xs
xsm
sm
md
lg

‘พม่า’ปล่อย‘ขบวนการต่อต้านมุสลิม’เคลื่อนไหวตามใจชอบ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: หม่อง ซาร์นี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Myanmar’s neo-Nazi Buddhists get free rein
By Maung Zarni
09/04/2013

“ขบวนการ 969” กลุ่มหัวรุนแรงที่มีแรงจูงใจจากเรื่องเชื้อชาติ คือพวกที่เป็นแกนกลางในเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อยที่สุด 40 คนและทำให้มีคนพลัดที่นาคาที่อยู่อีกประมาณ 12,000 คน กลุ่มดังกล่าวที่นำโดยพระภิกษุในพุทธศาสนานามว่า “วีระธู” (Wirathu) สามารถผงาดโดดเด่นขึ้นมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร? เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีที่สุดก็ด้วยการมองผ่านบริบทแห่งการที่รัฐบาลพม่าตั้งแต่ในยุคที่เป็นระบอบปกครองเผด็จการทหาร ได้ตักตวงใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านมุสลิมในหมู่ชาวพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกันอย่างไรบ้าง

*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

แล้ว ออง ซาน ซู จี ผู้ได้รับการเคารพยกย่องไปทั่วโลกในฐานะผู้นำแห่งการใช้หลักอหิงสา กำลังพยายามทำอะไรบ้างเพื่อสกัดกั้นกระแสคลื่นแห่งลัทธิเหยียดเชื้อชาติอันรุนแรงภายในหมู่ชาวพุทธที่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนหลักของตัวเธอเอง ?

สิ่งที่เราไม่อาจเข้าใจได้เลย ก็คือ การที่ตัว ซู จี เอง กลายเป็นผู้ร่วมสมคบในการเผยแพร่กระจายความเกลียดชังและความหวาดกลัวอิสลาม ทั้งจากการที่เธอนิ่งเงียบไม่เอ่ยถึงความรุนแรงที่กระหน่ำใส่ชาวมุสลิมอย่างไม่หยุดยั้ง และทั้งจากการที่เธอแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ว่าชุมชนชาวมุสลิมหรือชุมชนชาวพุทธ ต่างก็ต้องมีความรับผิดชอบในทางศีลธรรมจากกรณีการสูญเสียชีวิตตลอดจนความเสียหายต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด เธอถึงได้เพิกเฉยละเลยต่อข้อเท็จจริงต่างๆ อันเห็นกันโจ่งแจ้งโทนโท่ เป็นต้นว่า 1) ความรุนแรงและการรณรงค์สร้างความชิงชังที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้ อยู่ในลักษณะไปในทิศทางเดียว ซึ่งก็คือมันพุ่งเป้าหมายมุ่งเล่นงานเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น โดยที่เป็นการก่อเหตุของฝูงชนชาวพุทธซึ่งมีทั้งพวกที่ไม่ได้เป็นชาวท้องถิ่นและทั้งพวกสมาชิกในชุมชนท้องถิ่นเองด้วย 2) ชาวมุสลิม (และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นต้นว่า ชาวคะฉิ่น) คือผู้ที่ต้องแบกรับผลกระทบอันหนักหนาสาหัสซึ่งเกิดจากความรุนแรง, การสูญเสียชีวิต, และความเสียหายร้ายแรงคราวนี้ และ 3) ฝ่ายทหารและกองกำลังความมั่นคงนั้นมีประสบการณ์มาถึง 50 ปีแล้วในเรื่องการควบคุมฝูงชน

