xs
xsm
sm
md
lg

ประท้วงใหญ่กลางเมืองหลวงปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์, ดีโชว์ค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Islamabad lacks Tahrir Square focus
By Syed Fazl-e-Haider
15/01/2013

อิหม่าม ตอฮีร์ อุล กอดรี (Tahir ul Qadri) กำลังประกาศ “ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” ในปากีสถาน ขณะที่พวกผู้สนับสนุนเขาจำนวนหลายหมื่นคนได้เข้าไปยึดบริเวณใจกลางเขตบริหารของประเทศในกรุงอิสลามาบัดเอาไว้ ภายหลังเดินขบวนระยะทางไกลเพื่อแสดงการต่อต้านคัดค้านชนชั้นปกครอง นอกเหนือจากข้อเรียกร้องต่างๆ แล้ว เห็นได้ชัดว่านักการศาสนาอิสลามคนดังผู้นี้ยังมีแผนการลอกเลียนนำเอาการชุมนุมที่จัตุรัสตอห์รีร์ กลางกรุงไคโร ซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์รวมแห่งการปฏิวัติ “อาหรับสปริง” ของอียิปต์ มาบ่มเพาะปลูกสร้างขึ้นที่เมืองหลวงของปากีสถาน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างอียิปต์กับปากีสถานแล้ว ก็พบความแตกต่างกันอย่างมากมายทีเดียว

การาจี, ปากีสถาน – กรุงอิสลามาบัด ถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นเสมือนจัตุรัสตอห์รีร์ (Tahrir Square) อีกแห่งหนึ่งในคืนวันจันทร์ (14 ม.ค.) ที่ผ่านมา ขณะที่พวกผู้ประท้วงชาวปากีสถานจำนวนหลายหมื่นคน พากันตะโกนคำขวัญเรียกร้องการปฏิรูปดังก้องเมื่อเคลื่อนเข้าไปในเขตเมืองหลวง ภายหลังการเดินขบวนระยะทางไกลที่ใช้เวลาถึง 36 ชั่วโมงจากเมืองละฮอร์ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศ ผู้นำของพวกเขา ซึ่งคือ ดร.ตอฮีร์ อุล กอดรี (Tahir ul Qadri) นักการศาสนาที่เป็นผู้นำขององค์การการกุศลแบบอิสลามที่มีชื่อว่า เตห์ริก-ไอ-มินฮาจุล กุรอาน (Tehrik-i-Minhajul Quran) ยื่นข้อเรียกร้องให้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของปากีสถาน สั่งยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนสภานิติบัญญัติประจำแคว้นของทั้ง 4 แคว้นของประเทศภายในเช้าวันรุ่งขึ้น

“การเดินขบวนสิ้นสุดลงแล้ว และการปฏิรูปเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงแล้ว” กอดรี ประกาศในระหว่างการปราศรัย ขณะที่พวกผู้เดินขบวนชุมนุมกันอยู่ในกรุงอิสลามาบัด

กอดรี ยื่นคำขาดให้เวลารัฐบาลเพียงแค่ 5 นาที เพื่อยินยอมให้กลุ่มผู้เดินขบวนของเขา เคลื่อนย้ายเวทีไปยังย่าน ดี-โชว์ค (D-Chowk) ตรงด้านหน้าของอาคารรัฐสภา และรัฐบาลก็ถูกบังคับให้ต้องยอมรับข้อเรียกร้องของเขาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะกัน หลังจากที่ผู้เดินขบวนจำนวนนับหมื่นเริ่มต้นเคลื่อนย้ายรื้อถอนเครื่องกีดขวางทุกๆ อย่างบนเส้นทางมุ่งสู่อาคารที่ทำการฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ

ภายใต้ข้อตกลงก่อนหน้านี้ระหว่างคณะผู้บริหารอิสลามาบัดกับกอดรี ผู้ประท้วงจะไปชุมนุมประท้วงกันที่ถนนจินนาห์ (Jinnah Avenue) แต่แล้ว กอดรี กลับขอให้พวกเดินขบวนเคลื่อนย้ายไปยัง ดี-โชว์ค อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวอย่างสูงและได้รับการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของสถานทูตต่างๆ, อาคารรัฐสภา, ทำเนียบพำนักอาศัยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีและของนายกรัฐมนตรี, และอาคารศาลสูงสุดของปากีสถาน มันเป็นสถานที่ซึ่ง กอดรี เลือกสรรขึ้นมาสำหรับบ่มเพาะปลูกสร้างจิตวิญญาณแห่งจัตุรัสตอห์รีร์ (Tahrir Square) จุดศูนย์รวมสำหรับการปฏิวัติ “อาหรับ สปริง” ในกรุงไคโร ซึ่งได้โค่นล้มระบอบปกครองของอียิปต์ลงไปในปี 2011

