xs
xsm
sm
md
lg

‘ศาล-กองทัพ-การเมือง’รุมเล่นงานประธานาธิบดีปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Arrest order piles pressure on Zardari
By Syed Fazl-e-Haider 16/01/2013

ศาลสูงสุดปากีสถานออกคำสั่งให้จับกุมนายกรัฐมนตรี ราจา เปอร์วาอิซ อัชรัฟ ในเวลาเดียวกับที่ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนก็เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้แก่ทฤษฎีที่ว่า กระแสกระหน่ำโจมตีแบบ 3 หัวหอกที่หนุนหลังโดยแวดวงยุติธรรม, กองทัพ, และกลุ่มพลังทางการเมือง กำลังพยายามหาทางโค่นล้มประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ลงไปให้ได้ ทั้งนี้จากการแสดงบทบาทเป็นผู้นำในคราวนี้ ฝ่ายตุลาการก็กำลังกลายเป็นผู้คุกคามระบอบประชาธิปไตยที่ตนเองให้สัตย์สาบานว่าจะปกปักรักษา

การาจี, ปากีสถาน – ปากีสถานจ่อมจมลงสู่ภาวะปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองเมื่อวันอังคาร (15 ม.ค.) ที่ผ่านมา หลังจากศาลสูงสุดตัดสินให้ออกคำสั่งจับกุมตัว ราจา เปอร์วาอิซ อัชรัฟ (Raja Pervaiz Ashraf) ผู้เพิ่งขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วนี้เอง ด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น ยูซัฟ ราซา กิลานี (Yousaf Raza Gilani) นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าเขา ก็ถูกบังคับให้ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง จากคำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งนี้นี่เอง แต่ด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล

จังหวะเวลาในการเคลื่อนไหวของศาลสูงสุดคราวนี้ ได้กลายเป็นการเพิ่มแรงบีบคั้นกดดันต่อรัฐบาลของอัชรัฟ ผู้ซึ่งยังกำลังถูกเรียกร้องให้ลาออกโดย ตอฮีร์ อุล กอดรี (Tahir ul Qadri) อิหม่าม-ศาสตราจารย์ สัญชาติแคนาดาเชื้อสายปากีสถาน ที่กำลังนำผู้ประท้วงหลายหมื่นคนเดินขบวนระยะทางไกล เข้ามาชุมนุมกันอยู่ในเมืองหลวงเวลานี้ กลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนเหล่านี้ยังเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ซึ่งตามกำหนดแล้วจะต้องจัดขึ้นก่อนวันที่ 17 พฤษภาคม

ขบวนการมวลชนของ กอดรี เรียกร้องว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันต้องออกจากตำแหน่งไป แล้วจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่มีความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการเลือกตั้ง โดยที่เขาบอกด้วยว่า กองทัพจะต้องมีสิทธิมีส่วนในการกำหนดองค์ประกอบของรัฐบาลชั่วคราวดังกล่าวนี้ นอกจากนั้น ภาระหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราวคณะนี้ ยังได้แก่การกวาดล้างทำความสะอาดระบบการเมือง ด้วยการดำเนินการเพิกถอนสิทธิของพวกนักการเมืองที่มีพฤติการณ์ “เป็นอาชญากร”

ด้วยอาการโซซัดโซเซจากการถูกรุกโจมตีหนักถึง 2 แนวรบพร้อมๆ กันเช่นนี้ มีรายงานระบุว่าประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) กำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่จะนำมาใช้รับมือ รวมทั้งการเปลี่ยนคณะผู้นำภายในกลุ่มของเขา

ในคำสั่งของศาลสูงสุด ได้ให้เวลาเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในการเข้าจับกุมนายกรัฐมนตรีอัชรัฟพร้อมด้วยบุคคลอื่นๆ อีก 16 คนที่เกี่ยวข้องพัวพันการทุจริตในโครงการโรงไฟฟ้าให้เช่า (rental power projects หรือ RPP) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดค่อนข้างเล็กที่สามารถสร้างขึ้นมาได้รวดเร็วกว่าโรงไฟฟ้าถาวร แล้วนำมาให้รัฐบาลเช่า จะได้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรีบด่วน เพื่อเป็นวิธีการระยะสั้นในการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาไฟฟ้าไม่พอเพียงและต้องมีการดับไฟฟ้าอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้ว่ากันว่า สำนักงานตรวจสอบแห่งชาติ (National Accountability Bureau หรือ NAB) คือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบ ถ้าหากผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้เกิดหลบหนีไป

พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ตั้งฉายาให้นายกรัฐมนตรีราจา เปอร์วาอิซ อัชรัฟ มานานแล้วว่า “จอมเช่าสุดฉาว ราจา” (Raja Rental) เนื่องจากเขาถูกครหาว่ารับสินบนอย่างอื้อฉาวตอนที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประปาและไฟฟ้า ซึ่งเขาอำลาตำแหน่งไปในปี 2011 ทว่าตัวเขาเองปฏิเสธข้อครหาเหล่านี้อย่างแข็งขัน

กอดรี ซึ่งเพิ่งได้ทราบข่าวคำสั่งของศาลสูงสุด ในขณะที่เขากำลังกล่าวปราศรัยต่อผู้ชุมนุมเดินขบวนหลายหมื่นคนที่บริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงอิสลามาบัด ได้แสดงความยินดีต้อนรับคำตัดสินนี้อย่างแช่มชื่น พร้อมกับบอกว่านี่คือชัยชนะ เขาประกาศว่ามาถึงตอนนี้งานของเขาถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งที่เหลือก็จะสามารถทำเสร็จสิ้นได้ในเร็วๆ นี้