แน่นอนทีเดียว่า ซู จี ไม่ได้ถึงกับปิดปากสนิทในเรื่องความรุนแรงต่อต้านมุสลิมระลอกนี้หรอก ภายหลังช่วงเวลา 3 วันแห่งการโจมตีเล่นงานชาวมุสลิมในเมืองเมกติลา (Meikhtila) ทางภาคกลางของประเทศ เธอก็ได้ออกมาพูดแสดงความคิดเห็นไปในทางปกป้องแก้ต่างให้แก่วิธีการรับสถานการณ์ของพวกกองกำลังความมั่นคงส่วนท้องถิ่น ทั้งๆ ที่มีหลักฐานซึ่งได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในเรื่องที่กองกำลังความมั่นคงอยู่นิ่งเฉยไม่ขยับเขยื้อนทำอะไรเลย ในเวลาที่พวกฝูงชนซึ่งมีการจัดตั้งจัดองค์กรกำลังดำเนินการเข่นฆ่าและวางเพลิง เป็นเวลาถึง 3 วันทีเดียวที่กองกำลังความมั่นคงปล่อยให้พวกแก๊งชาวพุทธติดอาวุธเที่ยวเผาอาคารต่างๆ ไปเกือบๆ 1,000 หลัง โดยมีทั้งมัสยิด, อาคารธุรกิจและบ้านพักอาศัยของชาวมุสลิม ในระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ภาษาพม่าหลายต่อหลายครั้ง ซู จี ได้กล่าวปกป้องการจงใจอยู่นิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไรของพวกกองกำลังความมั่นคงท้องถิ่น ด้วยการแก้ต่างให้พวกเขาว่าไม่ได้มีประสบการณ์ในการควบคุมการจลาจลภายใต้บริบทแห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยังเป็นของใหม่สำหรับประเทศนี้

ทั้งๆ ที่เธอกำลังรับหน้าที่เป็นประธานของคณะกรรมการสอบสวนกรณีการประท้วงและความรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นที่เหมืองแร่ทองแดงแห่งหนึ่งที่เป็นกิจการลงทุนของฝ่ายจีนกับฝ่ายทหารพม่าในบริเวณภาคกลางของประเทศ แต่ทัศนะความคิดเห็นที่ ซู จี แสดงออกมาเกี่ยวกับความรุนแรงต่อต้านมุสลิม กลับมองข้ามเรื่องที่ว่าในกรณีการประท้วงเหมืองทองแดงเมื่อไม่นานมานี้ กองกำลังความมั่นคงท้องถิ่นได้ใช้ระเบิดเพลิงที่บรรจุฟอสฟอรัสขาว มาเป็นอาวุธในการปราบปรามพวกผู้ประท้วงซึ่งเป็นผู้สูญเสียที่ดินของพวกเขาให้แก่โครงการเหมืองดังกล่าว ตลอดจนพวกพระภิกษุซึ่งให้การสนับสนุนในทางศีลธรรมต่อการชุมนุมประท้วงของชาวบ้าน นอกจากนั้นแล้ว แทนที่ ซู จี จะเดินทางไปเยี่ยมปลอบขวัญชาวมุสลิมที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในเมืองเมกติลาเมื่อเร็วๆ นี้ เธอกลับไปเข้าร่วมการตรวจพลสวนสนามประจำปีของฝ่ายทหารในวันที่ 27 มีนาคม โดยที่เธอยังได้แสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับพวกนายพลระดับสูงที่ติดเหรียญตราและสายสะพายโก้หรูอีกด้วย

ข่าวลือและความรุนแรงในช่วงหลังๆ นี้จะชักจูงให้มีคนออกมาเข้าร่วมการปฏิบัติการต่อต้านมุสลิมเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ? และข่าวลือเหล่านี้ซึ่งอ้างกันว่ามีการวางแผนการที่จะขยายศาสนาอิสลามในพม่านั้น มีต้นตอมาจากไหน ?