ก่อนหน้านี้ การชุมนุมประท้วงของพวกผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชิอะห์ตลอดทั่วประเทศ ในกรณีการสังหารเข่นฆ่าที่พุ่งเป้าเล่นงานชุมชนชาวฮาซารา (Hazara)[1] ในนครแควตตา (Quetta) เมืองใหญ่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถาน ก็ได้บังคับให้รัฐบาลกลางต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขาเมื่อวันจันทร์ (14 ม.ค.) ด้วยการยุบรัฐบาลท้องถิ่นแคว้นบาลูจิสถาน (Balochistan) ของมุขมนตรี (chief minister) อัสลาม ไรซานี (Aslam Raisani) แล้วประกาศใช้อำนาจการปกครองของผู้ว่าการแคว้น (governor rule)[2] การเรียกร้องต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคราวนี้บังเกิดขึ้น ในขณะที่รัฐบาลกลางที่นำโดยพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People's Party หรือ PPP) กำลังจะกลายเป็นคณะรัฐบาลชุดแรกที่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 5 ปีในเดือนมีนาคมนี้

สองวันก่อนการเดินขบวนเข้าสู่กรุงอิสลามาบัด กอดรี ซึ่งเป็นคนสัญชาติแคนาดาเชื้อสายปากีสถาน ได้เรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งปากีสถาน (Election Commission of Pakistan) ชุดปัจจุบัน แล้วแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความยุติธรรมไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่จากการแสดงความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนพื้นที่ศูนย์กลางการบริหารปกครองของอิสลามาบัด ให้กลายเป็นจัตุรัสตอห์รีร์อีกแห่งหนึ่ง มันก็เท่ากับว่ากอรีกำลังวางตนเป็นผู้นำการปฏิวัติมาสู่ปากีสถานตามโมเดลของชาวอียิปต์

ขณะกล่าวปราศรัยต่อประชาชนอันมากมายมหาศาลถึงราวครึ่งล้านคนที่มาชุมนุมกันในเมืองละฮอร์ เมื่อตอนที่เขาเดินทางจากแคนาดามาถึงปากีสถานในวันที่ 23 ธันวาคม กอดรี ผู้มีอำนาจบารมีดึงดูดใจคน ประกาศขีดเส้นตายให้เวลารัฐบาลจนกระทั่งถึงวันที่ 10 มกราคม ในการจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่มือสะอาดและน่าเชื่อถือขึ้นมา โดยทำการปรึกษาหารือกับฝ่ายทหาร, ศาลยุติธรรม, และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ แล้วให้คณะรัฐบาลชั่วคราวนี้เป็นผู้ดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ตลอดจนไล่เรียงเอาผิดอย่างไม่เห็นแก่หน้าใครกับพวกชนชั้นปกครองที่ทุจริตฉ้อฉล

เขายังประกาศความตั้งใจของเขาที่จะเดินขบวนระยะไกลจากละฮอร์สู่เมืองหลวง และเปลี่ยนกรุงอิสลามาบัดให้กลายเป็นจัตุรัสตอห์รีร์ จนกว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ของเขาจะบรรลุผลทั้งตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์

“เราจะอยู่กันในอิสลามาบัดจนกระทั่งรัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลง, สภานิติบัญญัติทั้งหมดถูกยุบเลิก, คนโกงฉ้อฉลทั้งหมดถูกไล่ออกไปอย่างสิ้นเชิง, มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ยุติธรรม, มีการบังคับใช้หลักนิติธรรมหลักนิติรัฐ, และมีการบังคับใช้ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องแท้จริง” สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างคำปราศรัยของ กอดรี

