เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รู้เห็นเป็นใจกับการทรมานนักโทษในเรือนจำ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจริงแท้ชนิดที่ “ปฏิเสธไม่ได้” ผลการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอิสระซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (16) ระบุ
ผลการศึกษาซึ่งมีอดีตสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันเป็นตัวตั้งตัวตี พบว่า หน่วยข่าวกรองและทหารสหรัฐฯ มีการทรมานร่างกายผู้ต้องหา รวมถึงปฏิบัติอย่าง “ทารุณ, ไร้มนุษยธรรม และเสื่อมทราม” ต่อนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอัฟกานิสถาน, เรือนจำกวนตานาโมในคิวบา และสถานที่กักกันอื่นๆ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายสหรัฐฯ และกฎหมายระหว่างประเทศ
“เราได้ข้อสรุปที่น่าเสียใจและหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่า สหรัฐฯมีส่วนพัวพันกับพฤติกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นการทรมาน” เอซา ฮัตชินสัน ประธานคณะกรรมการผู้จัดทำรายงาน และอดีต ส.ส.รีพับลิกันในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เผย
รายงานซึ่งมีความยาว 577 หน้านี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร The Constitution Project และถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของหน่วยงานอิสระที่จะตรวจสอบและประเมินวิธีสอบสวนผู้ต้องหาของสหรัฐฯ ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาชี้ว่า เทคนิคการทารุณกรรมที่ใช้หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 นั้น ไม่ได้ช่วยให้สหรัฐฯได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ และออกจะเป็นเรื่องน่าอาย เพราะรัฐบาลสหรัฐฯในอดีตเคย “ประณาม” ชาติอื่นๆ ที่ใช้การทรมานเพื่อเค้นความจริงมาแล้ว
เจมส์ โจนส์ ประธานคณะกรรมการผู้จัดทำรายงาน ซึ่งเคยเป็นอดีต ส.ส.เดโมแครต และเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเม็กซิโกในรัฐบาลบิล คลินตัน ชี้ว่า การทรมานนักโทษถือว่าละเมิดค่านิยมของอเมริกา และ “บั่นทอนศักยภาพของสหรัฐฯในการที่จะสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก”
การทรมานผู้ต้องหาใช่ว่าสามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ “ผู้นำฝ่ายพลเรือนและทหารก็มักยินยอมให้ทำ” และยังสรุปเองเสร็จสรรพว่า ข้อบังคับในอนุสัญญาเจนีวาที่ให้ปฏิบัติต่อเหยื่อสงครามอย่างมีมนุษยธรรมนั้นไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มติดอาวุธตอลิบาน หรืออัลกออิดะห์ และซีไอเอก็สามารถใช้เทคนิคที่ป่าเถื่อนกับนักโทษที่มีค่าหัวสูงๆ ได้
รายงานยังเผยด้วยว่า เจ้าหน้าที่ในรัฐบาล บุช อนุญาตให้ซีไอเอทรมานนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ตาม “คุกลับ” ในต่างประเทศ เช่น ไทย, โปแลนด์, โรมาเนีย และลิทัวเนีย ซึ่งเป็นนโยบายที่สร้างความลำบากใจแก่รัฐบาลประเทศนั้นๆ
โดนัลด์ รัมสเฟล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯในขณะนั้น อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เรือนจำกวนตานาโมใช้กรรมวิธีที่โหดร้ายเพื่อสอบสวนนักโทษ เช่น อดอาหาร, ทรมานให้อยู่ในท่าผิดปกติเป็นเวลานาน (stress positions), บังคับให้เปลือยกาย, ปิดกั้นการรับรู้ (sensory deprivation) หรือใช้สุนัขข่มขู่ เป็นต้น ซึ่งต่อมาเทคนิคเหล่านี้ก็ถูกนำไปใช้กับนักโทษในอิรักด้วย
แม้เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นประวัติการทรมานนักโทษในยุคของบุช แต่ก็มีการอ้างถึงการส่งตัวนักโทษข้ามแดนในสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน รวมถึงตำหนิประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่มีนโยบายปิดบังชีวิตนักโทษในเรือนจำ และเก็บงำภารกิจโดรนในปากีสถานและเยเมนเป็นความลับสุดยอด
รายงานดังกล่าวยังเปรียบเทียบการทรมานนักโทษที่ถูกจับหลังเหตุการณ์ 9/11 กับการกักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
คณะกรรมการทั้ง 11 คนเรียกร้องให้วอชิงตันเปิดเผยข้อมูลซีไอเอและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการทรมานนักโทษ รวมถึงผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา ให้สาธารณชนตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังควรแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้ทนายของรัฐฉวยโอกาสโมเมว่า วิธีลงโทษที่ป่าเถื่อนบางอย่างไม่ถึงขั้น “ทรมาน”
ในส่วนของเรือนจำกวนตานาโมซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงว่าควรมีอยู่หรือไม่นั้น คณะกรรมการตรวจสอบเห็นตรงกันว่า การจับผู้ต้องหาขังลืมไว้อย่างไม่มีกำหนดเป็นสิ่งโหดร้าย และไม่อาจจะยอมรับได้