xs
xsm
sm
md
lg

‘หญิงกล้า’ลงเลือกตั้งในพื้นที่เสี่ยงของ‘ปากีสถาน’

เผยแพร่:   โดย: อัชฟัก ยูซุฟไซ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Daring woman enters Pakistani contest
By Ashfaq Yusufzai
10/04/2013

ผู้หญิงอายุ 40 ปีผู้หนึ่งตัดสินใจลงแข่งขันในการเลือกตั้งทั่วไปคราวนี้ของปากีสถาน โดยลงสมัครในเขตเลือกตั้งซึ่งสังกัดอยู่ใน “พื้นที่ชาวชนเผ่าที่ส่วนกลางบริหาร” (Federally Administered Tribal Areas) อันขึ้นชื่อลือชาเรื่องความคิดอนุรักษนิยมสุดขั้ว เท่าที่ผ่านมานั้น ผู้หญิงในอาณาบริเวณนี้อย่าว่าจะสมัครลงแข่งขันเลย แม้กระทั่งการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ยังไม่ค่อยปรากฏ ดังนั้นการตัดสินใจของเธอจึงเป็นการท้าทายแบบแผนประเพณีปฏิบัติแบบอิสลามเคร่งจารีตในพื้นที่ และการลงแข่งขันของเธอก็ก่อให้เกิดความหวังขึ้นมาว่า สักวันหนึ่งสภาพการไร้สิทธิไร้เสียงของผู้หญิงจะหมดสิ้นไปจากอาณาบริเวณชนเผ่าเหล่านี้ในที่สุด

เขตบาจาอูร์ เอเยนซี, ปากีสถาน – “แรงจูงใจเพียงประการเดียวของดิฉันก็คือเพื่อรับใช้ประชาชนของดิฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ซึ่งเท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ไม่ได้เคยมีบทบาทใดๆ ในเรื่องการเมืองเลย ดิฉันรู้สึกว่า พวกเราจะสามารถสร้างความก้าวหน้าขึ้นมาได้ ก็มีแต่จะต้องนำเอาผู้หญิงเข้าไปในการเมืองกระแสหลักเท่านั้น” เหล่านี้คือถ้อยคำของ บาดัม ซารี (Badam Zari) สตรีวัย 40 ปีผู้ยื่นเอกสารใบสมัครรับเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งปากีสถาน (Election Commission of Pakistan ใช้อักษรย่อว่า ECP) ซารีลงแข่งขันในเขตเลือกตั้งที่อยู่ในเขตบาจาอูร์ เอเยนซี (BAJAUR AGENCY) ซึ่งเกิดเหตุการณ์โจมตีของพวกหัวรุนแรงไม่หยุดหย่อน โดยที่ บาจาอูร์ เอเยนซี มีฐานะเป็น 1 ใน 7 อำเภอ ซึ่งสังกัดอยู่กับเขตการปกครองพิเศษที่มีชื่อว่า “พื้นที่ชาวชนเผ่าที่ส่วนกลางบริหาร” (Federally Administered Tribal Areas ใช้อักษรย่อว่า FATA) พื้นที่เขตการปกครองพิเศษนี้ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนอัฟกานิสถาน และประชากรแทบทั้งหมดเป็นชาวปัชตุน (Pushtun)

บ้านสีเขียวหลังเล็กๆ แต่โอ่โถงของ ซารี ในหมู่บ้านอารัง (Arang village) กำลังคึกคักไปด้วยกิจกรรม ในขณะที่ผู้หญิงจากย่านใกล้เคียงพากันเดินทางมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เพื่อแสดงความยินดีกับเธอ สำหรับความกล้าหาญอันน่ายกย่องเป็นแบบอย่างซึ่งเธอแสดงออกมาให้เห็นด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งคราวนี้

เท่าที่ผ่านมา บรรดาผู้หญิงในพื้นที่ FATA อย่าว่าแต่สมัครลงแข่งขันเลย แม้กระทั่งเพียงแค่การออกไปลงคะแนนเสียงก็ยังไม่ค่อยปรากฏ อันที่จริงแล้ว ประชากรผู้พำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ FATA เพิ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางให้ผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งและรับเลือกตั้ง ก็ในปี 1997 นี่เอง ก่อนหน้านั้น มีเพียงผู้อาวุโสไม่กี่คนที่เรียกกันว่า “มาลิก” (Malik) และมักถูกรัฐบาลครอบงำความคิดเท่านั้น ซึ่งมีสิทธิที่จะออกเสียงโหวตหรือลงสมัครในการเลือกตั้ง

ในเดือนมกราคมปีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งปากีสถาน ได้เสนอแนะให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายรัฐบัญญัติการเป็นตัวแทนของประชาชนปี 1976 (Representation of People Act, 1976) โดยให้บังคับเลยว่า หน่วยเลือกตั้งทุกๆ หน่วยจะต้องมีผู้หญิงไปหย่อนบัตรเลือกตั้งคิดเป็นจำนวนอย่างน้อยที่สุด 10%ของบัตรลงคะแนนทั้งหมด ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งปากีสถาน ไปไกลถึงขนาดแนะนำว่าหากหน่วยเลือกตั้งใดไม่มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้แล้ว ก็ไม่ให้นำเอาบัตรลงคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งนั้นมานับกันทีเดียว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจใยดีอะไรกับคำแนะนำนี้

“ดิฉันมีความวิตกห่วงใยเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับผู้หญิงชาวชนเผ่า พวกเธอส่วนใหญ่ที่สุดต้องอยู่แต่ภายในบ้านของพวกเธอเอง ซึ่งเป็นการกีดกันพวกเธอไม่ให้สามารถสร้างความก้าวหน้าอะไรขึ้นมาได้” ซารี บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) “ความทะเยอทะยานเพียงอย่างเดียวของดิฉันก็คือจะต้องต่อสู้เพื่อการปรับปรุงยกระดับเงื่อนไขสภาวการณ์ต่างๆ ของผู้หญิงในเขตบาจาอูร์ เอเยนซี ผู้หญิงที่นี่กำลังได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน โดยที่ไม่เคยมีสมาชิกรัฐสภาใน FATA คนไหนเลยที่ทำงานเพื่อทำให้พวกเธอก้าวไปสู่การพัฒนา”

จากการกระทำของเธอคราวนี้ เธอแน่ใจว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้หญิงเดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งในวันลงคะแนนและโหวตให้แก่เธอ

อย่างไรก็ตาม สิ่งบ่งชี้ต่างๆ ที่ปรากฏออกมาในเวลานี้ดูจะเป็นไปในทางที่ว่าผู้หญิงทั้งหลายยังจะอยู่ในสภาพไร้สิทธิไร้เสียงต่อไปอีก ไม่ใช่เฉพาะเพียงในพื้นที่ FATA เท่านั้น หากแต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทั่วประเทศปากีสถานทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ชนบทที่ซึ่งผู้คนยังคงลังเลที่จะอนุญาตให้ผู้หญิงไปหย่อนบัตรเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่ามันจะเป็นการผิดประเพณีที่เคยยึดถือกันมา

เครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Election Network) ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐบาล (NGO) ในปากีสถาน ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2008 ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิออกเสียงในหน่วยเลือกตั้งจำนวน 564 หน่วย จากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ 64,176 หน่วย ทั้งนี้พวกพรรคการเมืองท้องถิ่นในอำเภอ ดีร์ (Dir), โคฮิสถาน (Kohistan), บัตตากรัม (Battagram) และอำเภออื่นๆ ของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา (Khyber Pakhtunkhwa) ซึ่งอยู่ติดต่อกับพื้นที่ FATA และมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปัชตุนเช่นเดียวกัน ได้มีมติห้ามผู้หญิงไม่ให้ไปลงคะแนนโดยอ้างเหตุผลเรื่องประเพณีของท้องถิ่น

ตัวเลขข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ปากีสถานมีผู้มีสิทธิออกเสียงชายมาลงทะเบียนมากกว่า 48 ล้านคน ขณะที่ผู้มีสิทธิออกเสียงหญิงมาลงทะเบียนเพียงแค่ 37 ล้านคนเศษๆ เท่านั้น เฉพาะในพื้นที่ FATA ซึ่งมีประชากรผู้มีสิทธิมาจดทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 1,749,331 คน ปรากฏว่าเป็นชาย 1,153,073 คน และเป็นหญิงเพียง 596,258 คน ส่วนในบาจาอูร์ เอเยนซี ผู้มีสิทธิออกเสียงที่เป็นสตรีซึ่งจดทะเบียนไว้มี 132,134 คนจากประชากรผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 355,969 คน