ข่าวลือนั้นถือเป็นเลือดเนื้อแห่งชีวิตทางวัฒนธรรมและชีวิตทางการเมืองในพม่าตลอดช่วง
เวลาราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาทีเดียว นั่นก็คือนับตั้งแต่ที่เหล่านายพลขึ้นครองอำนาจปกครองประเทศโดยปราศจากการเลือกตั้งและขาดไร้ซึ่งสื่อมวลชนมืออาชีพที่เป็นอิสระ สาธารณชนชาวพม่าก็เปรียบประดุจดังฟองน้ำที่คอยดูดซับพวกข่าวลือ, การใส่ร้ายป้ายสี, และคำบอกเล่าในลักษณะเหยียดเชื้อชาติ ที่ฝ่ายทหารปล่อยออกมาไม่ขาดสายจนกระทั่งชุ่มโชกทีเดียว แม้กระทั่งในปัจจุบันที่บอกกันว่าเป็นยุคใหม่แห่ง “นักปฏิรูป” สื่อมวลชนเสรีทั้งหลายในพม่าก็ยังมักแสดงทัศนะความรักชาติแบบใฝ่สงคราม (jingoism) รวมทั้งได้แสดงบทบาทอย่างสำคัญทีเดียวในการปลุกปั่นให้เกิดความชิงชังมุ่งต่อต้านมุสลิมและความหวาดผวาแบบนักชาตินิยมขึ้นมา

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งน่าที่จะทำให้ชาวมุสลิม (ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนประมาณ 4% ของประชากร 60 ล้านคนทั่วประเทศพม่า) ต้องรู้สึกอกสั่นขวัญผวา ก็คือ การที่ โฆษกประจำตัวคนหนึ่งของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งเป็นอดีตนายทหารยศพันตรี ชื่อ ซอว์ เท (Zaw Htay) หรือ มู ซอว์ (Hmu Zaw) ได้ทำตัวเป็นแหล่งที่มาสำคัญแหล่งหนึ่งของข่าวลือและการใส่ร้ายป้ายสีที่มีเนื้อหามุ่งต่อต้านมุสลิม ทั้งนี้ตั้งแต่ระลอกแรกของความรุนแรงที่มุ่งต่อต้านชาวโรฮิงญาในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วด้วยซ้ำ โดยปรากฏว่า ในหน้าเฟซบุ๊กของเขา อดีตพันตรีผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่สำนักประธานาธิบดีผู้นี้ ได้โพสต์ข้อความบรรทัดเดียวหลายๆ ข้อความทีเดียวซึ่งมีเนื้อหาเป็นการเติมเชื้อเพลิงโหมไฟแห่งความเกลียดชังและความหวาดกลัวเพื่อต่อต้านมุสลิม ตัวอย่างเช่น “เราเพิ่งได้รับข่าวว่ามีพวกผู้ก่อการร้ายมุสลิมติดอาวุธกลุ่มหนึ่งกำลังข้ามชายแดนพม่า-บังกลาเทศ เข้ามา โปรดติดตามต่อไป”

ในเวลาเดียวกันนั้น พวกสื่อมวลชนของรัฐก็ได้เผยแพร่บทความจำนวนมากที่มีเนื้อหาอันเป็นการบิดเบือนมุ่งต่อต้านมุสลิม และมีการใช้คำว่า “คาลาร์” (kalar) ซึ่งเป็นคำภาษาพม่าที่มีความหมายเหยียดหยามทำนองเดียวกับคำว่า “nigger” (“ไอ้มืด”) ในภาษาอังกฤษ ในเวลาพูดถึงชาวมุสลิมและผู้คนที่มีถิ่นกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย จากการที่หน่วยงานทางด้านความมั่นคงแห่งรัฐและทางด้านโฆษณาการทั้งหลาย ตลอดจนบุคคลผู้ทรงอิทธิพลในด้านวัฒนธรรมและในทางความคิดอุดมการณ์ทั้งหลาย ต่างกำลังทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียวในการเติมเชื้อเพลิงความชิงชังและความหวาดกลัวเพื่อมุ่งต่อต้านมุสลิมเช่นนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่มติมหาชนก็จะเดินตามไปในแนวทางเช่นนี้

