยงกับความตายอยู่ทุกวันย่อมต้องการระบายความเครียด และสตรีเพื่อการผ่อนคลายก็คือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้
คำพูดของ ฮาชิโมโตะ ขัดแย้งกับจุดยืนของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาในญี่ปุ่น ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่นในยุคนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบสตรีเพื่อการผ่อนคลาย
เรชิลดา เอ็กซ์เตรมาดูรา ผู้อำนวยการบริหารกลุ่ม Lila Pilipana ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือสตรีเพื่อการผ่อนคลายในฟิลิปปินส์ ชี้ว่า คำขอโทษของ ฮาชิโมโตะ ไม่เป็นที่น่ายอมรับ
“เขาควรจะขอโทษตรงๆ มิใช่กล่าวโทษว่าประเทศอื่นก็ทำเหมือนกัน” เอ็กซ์เตรมาดูรา กล่าว
สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ไมค์ ฮอนดา และ สตีฟ อิสราเอล ก็ได้ออกมาประณามถ้อยคำของ ฮาชิโมโตะ เช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลโตเกียวแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพ่อเมืองรายนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นในปี 1993 ได้ออกแถลงการณ์ “แสดงความขอโทษจากใจจริง” ที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ก่อ “ความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจนมิอาจประมาณได้” ต่อสตรีที่ตกเป็นทาสบำเรอกาม และอีก 2 ปีถัดมา นายกรัฐมนตรี โทมิจิ มุรายามะ ก็มีแถลงการณ์แสดงความ “สำนึกผิดอย่างสุดซึ้ง” ต่อความเจ็บปวดที่ญี่ปุ่นเคยกระทำไว้แก่เพื่อนบ้านหลายๆประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี พวกหัวอนุรักษ์นิยมบางคนยังไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ของรัฐบาลในปี 1993 โดยแย้งว่าญี่ปุ่นไม่เคยบีบบังคับสตรีเหล่านั้นโดยตรง
นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งแสดงจุดยืนแข็งกร้าวในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ยืนยันว่า ตนไม่คิดที่จะยกเลิกแถลงการณ์ขออภัยของรัฐบาลชุดก่อนๆ