xs
xsm
sm
md
lg

“สึนามิจีน” ถล่มการเมืองมาเลเซีย ชนกลุ่มน้อยตัดสินใจเลิกหนุน รบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวอย่างหนักใจภายหลังทราบผลการเลือกตั้งถึง สึนามิจีน
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ชนกลุ่มน้อยชาวจีนในมาเลเซียที่เคยแต่ตั้งหน้าตั้งตาทำธุรกิจ และยกให้ระบอบการปกครองซึ่งควบคุมโดยชาวมาเลย์ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่เป็นผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศมานานหลายสิบปี กำลังแสดงท่าทีปันใจให้แก่ฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ต้องเอ่ยปากแสดงความหนักใจด้วยการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “สึนามิจีน”

คำพูดดังกล่าวของนาจิบแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและจุดประเด็นการโต้เถียงว่า ศึกเลือกตั้งดุเดือดเมื่อวันอาทิตย์ (5) เป็นลางบอกเหตุว่าชาวจีนที่มุ่งมั่นจะร้าวลึกกับชาวมุสลิมมาเลย์มากขึ้นหรือไม่

“โดยรวมแล้วผลการเลือกตั้งบ่งชี้แนวโน้มการแบ่งขั้วที่รัฐบาลรู้สึกกังวล” นาจิบกล่าวภายหลังประกาศชัยชนะของแนวร่วมฝ่ายรัฐบาลในวันจันทร์ (6)

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์หลักกลุ่มต่างๆ ในมาเลเซีย ซึ่งประกอบด้วย ชาวมาเลย์, ชาวจีน และชาวอินเดีย อยู่ร่วมกันอย่างค่อนข้างสงบภายใต้แม่แบบการปกครองของ บาริซัน เนชันแนล (แนวร่วมแห่งชาติ) ซึ่งเนื้อแท้แล้วคือระบอบเผด็จการของชาวมาเลย์ที่เป็นชนส่วนใหญ๋ของประเทศ ภายใต้การนำของพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ซึ่งเป็นแกนกลางของบาริซัน

แต่ถึงไม่ค่อยมีการกล่าวถึงความตึงเครียดทางเชื้อชาติกันมากนัก ประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากในแดนเสือเหลือง

ระบบการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันมาเลเซียนั้น สร้างขึ้นบนนโยบายที่มีอายุยาวนานหลายสิบปี ซึ่งมุ่งอุปถัมภ์ค้ำจุนชาวมาเลย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในยุคที่อังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคม แต่กลายเป็นควบคุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ สามารถขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองการปกครอง ทั้งนี้ชาวจีนมีอัตราส่วนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรมาเลเซียทั้งประเทศ 28 ล้านคน

พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ที่ผูกขาดอำนาจเหนือบาริซัน เนชันแนล และประเทศมาเลเซีย นับตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี 1957 มักคอยหยิบยกเหตุการณ์จลาจลทางเชื้อชาติระหว่างชาวมาเลย์กับชาวจีนในปี 1969 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มาคอยตักเตือนขู่ปรามไม่ให้ชนกลุ่มน้อยลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจ

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์บ่งชี้ชัดเจนว่า ชาวจีนและชาวอินเดียเริ่มปฏิเสธ "สถานะพลเมืองชั้นสอง” ของตนเอง และปันใจไปหาพรรคฝ่ายค้าน

“เป็นครั้งแรกๆ ทีเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองของมาเลเซีย … คนจีนได้ตัดสินใจที่จะลงคะแนนกันแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน และพวกเขาตัดสินใจว่าจะออกเสียงให้แก่ฝ่ายค้าน” เจมส์ ชิน อาจารย์ของมหาวิทยาลัยโมนาช ให้ความเห็น และระบุด้วยว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะชาวจีนโกรธกริ้วเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างอุตลุดของ บาริซัน เนชันแนล อีกทั้งรู้สึกว่า คนจีนกำลัง “ถูกทำให้ด้อยความสำคัญลงเรื่อยๆ”

ภายหลังการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งคราวนี้ ซึ่ง บาริซัน ยังคงชูหลักนโยบายแบบแบ่งแยกเชื้อชาติเหมือนเช่นเคย ผลลัพธ์ก็ออกมาว่า แนวร่วมรัฐบาลภายในการนำของอัมโน แม้ได้รับคะแนนเสียงลดน้อยลง ทว่ายังคงสามารถครองที่นั่ง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งในสภาซึ่งมีที่นั่งทั้งสิ้น 222 ที่นั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากชาวมาเลย์ในชนบท ถึงแม้จะถูกพันธมิตรฝ่ายค้านวิพากษ์โจมตีว่า มีการใช้กลโกงการเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม

อย่างไรก็ตาม หลายๆ เขตเลือกตั้งที่เป็นชุมชนเมืองและผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมากเป็นชาวจีน ปรากฏว่าได้ตกไปเป็นของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party หรือ DAP) พรรคที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนจีน และเป็น 1 ใน 3 พรรคซึ่งรวมอยู่ในแนวร่วมของฝ่ายค้าน ซึ่งมีชื่อว่า “ปากาตัน รัคยัต” โดยที่พรรคดีเอพีได้ที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นมา 9 ที่นั่ง เป็น 38 ที่นั่ง

ผลการเลือกตั้งเช่นนี้ถือเป็นการตอกหน้านาจิบอย่างจัง เนื่องจากหัวหน้าพรรคอัมโนผู้นี้พยายามเข้าหาชนกลุ่มน้อยภายหลังจากที่คะแนนนนิยมของบาริซันเสื่อมลงอย่างชัดเจนในการเลือกตั้งปี 2008 นาจิบพยายามเกี้ยวพาชนกลุ่มน้อยด้วยการประกาศโครงการสมานฉันท์ทางเชื้อชาติ แต่เมื่อผลลัพธ์ออกมาเช่นนี้ โครงการดังกล่าวจึงกำลังระส่ำระสายหนัก

ที่ผ่านมา บาริซันพยายามแสดงตนเองว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และใช้มันเป็นเหตุผลความชอบธรรมอันสำคัญประการหนึ่งในการขึ้นปกครองประเทศ โดยที่รัฐบาลผสมที่มีอัมโนเป็นแกนนำนั้น ประกอบด้วยพรรคการเมืองต่างๆ 13 พรรค หลายพรรคทีเดียวเป็นพรรคที่อิงกับชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะ

แต่เมื่อผู้ออกเสียงกำลังตีจากพรรคของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มากขึ้นทุกทีๆ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า ภาพกำลังยิ่งปรากฏชัดเจนเข้าไปใหญ่ว่า บาริซันคือป้อมค่ายของชาวมาเลย์ที่อยู่ใต้การบงการของอัมโน

“เราโชคดีที่ยังได้เป็นรัฐบาลในระดับประเทศ” ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ นักการเมืองสายปฏิรูปของบาริซันที่พ่ายแพ้ต่อ “สึนามิจีน” ในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ กล่าว

“เราจำเป็นต้องมีบาริซันใหม่” เขาให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์และเสริมว่า เป็นห่วงที่บาริซันได้เสียงข้างน้อยในป็อปปูลาร์โหวต

ทั้งนี้ ถึงแม้ บาริซัน ได้ที่นั่ง ส.ส. ในการเลือกตั้งคราวนี้รวมทั้งสิ้น 133 ที่นั่ง ทว่าเมื่อคำนวณจากคะแนนเสียงของผู้ไปใช้สิทธิแล้ว ปรากฏว่าแนวร่วมรัฐบาลนี้ได้เพียง 47% ขณะที่พันธมิตรฝ่ายค้าน ปากาตัน รัคยัต ได้ 50%

ด้วยเหตุนี้ พวกนักวิจารณ์จึงบอกว่า บาริซันยังสามารถฟอร์มรัฐบาลได้ เนื่องจากระบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม และเข้าข้างพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของบาริซัน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า หลังจากนี้แล้วนาจิบยังต้องเผชิญงานหนักในการโน้มน้าวชุมชนชาวจีนให้หันกลับมาร่วมมือด้วย

หลายปีที่ผ่านมา อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้าน เรียกร้องให้มีการปฏิรูปนโยบายของอัมโน ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชาวมาเลย์ในการทำธุรกิจ ระบบการศึกษา และการซื้อบ้าน ซึ่งอันวาร์บอกว่า นโยบายเหล่านี้ได้ถูกชนชั้นนำชาวมาเลย์บิดเบือนไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของพวกเขาเอง

นาจิบรับรู้ถึงกระแสนี้และจึงให้สัญญาบ้างว่าจะดำเนินการปฏิรูปบางอย่างบางประการ

ทว่า ลิม กิต เซียง ชาวจีนและหัวหน้าพรรคดีเอพี ชี้ว่า ถ้านาจิบไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางระบอบที่เป็นอยู่ ประเทศชาติจะแตกแยกมากขึ้น

“ตราบที่เขาปฏิเสธที่จะยอมรับเรื่องนี้ ตราบที่เขายังต้องการ (ทำให้ผลการเลือกตั้งอยู่ในลักษณะ) แบ่งขั้วและแบ่งแยกเชื้อชาติ พวกเขานั่นแหละที่จะมีความผิดโทษฐานเป็นนักแบ่งแยกเชื้อชาติ และพวกเขาจะไม่สามารถสร้างความปรองดองแห่งชาติใดๆ ขึ้นมาได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น