xs
xsm
sm
md
lg

“ภราดร” สัมภาษณ์รอยเตอร์ ยันไทยไม่เคยอนุญาต CIA ตั้งคุกลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - สื่อต่างประเทศอ้างคำสัมภาษณ์ของ พล.ท.ภราดร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันในวันพฤหัสบดี (11 ธ.ค.) ไทยไม่เคยอนุญาตให้สหรัฐฯใช้แผ่นดินสยามกักขัง หรือทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ขัดแย้งกับรายงานข่าวต่างๆ ที่ระบุว่า สำนักงานข่าวกรองกลางอเมริกา (ซีไอเอ) มีคุกลับอยู่ในประเทศไทย

รายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (9 ธ.ค.) เนื้อหากล่าวถึงพฤติการณ์ของซีไอเอ ในการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวภายหลังวินาศกรรม 9/11 โดยมีการสอบปากคำด้วยความโหดร้ายทารุณยิ่งกว่าที่เคยเปิดเผยออกมา ทั้งนี้โครงการของซีไอเอนี้มีการดำเนินการอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เป็นต้นว่า ไทย อัฟกานิสถาน โปแลนด์ และโรมาเนีย ซึ่งมันอาจก่อผลทางกฎหมายต่อรัฐบาลชาติต่างๆ และเหล่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

“เราไม่เคยอนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้พื้นที่ของเรากักขังหรือทรมานผู้ต้องสงสัย และไม่เคยได้รับการร้องขอใดๆ ด้วย” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เวลานี้ถูกโยกมานั่งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับรอยเตอร์

ในรายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุชื่อว่าประเทศไหนที่ซีไอเอใช้เป็นฐานทรมานผู้ต้องสงสัย ในนั้นรวมถึงนักโทษบางคนถูกรบกวนไม่ให้นอนเป็นเวลานานถึง 180 ชั่วโมง และตลอดระยะเวลานั้นถูกสวมกุญแจมือและชูมือเหนือศีรษะ รายงานยังระบุถึงวิธี “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” ซึ่งมีการมัดตัวปิดตาและเทน้ำใส่ผ้าที่ปิดใบหน้า ซึ่งทำให้ผู้ถูกทรมานมีความรู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำ ตลอดจนมีการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งรวมถึงการให้อาหารหรือน้ำทางรูทวารโดยไม่มีความจำเป็นด้านการแพทย์แต่อย่างใด และวิธีการต่างๆ เหล่านี้ทำให้นักโทษคนหนึ่งเสียชีวิตเนื่องจากอุณหภูมิร่างกายลดต่ำเกินไปขณะที่ยังถูกพันธนาการ และบางคนแขนขาหัก

รายงานของคณะกรรมาธิการยังกล่าวถึงคุกใต้ดินที่นักโทษถูกขังเดี่ยวในสภาพถูกใส่โซ่ตรวนและห้องขังมืดสนิท มีเสียงดังอึกทึก และต้องขับถ่ายในถัง หรือการบังคับให้นักโทษอยู่ในสภาพเปลือยกายตลอดเวลาและมือถูกสวมกุญแจชูขึ้นเหนือศีรษะ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรุงเทพฯ ย้ำถึงคำปฏิเสธว่าซีไอเอไม่มีคุกลับในไทย แม้สื่อมวลชนระหว่างประเทศหลายแห่งรายงานมานานว่าสำนักงานข่าวกรองกลางอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย “เรายืนยันว่าไม่มีคุกลับ” นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และอดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติกล่าว

ในรายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทของเจ้าหน้าที่ไทยในการจับกุมตัว “ฮัมบาลี” หัวหน้าผู้ก่อการร้ายของกลุ่มเจมาอาห์ อิสลามิยะห์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเดือนสิงหาคม 2003 โดยที่รายงานนำเสนอเรื่องนี้เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับ “การอภิปราย” ว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำการสอบสวนอย่างทารุณกับผู้ก่อการรายอีกคนหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าฮัมบาลีกำลังอาศัยอยู่ที่ไหน

ทั้งนี้ ในรายงานที่เผยแพร่คราวนี้ มีการเอ่ยถึงเซฟเฮาส์แห่งหนึ่งของซีไอเอในไทย ว่า เป็นสถานที่แห่งแรกซึ่งซีไอเอนำเอาวิธีทรมานแบบ “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” มาใช้กับนักโทษ 2 คนที่เป็นสมาชิกระดับสูงของอัลกออิดะห์ คนหนึ่งคือ อบู ซูบายดะห์ ที่เป็นผู้ประสานงานการติดต่อกับภายนอกและการสื่อสารกับต่างประเทศของเครือข่ายดังกล่าว

บางกอกโพสต์รายงานเมื่อวันพุธ (10 ธ.ค.) ได้ทราบมาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ในรายงานฉบับที่ไม่มีการตัดทอนของวุฒิสภาสหรัฐฯ นั้น มีการกล่าวอ้างว่า ซีไอเอเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ตั้งเซฟเฮาส์ของตน เนื่องจากสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานของสหรัฐฯแห่งนี้กับพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของไทย โดยที่นายกรัฐมนตรีทักษิณในเวลานั้น ไม่ได้รับการรายงานใดๆ จนกระทั่งหลังจากมีการนำเซฟเฮาส์ดังกล่าวมาใช้ในการปฏิบัติการจริงๆ แล้ว

บางกอกโพสต์บอกอีกว่า ตามรายงานฉบับไม่ตัดตอนนั้น กล่าวไว้ว่าทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้น คือ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และรองประธานาธิบดีในขณะนั้น คือ ดิก เชนีย์ ต่างทราบว่าเซฟเฮาส์ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ในไทย แต่ในฉบับตัดทอนที่นำออกเผยแพร่ไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ ในเรื่องความเกี่ยวข้องของรัฐบาลไทย ฝ่ายข่าวกรองของไทย หรือของฝ่ายทหารไทยเลย

รายงานของบางกอกโพสต์ชี้ว่า ตอนที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นช่วงที่ไทยกำลังให้ความช่วยเหลือสหรัฐฯ อย่างมุ่งมั่น รวมทั้งการส่งทหารไทยไปเข้าร่วมกับสหรัฐฯทั้งในอัฟกานิสถานและในอิรัก

หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยฉบับนี้อ้างคำพูดของแหล่งข่าวสหรัฐฯรายหนึ่งที่คุ้นเคยกับเนื้อหาของรายงานฉบับไม่ถูกเซนเซอร์ของวุฒิสภาอเมริกัน ซึ่งกล่าวว่า “ไทยเป็นฝ่ายเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือซีไอเอ” และเมื่อจำนวนผู้ต้องขังในกำมือของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น สหรัฐฯ จึงได้ไปจัดสถานที่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในโปแลนด์ ซึ่งได้ถูกนำมาใช้แทนเซฟเฮาส์แห่งนั้นในไทย และการทรมานนักโทษบนดินแดนไทยได้สิ้นสุดลง เมื่อสถานกักขังชั่วคราวแห่งนั้นถูกปิดลงในเดือนธันวาคม 2002 หรือเดือนมกราคม 2003


กำลังโหลดความคิดเห็น