ในทางวัฒนธรรมแล้ว พระภิกษุในพุทธศาสนาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในสังคมของชาวพม่า –มากเสียยิ่งกว่าพวกที่มีความคิดเห็นไม่เป็นไปในแนวเดียวกับทางการ ตลอดจนเหล่านายพลทั้งหลาย ส่วนในทางความคิดอุดมการณ์นั้น สาธารณชนที่เป็นพวกนักลัทธิเหยียดเชื้อชาติ มีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะยอมรับข่าวลือและคำบอกเล่าต่อต้านมุสลิมของรัฐบาลโดยดุษณี ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าถ้าหากเป็นกรณีอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาจะไม่เชื่อถือข่าวและคำบอกเล่าที่ออกมาจากรัฐบาลเลย

เป็นเรื่องยากลำบากสุดๆ ที่จะลากเส้นแบ่งระหว่างกิจกรรมและการโฆษณาต่อต้านมุสลิมของรัฐบาล กับกิจกรรมและการโฆษณาเหล่านี้ที่กระทำโดยพระสงฆ์ผู้ทรงอิทธิพล อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าสิ่งที่โพสต์กันบนเฟซบุ๊กซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านมุสลิมโดยที่มีภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของผู้ที่ถูกสังหารตลอดจนความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเมกติลาเมื่อเร็วๆ นี้นั้น มีผู้คนจำนวนนับพันๆ คนทีเดียวกด “ไลค์” อีกทั้งได้รับการชี้ชวนแสดงความเห็นชอบจากชาวเน็ตพม่า โดยที่พวกเขาไม่ได้รู้สึกต้องยับยั้งชั่งใจอะไรในการแสดงทัศนะแบบนาซีใหม่ของพวกเขาบนเวทีออนไลน์สาธารณะ

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้งระยะหลังๆ นี้ พระวีระธู ผู้นำของขบวนการ 969 พูดจาฟังดูเหมือนกับประณามการใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังอ้างด้วยว่าในหลายๆ กรณีทีเดียว เขาเป็นผู้ที่เข้าไปห้ามปรามการอาละวาดก่อเหตุของพวกก่อจลาจลต่อต้านมุสลิม เรื่องนี้บ่งบอกให้เห็นว่าเขากำลังปรับถ้อยคำโวหารของขบวนการของเขาให้อ่อนลง หรือว่าขบวนการ 969 ยังคงกำลังเรียกร้องให้กำจัดอิทธิพลของมุสลิมในพม่าให้หมดไปกันแน่ ?

ในเพจของเฟซบุ๊กภาษาพม่าของภิกษุรูปนี้ พระวีระธู ยังคงโพสต์ข้อความจำนวนมากที่ไม่ได้แสดงท่าทีปรองดองอะไรเลย ในตอนเช้าวันใดวันหนึ่ง ภิกษุรูปนี้อาจจะโพสต์ข้อความเกี่ยวกับขันติธรรมทางศาสนาและความเมตตากรุณา ขณะที่ในตอนบ่ายของวันเดียวกัน ภิกษุรูปนี้จะเขียนข้อความต่างๆ ที่เป็นการยั่วยุให้ต่อต้านมุสลิม เป็นต้นว่า การออกมาตักเตือกคัดค้าน “การบังคับให้ผู้หญิงพม่าที่แต่งงานเข้าไปอยู่ในครอบครัวชาวมุสลิม ต้องเปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลาม” และการบังคับให้เปลี่ยนชื่อของพวกเธอจากชื่อแบบพม่าเป็นชื่อแบบมุสลิมและอินเดีย

ดูจะเป็นไปไม่ได้หรอกที่ภิกษุนักเทศน์เฉกเช่นพระวีระธู ผู้ซึ่งเคยติดคุกจากการออกมาเคลื่อนไหวยุยงสาธารณชน จนส่งผลทำให้มีชาวมุสลิมครอบครัวหนึ่งเสียชีวิตกันหมดทั้งครอบครัวเมื่อมีผู้ก่อเหตุโจมตีชาวมุสลิมด้วยการวางเพลิงในเมืองเล็กๆ ชื่อ จ๊อก เซ (Kyauk Hse) เมื่อปี 2003 แล้วจู่ๆ จะเกิดความรู้สึกสำนึกเสียใจต่อคำพูดเผ็ดร้อนยั่วยุที่ได้เคยพูดออกไป จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ภิกษุรูปนี้ยังไม่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณของการสำนึกผิดหรือความเสียอกเสียใจเกี่ยวกับบทบาทของตนในความรุนแรงต่อต้านมุสลิมที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