สถิติตัวเลขเหล่านี้เป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมการที่ ซารี ตัดสินใจลงแข่งขันรับเลือกตั้ง จึงทั้งกลายเป็นเรื่องที่ไม่เกิดปรากฏขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน และทั้งเป็นจังหวะก้าวอันสำคัญยิ่งในการปลดปล่อยผู้หญิงในพื้นที่แถบนี้ให้เป็นอิสระ “ในพื้นที่ FATA เท่าที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เรียกได้ว่าไม่มีผู้หญิงออกไปที่หน่วยเลือกตั้งในวันลงคะแนนกันเลย” ศาสตราจารย์ ซาห์รา ชาห์ (Zahra Shah) แห่งภาควิชาสังคมวิทยา ของมหาวิทยาลัยเปชาวาร์ (University of Peshawar) บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “การที่ ซารี ตัดสินใจกระโจนลงมาแข่งขันเช่นนี้ จึงน่าที่จะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เมื่อดูจากความห้าวหาญและความกล้าที่เธอแสดงออกมาให้เห็น”

ซารี ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมปีที่ 2 เธอแต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร กระนั้นเธอก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานในเรื่องการศึกษาสำหรับเด็กๆ ซึ่งอยู่ในท้องที่ของเธอ และช่วยเหลือพวกเขาให้สามารถมีบทบาทในการพัฒนา

ซารี บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสว่า เธอไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลยที่มีพวกคนร่ำรวยและพวกมีอิทธิพลลงแข่งขันในการเลือกตั้ง เธอมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำให้ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียงอยู่ในสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly ซึ่งก็คือสภาล่างของรัฐสภาปากีสถาน)

เธอได้รับการสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่จากสามีของเธอ สุลต่าน ข่าน (Sultan Khan) ผู้มีอาชีพเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลและวิทยาลัยของบาจาอูร์ ข่านบอกว่าเขาจะต่อสู้ร่วมกับภรรยาเพื่อการพัฒนาของผู้หญิง

“ถึงแม้เราจะยากจน แต่เราก็มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะรณรงค์หาเสียงกันอย่างเต็มที่และทุ่มเทใช้ความพยายามเพื่อให้ได้ชัยชนะ ถ้าหาก ซารี ชนะก็ย่อมหมายถึงชัยชนะของผู้หญิงทั้งหมดของ FATA ด้วยนั่นเอง” เขากล่าว “มีแรงบีบคั้นมากมายมหาศาลเหลือเกินเพื่อให้พวกเราจัดการให้เธอถอนตัวจากการลงเลือกตั้ง แต่เราไม่มีวันหันหลังกลับหรอก เราจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งในสภาพที่เตรียมพร้อมที่สุด”

ซารี ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างมากจากผู้หญิงอื่นๆ ในพื้นที่นี้ “พวกเราจะสนับสนุนเธอ เพราะเธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถรวบรวมความกล้าหาญชนิดยากที่ใครจะทำได้ เธอสมควรที่จะได้รับความสนับสนุนจากพวกเราอย่างแน่วแน่มั่นคง” จามิลา บิบี (Jamila Bibi) บอกกับสำนักข่าวไอพีเอส เธอพูดเช่นนี้จากเขตเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เอ็นเอ-44 บาจาอูร์-2 (NA-44 Bajaur-II) ซึ่งเป็นเขตที่ ซารี ลงแข่งขัน

“ดิฉันยังหวังด้วยว่าพวกผู้ชายก็จะให้การสนับสนุนเธอเหมือนกัน” เธอกล่าว “เราวางแผนจะไปเยี่ยมบ้านผู้มีสิทธิออกเสียงทุกๆ หลังเลยเพื่อหาเสียงให้ ซารี เธอเป็นเหมือนแสงสว่างแห่งความหวังของพวกเรา”

ซารีไม่ถึงกับโดดเดี่ยวเดียวดายในการกระทำอันกล้าหาญของเธอคราวนี้ ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ได้แก่ นัสรัต เบกุม (Nusrat Begum) ซึ่งยื่นเอกสารสมัครเข้าแข่งขันเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ด้วย โดยเธอลงในเขตเลือกตั้ง เอ็นเอ-34 (NA-34) ซึ่งอยู่ในอำเภอโลเวอร์ ดีร์ (Lower Dir) ของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ที่อยู่ใกล้ๆ กัน และก็ได้รับความยกย่องสนับสนุนจากบรรดาผู้หญิงในท้องที่เช่นเดียวกัน

บากุม เวลานี้อายุ 28 ปี เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเปชาวาร์ และก็กลายเป็นผู้หญิงคนแรกในโลเวอร์ ดีร์ เช่นเดียวกัน ที่มีความกล้าหาญประกาศตัวลงแข่งขันในการเลือกตั้ง

ทั้ง ซารี และ บากุม ต่างลงแข่งขันในการเลือกตั้งคราวนี้ในฐานะเป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองใด

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น