เอเจนซีส์ - สหรัฐฯ ถูกตอกหน้าหงาย หลังคู่แค้นตลอดกาลอย่างจีนและอิหร่าน เข้าคิวประณามว่าเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล ต่อหน้าเทศนาชาติอื่นละเมิดสิทธิมนุษชน ลับหลังกลับทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายอย่างเหี้ยมโหด มิหนำซ้ำชาติพันธมิตร ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก ยังรุมกดดันให้นำตัวเจ้าหน้าที่ซีไอเอและเจ้าหน้าที่อาวุโสอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสอบปากคำมหาโหดมาดำเนินคดี
แม้เป็นที่ทราบกันอยู่ก่อนแล้วว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้ทำการทรมานผู้ต้องสงสัยที่เป็นสมาชิกอัล-กออิดะห์และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งถูกจับมาคุมขังอยู่ในคุกลับต่างๆ ภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน 2001 แต่รายละเอียดที่ปรากฏในรายงานฉบับเซ็นเซอร์ของคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันอังคาร (9 ธ.ค.) ยังคงทำให้ทั้งมิตรและศัตรูของสหรัฐฯ ปากอ้าตาค้างไปตามๆ กัน
ในวันพุธ (10) แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี วิพากษ์ว่า การละเมิดค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างรุนแรงแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้นอีก บ่งชี้ว่า พันธมิตรยุโรปลำบากใจกับพฤติกรรมของวอชิงตัน
ขณะที่ แคทเธอรีน เรย์ โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรป ยกย่องความโปร่งใสของรายงานของวุฒิสภาอเมริกัน แต่สำทับว่า รายงานดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
ทางด้านแดนมังกร มหาอำนาจและคู่แข่งขันรายสำคัญของอเมริกา หง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า อเมริกาควรแก้ไขพฤติกรรม เคารพและปฏิบัติตามกฎของอนุสัญญาระหว่างประเทศ
เช่นเดียวกัน อิหร่าน ปรปักษ์รายสำคัญของสหรัฐฯ ถือโอกาสนี้ตอกหน้าอเมริกา โดยในทวิตเตอร์ของอยาตอลลาห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของเตหะราน ได้ประกาศว่า อเมริกาเป็นสัญลักษณ์ของทรราชย์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่เฉพาะเรื่องโครงการทรมานนักโทษของซีไอเอนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ภายในประเทศ
กระทั่ง อัชรัฟ กอนี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอัฟกานิสถาน ที่วอชิงตันหวังว่าจะร่วมมือกันได้เพื่อให้การถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากประเทศดังกล่าวราบรื่นนั้น ก็ประกาศแสดงจุดยืนว่า ทางการคาบูลประณามการกระทำอันโหดร้ายทารุณด้วยถ้อยคำที่แข็งกร้าว
ทางด้านโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีคุกลับของซีไอเอตั้งอยู่ และนักโทษถูกพันธนาการ ข่มขู่ และล่วงละเมิดด้วยวิธีโหดเหี้ยมต่างๆ นั้น ได้แสดงความกระอักกระอ่วนใจกับรายงานที่เปิดเผยออกมา
อเล็กซานเดอร์ เควาสนิวสกี้ อดีตผู้นำโปแลนด์แถลงว่า ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2003 ได้เคยกดดันจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำอเมริกาในขณะนั้น ให้ยุติการทรมานนักโทษใน “คุกมืด” ซึ่งบุชเห็นดีด้วย และการดำเนินการดังกล่าวก็ยุติลง
อดีตผู้นำโปแลนด์ยังสำทับว่า ผู้ที่ละเมิดกฎหมายสากลที่ห้ามการทรมานนักโทษนั้น จะต้องถูกนำตัวมาดำเนินคดีตามความผิด
สหประชาชาติก็ขานรับว่า โครงการทรมานนักโทษของซีไอเอนั้นละเมิดกฎหมายสากลและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ขณะที่ “เคจ” กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอังกฤษ เรียกร้องให้ดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว
กระแสเสียงที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนทั่วโลก กำลังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้สั่งยุติแนวทางปฏิบัติดังกล่าวของซีไอเอในทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2009 ให้เดินหน้าดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรู้เห็นทั้งหมดนั้น ถือว่าแรงกล้าทีเดียว
อย่างไรก็ดี จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เคยแต่งตั้งอัยการพิเศษสอบสวนเรื่องนี้แล้วและไม่พบหลักฐานเพียงพอเอาผิดเจ้าหน้าที่คนใด
ทั้งนี้ รายงานที่ไดแอนน์ เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา นำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (9) สรุปว่า การทรมานนักโทษของซีไอเอโหดเหี้ยมกว่าที่องค์กรนี้เคยเปิดเผยต่อสาธารณชน อีกทั้งไร้ประสิทธิภาพและขาดการตรวจสอบควบคุม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ซีไอเอยังจงใจโป้ปดกับรัฐสภาและทำเนียบขาวเกี่ยวกับคุณค่าของข่าวกรองที่ผู้ดำเนินการสอบปากคำรวบรวมได้
ทว่า ดิ๊ก เชนีย์ รองประธานาธิบดีในสมัยบุช ให้สัมภาษณ์ทางเครือข่ายเอบีซีเมื่อวันพุธ โจมตีว่า รายงานของวุฒิสภาไร้สาระ พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่ซีไอเอทำเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตามล่าผู้ก่อวินาศกรรม 9/11 และป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอนาคต ซึ่งคณะบริหารของบุชทำสำเร็จทั้งสองส่วน
ขณะเดียวกัน เจมส์ มิตเชลล์ หนึ่งในนักจิตวิทยาที่ได้รับการว่าจ้างจากซีไอเอให้คิดค้นแผนการดังกล่าว ก็ออกมาโต้ตอบรายงานของวุฒิสภาอีกทาง
มิตเชลล์ระบุว่า รายงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่ไม่ยอมระบุเฉพาะเจาะจงว่า ผิดพลาดในส่วนใดโดยอ้างว่า ได้ทำข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลกับรัฐบาลไว้ พร้อมชี้ว่า รายงานมีอคติทางการเมืองแอบแฝงอยู่ เนื่องจากจัดทำโดยคณะกรรมาธิการที่พรรคเดโมแครตกุมเสียงข้างมาก และต้องการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เสื่อมเสีย
ทั้งนี้ ซีไอเอว่าจ้างมิตเชลล์ เจสเซน แอนด์ แอสโซซิเอต บริษัทที่ดำเนินการโดยอดีตนักจิตวิทยากองทัพอากาศ 2 คนคือ มิตเชลล์ และบรูซ เจสเซน ที่ต่างไม่มีประสบการณ์ในการสอบปากคำหรือการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นผู้ดูแลงานในโครงการสอบปากคำถึงราว 80% ในช่วงระหว่างปี 2005 จนถึง 2009 ที่โครงการนี้ถูกยกเลิก โดยจ่ายค่าจ้างให้ 80 ล้านดอลลาร์ และบริษัทแห่งนี้คือผู้ที่แนะนำให้ใช้สอบปากคำนักโทษที่จับตัวได้หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ด้วยวิธีมัดตัวปิดตากรอกน้ำใส่ใบหน้าให้รู้สึกเหมือนกำลังจมน้ำ, ตบหน้า, เอาตัวใส่โลงหลอกว่ากำลังถูกนำไปฝังทั้งเป็น