เมื่อ 10 ปีก่อน พระวีระธู ยังคงบุคคลที่อยู่ชายขอบ และถูกมองว่ามีทัศนะต่อต้านมุสลิมแบบที่ไม่เหมือนกระแสหลักในสังคม ทว่ามาถึงเวลานี้ จากการผงาดขึ้นมาของแนวความคิดนาซีใหม่ที่ภาครัฐยินยอมปล่อยปละละเลย ภิกษุรูปนี้กำลังกลายเป็นเจ้าลัทธิผู้เที่ยวเร่ขายความเกลียดชัง และเป็นบุคคลที่สื่อระหว่างประเทศที่ไปเยือนต้องไปขอพบขอสัมภาษณ์ การที่พระนักเทศน์ซึ่งมีแนวคิดแบบนาซีใหม่ได้รับความนิยมชมชอบเช่นนี้ คือลางร้ายสำหรับอนาคตแห่ง “ระบอบประชาธิปไตย” ของพม่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งย่อมเป็นลางร้ายสำหรับชนกลุ่มน้อยในพม่าอย่างชาวมุสลิมและชาวโรฮิงญา

ชาวพม่าในท้องถิ่นที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ ต่างพากันสงสัยข้องใจมานานแล้วในเรื่องที่พระวีระธูมีการสมาคมอย่างใกล้ชิดและเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง กับเจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่บางคนซึ่งได้ชื่อว่าเจ้าเล่ห์แสนกลที่สุด ของระบอบปกครองก่อนหน้านี้ของพม่า เป็นต้นว่า ขิ่น ยุ้นต์ (Khin Nyunt) อดีตเจ้ากรมข่าวกรองทหาร และ อ่อง ตอง (Aung Thaung) อดีตพลจัตวาที่เป็นผู้นำคนปัจจุบันของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) ที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับฝ่ายทหาร สายสัมพันธ์ส่วนบุคคลเหล่านี้น่าจะอธิบายได้มากทีเดียวว่า ทำไมรัฐบาลเต็ง เส่ง จึงล้มเหลวไม่ได้ลงมือทำอะไรเสียที ในขณะที่กลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงเข้าเล่นงานสร้างความสูญเสียให้แก่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมของประเทศ

หม่อง ซาร์นี เป็นบล็อกเกอร์นักเคลื่อนไหวชาวพม่า (www.maungzarni.com) และเป็นนักวิจัยรับเชิญของหน่วยวิจัยภาคประชาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (Civil Society and Human Security Research Unit) ซึ่งสังกัดอยู่กับ ลอนดอน สคูล ออฟ อีโคโนมิกส์ (London School of Economics)
‘พม่า’ปล่อย‘ขบวนการต่อต้านมุสลิม’เคลื่อนไหวตามใจชอบ (ตอนแรก)
“ขบวนการ 969” กลุ่มหัวรุนแรงที่มีแรงจูงใจจากเรื่องเชื้อชาติ คือพวกที่เป็นแกนกลางในเหตุการณ์การสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อยที่สุด 40 คนและทำให้มีคนพลัดที่นาคาที่อยู่อีกประมาณ 12,000 คน กลุ่มดังกล่าวที่นำโดยพระภิกษุในพุทธศาสนานามว่า “วีระธู” (Wirathu) สามารถผงาดโดดเด่นขึ้นมาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร? เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีที่สุดก็ด้วยการมองผ่านบริบทแห่งการที่รัฐบาลพม่าตั้งแต่ในยุคที่เป็นระบอบปกครองเผด็จการทหาร ได้ตักตวงใช้ประโยชน์จากอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านมุสลิมในหมู่ชาวพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกันอย่างไรบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น