ทำนองเดียวกับในอียิปต์ ภาวะเงินเฟ้อและระดับความยากจนที่พุ่งพรวดกำลังกลายเป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงความไม่สงบในปากีสถาน ทว่าสิ่งที่แตกต่างไปจากอียิปต์ก็คือ ปากีสถานนั้นมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง, รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง, สื่อมวลชนที่มีอิสระ, และระบบศาลยุติธรรมที่ทรงอำนาจ ถ้าหาก กอดรี ต้องการให้อิสลามาบัดกลายเป็นจัตุรัสตอห์รีร์อีกแห่งหนึ่ง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ซึ่งที่นั่นเป็นการต่อต้านคัดค้านระบอบปกครองแบบเผด็จการรวมอำนาจของ ฮอสนี มูบารัก (Hosni Mubarak) แล้ว เขาก็กำลังละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ในปากีสถานนั้นไม่ได้มีบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกับอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก สำหรับเป็นศูนย์รวมเพื่อการประท้วงคัดค้านเอาเลย

ปากีสถานสุกงอมแล้วจริงๆ สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ทำนองเดียวกับที่สั่นสะเทือนสะท้านอียิปต์ในปี 2011 กระนั้นหรือ? การทุจริตคอร์รัปชั่น, ธรรมาภิบาลอันเลวร้าย, ระดับความยากจนที่พุ่งพรวด, และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทะยานลิ่ว จักสามารถจริงๆ หรือที่จะนำไปสู่การระเบิดเปรี้ยงป้างอย่างเป็นไปเองของประชาชนผู้โกรธกริ้วรัฐบาล โดยที่รัฐบาลดังกล่าวแม้ไม่เป็นที่นิยมชมชื่น ทว่าวาระการดำรงตำแหน่งของพวกเขาก็กำลังจะหมดไปในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้แล้ว?

“วาระของพวกเรามีเพียงเรื่องการปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานคำพูดของ กอดรี “เราไม่ต้องการให้พวกที่ละเมิดกฎหมายกลายมาเป็นสมาชิกรัฐสภา กลายมาเป็นผู้ร่างกฎหมายของพวกเรา”

การเดินขบวนระยะไกลของ กอดรี โหมกระพือกระแสร่ำลือคาดเก็งแบบทฤษฎีสมคบคิดขึ้นในปากีสถาน ในช่วงเวลาไม่นานก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งตามกำหนดแล้วจะต้องจัดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายนนี้ พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขาจำนวนไม่น้อยพูดกันว่า เขาถูกหนุนหลังถูกใช้โดยฝ่ายทหารที่ยังคงทรงอำนาจมากของประเทศ เพื่อให้เป็นตัวแทนในการชะลอการเลือกตั้งและทำให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดความเรรวน ฝ่ายทหารนั้นต้องการที่จะให้มีรัฐบาลชั่วคราวที่ผ่านการคัดสรรของฝ่ายต่างๆ ขึ้นครองอำนาจอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งก็คือโมเดลที่เคยใช้กันอยู่ในบังกลาเทศนั่นเอง

คณะรัฐบาลชั่วคราวดังกล่าวนี้ จะประกอบด้วยพวกเทคโนแครตซึ่งจะได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ให้ทำการปฏิรูประบบการบริหารปกครองประเทศ ตลอดจนทำให้ระบบเศรษฐกิจที่อ่อนปวกของประเทศกลับฟื้นตัวเข้าร่องเข้ารอย อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองของปากีสถาน เต็มไปด้วยบทพิสูจน์ที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นความผิดพลาดที่จะปล่อยให้ฝ่ายทหารเดินหน้าทำการสุ่มเสี่ยงและทำการทดลองต่างๆ เช่นนี้ ประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาบ่งบอกว่ามันจะไม่นำปากีสถานไปสู่ความสำเร็จ หากแต่กลายเป็นความหายนะของประเทศเท่านั้น

เดลิไทมส์ (Daily Times) หนังสือพิมพ์ชั้นนำของปากีสถาน ฉบับเมื่อไม่กี่วันมานี้ เสนอบทวิจารณ์ซึ่งน่าสนใจเอาไว้ดังนี้:

“ขณะที่ ดร.กอดรี อธิบายอย่างยาวเหยียดทีเดียวเพื่อที่จะปฏิเสธข้อเสนอแนะใดๆ ที่ว่า เขากำลังถูกยุยงหรือกำลังได้รับความสนับสนุนจากองค์การลับใดๆ หรือจากกลุ่มผู้ทรงอำนาจ แต่กระนั้นผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ก็ยังคงสงสัยข้องใจในความคล้ายคลึงกันอย่างมากระหว่างวาระที่นำเสนอออกมาต่อภายนอกของ ดร.กอดรี กับแนวความคิดที่ลือกันว่ากลุ่มผู้ทรงอำนาจกำลังชื่นชมกันอยู่ นั้นคือ การชะลอการเลือกตั้งออกไป ถ้าหากไม่ถึงกับการยกเลิกการเลือกตั้งไปเลย แล้วหันมาจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่ผ่านการคัดสรรกลั่นกรอง เข้าปกครองประเทศเป็นระยะเวลาที่ดูจะยังไม่มีความแน่นอน (โมเดลแบบบังกลาเทศที่ได้รับการดัดแปลงให้เข้ากับสภาพอันแปลกประหลาดเฉพาะของเราใช่ไหม?) ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดอะไรให้ยาวไปกว่านี้เลย เพราะเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของเราแล้ว การสุ่มเสี่ยงดังกล่าวจะต้องเป็นความหายนะอย่างร้ายแรงแน่นอน”

ในปัจจุบัน ปากีสถานไม่ได้มีการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจ ชนิดเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในอียิปต์เมื่อตอนที่การประท้วง ณ จัตุรัสตอห์รีร์ บีบคับให้ประธานาธิบดีมูบารักต้องลงจากตำแหน่งไป ขณะที่เมื่อปี 1999 ตอนที่ กอดรี สนับสนุนคณะรัฐบาลทหารของ พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ (Pervez Musharraf) และตัวเขาชนะได้ที่นั่งรัฐสภาในการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริตของปี 2002 พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เขาจึงเรียกวาระของกอดรีว่าเป็น “การหยุดชะงักระบอบประชาธิปไตย” ในปากีสถาน ซึ่งกองทัพเข้าเป็นผู้ปกครองอยู่ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศนี้

ปัจจุบันนโยบายทางด้านความมั่นคงและนโยบายการต่างประเทศของปากีสถาน ยังคงถูกครอบงำโดยฝ่ายทหาร และมันย่อมเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย ถ้าหากจะมีรัฐบาลพลเรือนใดๆ กล้าท้าทายกลุ่มผู้มีอำนาจทางด้านความมั่นคง ด้วยการหันไปใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป เมื่อเป็นประเด็นซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการต่างประเทศหรือความมั่นคงแห่งชาติ

การเปลี่ยนอิสลามาบัดให้กลับเป็นจัตุรัสตอห์รีร์อีกแห่งหนึ่งนั้น จะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องอะไรขึ้นมาบ้าง? ปากีสถานน่าที่จะจมลึกลงไปในวิกฤตทางการเมืองมากกว่าเดิมเท่านั้นเอง

การที่ประเทศซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ มีพรมแดนติดกับอัฟกานิสถาน และมีที่มั่นของพวกหัวรุนแรงตอลิบานหลายต่อหลายแห่ง กำลังทำท่าบ่ายหน้าไปสู่ภาวะอนาธิปไตยทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้นานาชาติบังเกิดความวิตกกังวล มันคงจะเป็นการถอยหลังครั้งใหญ่ทีเดียวสำหรับสงครามที่นำโดยสหรัฐฯซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะปราบปรามกวาดล้างพวกอิสลามิสต์สุดโต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อช่วงเวลาแห่งการปิดฉากสงครามอัฟกานิสถาน กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอยู่แล้ว

**หมายเหตุผู้แปล**
[1] ชาวฮาซารา (Hazara) เป็นพวกพูดภาษาเปอร์เซียซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตอนกลางอัฟกานิสถานและภาคตะวันตกของปากีสถาน เกือบทั้งหมดเป็นมุสลิมนิกายชิอะห์ –ข้อมูลจาก Wikipedia
[2] อำนาจการปกครองของผู้ว่าการแคว้น (governor rule) ในปากีสถานนั้น ผู้ว่าการแคว้น ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีของประเทศ คือประมุขของแคว้น แต่ถือเป็นตำแหน่งเกียรติยศ โดยอำนาจการบริหารปกครองแท้จริงเป็นของมุขมนตรีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็จะมีการถอดมุขมนตรีและยุบสภานิติบัญญัติแห่งแคว้น แล้วผู้ว่าการแคว้นเข้าเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารปกครองแทน –ข้อมูลจาก Wikipedia

ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์ ( www.syedfazlehaider.com ) เป็นนักวิเคราะห์ทางด้านการพัฒนาในปากีสถาน เขาเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม เป็นต้นว่าเรื่อง The Economic Development of Balochistan ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2004 สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sfazlehaider05@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น