เอเอฟพี - นักการเมืองคนดังของญี่ปุ่นชี้ “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” (comfort women) มีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะเป็นกลไกที่ช่วยให้ทหารญี่ปุ่นมีกำลังใจสู้รบ ในขณะที่รัฐบาลโตเกียวออกมาปฏิเสธไม่รับรู้แนวคิดดังกล่าว วันนี้(14)
โทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีฝีปากกล้าแห่งเมืองโอซากา เผยเมื่อวานนี้(13)ว่า ทหารที่เสี่ยงกับความเป็นความตายอยู่ทุกวันจำเป็นต้องมีตัวช่วยระบายความเครียด และสตรีเพื่อการผ่อนคลายก็คือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานี้
นักประวัติศาสตร์สายหลักส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่า สตรีราว 200,000 คนจากเกาหลี, จีน, ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ ถูกกองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาให้บริการทางเพศแก่ทหารตามดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดไว้ได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ถ้อยคำของ ฮาชิโมโตะ อาจยิ่งบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้านซึ่งเคยสัมผัสความป่าเถื่อนของลัทธิจักรวรรดินิยม และยังโกรธแค้นที่โตเกียวไม่ยอมรับความผิดที่ก่อไว้ในอดีต
“เมื่อทหารต้องวิ่งหลบลูกปืนและเสี่ยงตายอยู่ตลอดเวลา และคุณก็ต้องการหาสถานที่ให้พวกเขาได้ผ่อนคลายความกดดันบ้าง ก็แน่นอนว่าต้องใช้ระบบผู้หญิงเพื่อการผ่อนคลายนี่แหละ” ฮาชิโมโตะ กล่าว
นักการเมืองผู้ร่วมก่อตั้งพรรค เจแปน เรสโตเรชัน ปาร์ตี รายนี้ ยอมรับว่า แม้ผู้หญิงบางคนจะถูกบังคับเป็นโสเภณีอย่างไม่เต็มใจ แต่ต้องถือว่าเป็น “ความโหดร้าย” ตามธรรมชาติของสงคราม
ฮาชิโมโตะ ชี้ว่า ยังไม่เคยพบหลักฐานยืนยันว่าระบบโสเภณีของกองทัพญี่ปุ่นถูกต่อต้านจากรัฐบาลท้องถิ่น และการเกณฑ์ผู้หญิงมาบำเรอความสุขทางเพศแก่ทหารก็มีปรากฎมาแล้วในสงครามอื่นๆ มิใช่สิ่งที่ญี่ปุ่นปฏิบัติเพียงชาติเดียว
“มีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับพฤติกรรมป่าเถื่อนและยากจะรับได้ของทหารในสนามรบ และหากจะว่ากันตรงๆแล้ว มันก็คือความจริงอันเจ็บปวดว่าแนวทางปฏิบัติบางอย่าง เช่น ระบบสตรีเพื่อการผ่อนคลาย มีความจำเป็นจริงๆ”
วันนี้(14) โยชิฮิเดะ สุกะ โฆษกคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นโดยตรงต่อเรื่องที่ ฮาชิโมโตะ นำมาพูด
“จุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นเรื่องสตรีเพื่อการผ่อนคลาย ซึ่งผมจะขอย้ำอีกครั้งในที่นี้ ก็คือว่าเรารู้สึกเสียใจต่อผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจนไม่อาจบรรยายเป็นคำพูดได้ และรัฐบาลนี้ก็ยังมีมุมมองเช่นเดียวกับรัฐบาลชุดก่อนๆ” สุกะ กล่าว
เมื่อปี 1993 รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ “แสดงความขอโทษจากใจจริง” ที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ก่อ “ความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจนมิอาจประมาณได้” ต่อสตรีที่ตกเป็นทาสบำเรอกาม และอีก 2 ปีถัดมา นายกรัฐมนตรี โทมิจิ มุรายามะ ก็มีแถลงการณ์แสดงความ “สำนึกผิดอย่างสุดซึ้ง” ต่อความเจ็บปวดที่ญี่ปุ่นเคยกระทำไว้แก่เพื่อนบ้านหลายๆประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี พวกหัวอนุรักษ์นิยมบางคนยังไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ของรัฐบาลในปี 1993 โดยแย้งว่าญี่ปุ่นไม่เคยบีบบังคับสตรีเหล่านั้นโดยตรง
สัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ซึ่งแสดงจุดยืนแข็งกร้าวในเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติ ยืนยันว่า ตนไม่คิดที่จะยกเลิกแถลงการณ์ขออภัยของรัฐบาลชุดก่อนๆ
ประวัติศาสตร์ซึ่งมีร่วมกันมาในอดีตยังเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้านมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงปัญหาข้อพิพาทดินแดนกับโซลและปักกิ่งด้วย
เกาหลีใต้และจีนตำหนิว่าญี่ปุ่นยังไม่ได้แสดงความสำนึกผิดอย่างเพียงพอ แต่ชาวญี่ปุ่นอีกไม่น้อยกลับมองว่า พวกชาตินิยมในต่างประเทศกำลังใช้ประเด็นนี้โจมตีญี่ปุ่นเพื่อหวังผลภายในประเทศตัวเองมากกว่า
ฮาชิโมโตะ ซึ่งเคยถูกคาดหมายว่าจะก้าวไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอ่ยด้วยว่า ญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบผลของสงคราม และขอความเห็นใจต่อสตรีที่ตกเป็นทาสบำเรอกามเหล่านี้
“(สตรีเพื่อการผ่อนคลาย) เป็นผลมาจากความโหดร้ายของสงคราม ดังนั้น เราคงต้องดูแลเอาใจใส่ความรู้สึกของพวกเธอที่ถูกเกณฑ์มาทำงานโดยไม่เต็มใจ”
ล่าสุด ชินทาโร อิชิฮาระ อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว ซึ่งร่วมบุกเบิกพรรค เจแปน เรสโตเรชัน ปาร์ตี มาด้วยกันกับ ฮาชิโมโตะ ออกโรงป้องพ่อเมืองโอซากา วันนี้(14)ว่า โสเภณีกับทหารเป็นของคู่กันมานมนานแล้ว
“แม้สิ่งที่ ฮาชิโมโตะ พูดจะระคายหูคนฟังไปบ้าง แต่เขาไม่ได้พูดผิดแม้แต่น้อย” อิชิฮาระ กล่าว