รัฐบาล “เอาแต่สร้างความเหี่ยวแห้งอับเฉาและเอาแต่เรื่องเลวๆ แย่ๆ มาโยนให้กองทัพของเรา ทั้งๆ ที่คนในกองทัพของเรานั้นเต็มไปด้วยความจริงใจ มีความรู้ความสามารถสูงลิ่ว มีสมรรถนะสูงลิ่ว และมีความเป็นมืออาชีพสูงลิ่ว” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานคำปราศรัยของ กอดรี “ถึงแม้คนในกองทัพของเราอยู่ในสภาพที่เดินหน้าทำอะไรไม่ได้เลย เพราะรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลทางการเมือง ไม่สามารถทำอะไรให้ได้เรื่องสักอย่างจากผืนแผ่นดินของเรา แต่เวลานี้คำพิพากษาต่างๆ กำลังออกมาจากฝ่ายตุลาการที่ยิ่งใหญ่และเป็นอิสระของเราแล้ว ทว่ารัฐบาลยังคงไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำพิพากษาเหล่านี้”

อัชรัฟ นั้นถูกครหาทั้งเรื่องการรับสินบนจำนวนมากในโครงการโรงไฟฟ้าให้เช่า และจากการที่เขาไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน โดยมีการกล่าวหาว่าเขาไปซื้อได้ก็เพราะเงินทองจากการทุจริตคอร์รัปชั่นในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประปาและไฟฟ้า เมื่อเดือนมีนาคม 2008 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2011 นั่นเอง

ทั้งนี้แผนการเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดสร้างโรงไฟฟ้าให้เช่าขึ้นมาจำนวนทั้งสิ้น 14 โครงการ ได้รับการอุปถัมภ์จากกระทรวงประปาและไฟฟ้าในปี 2009 อันเป็นช่วงที่ อัชรัฟ นั่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ โครงการเหล่านี้ทั้งหมดสิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดการณ์กันว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้รวม 2,250 เมกะวัตต์

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น (The Nation) ของปากีสถาน ถึงแม้มีบริษัทต่างๆ 9 รายถูกระบุว่าได้รับเงินมัดจำล่วงหน้าเป็นจำนวนรวมกว่า 22,000 ล้านรูปีปากีสถาน (225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากทางรัฐบาลเพื่อสนับสนุนโครงการเหล่านี้ ทว่า “บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้จัดตั้งโรงไฟฟ้าอะไรขึ้นมาเลย ขณะที่สองสามรายที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นมา ก็ดำเนินงานไปด้วยความล่าช้าเหลือเกิน”

พวกวิพากษ์วิจารณ์ อัชรัฟ ระบุว่า เขาต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อภาวะความลำบากเดือดร้อนทางด้านกระแสไฟฟ้าของประเทศ ในเมื่อปัญหาไฟฟ้าดับเริ่มปะทุแผ่ลามไปทั่วประเทศตั้งแต่ต้นปี 2008 และยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงปี 2013 นี้ คำนวณกันว่ากระแสไฟฟ้ายังคงขาดแคลนไม่พอใช้อยู่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ก่อให้เกิดวิกฤตอันสาหัสร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาฤดูร้อนอันแสนทารุณของปี 2011 และปี 2012

อย่างไรก็ตาม จังหวะเวลาของการตัดสินของศาลสูงสุดในคราวนี้ ตลอดจนปฏิกิริยาของ กอดรี กำลังกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงโหมกระพือแนวความคิดทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ ในแวดวงทางสังคมและแวดวงทางการเมือง ขณะที่ดัชนีหุ้น เคเอสอี 100 (KSE 100) ของตลาดหลักทรัพย์การาจี ก็หล่นฮวบลงมากว่า 3% ภายหลังข่าวคำพิพากษานี้เผยแพร่ออกมา

เดลิไทมส์ (Daily Times) หนังสือพิมพ์ชั้นนำของปากีสถาน แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในบทบรรณาธิการของตนว่า “คำสั่งนี้ออกมาโดยอิงอาศัยรายงานการสอบสวนเบื้องต้นซึ่ง NAB (สำนักงานตรวจสอบแห่งชาติ) ยื่นเสนอต่อ SC (Supreme Court ศาลสูงสุด) โดยที่มีข้อความระอุเอาไว้ว่า ข้อเสนอแนะต่างๆ ของรายงานฉบับนี้ ยังต้องมีข้อพิจารณาทางด้านกฎหมายมาใช้ประกอบเพิ่มเติมด้วย ซึ่งปรากฏว่าศาลมิได้รอรับฟังข้อพิจารณาทางกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน ...”

ขณะที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งปากีสถาน (Human Rights Commission of Pakistan หรือ HRCP เป็นองค์การอิสระที่ไม่ได้ขึ้นต่อ หรือมีความผูกพันใดๆ กับรัฐบาลหรือพรรคการเมือง) ออกมาแถลงว่า คำสั่งศาลในลักษณะนี้เป็นการคุกคามกระบวนการทางประชาธิปไตย ในเวลาที่ประเทศยังคงกำลังโซซัดโซเซจากเหตุระเบิดอันมุ่งสร้างความแตกแยกทางเชื้อชาตินิกายศาสนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเมืองแควตตา (Quetta) ซึ่งเข่นฆ่าผู้คนไปเกือบๆ 100 คน

“เป็นเรื่องยากลำบากที่จะคำนวณความโชคร้ายของประชาชนชาวปากีสถานให้ได้หมดสิ้น ในด้านหนึ่งนั้น เรายังกำลังฝังศพของบรรดาเหยื่อ (จากเหตุระเบิด) เมืองแควตตา และกำลังเฝ้าครุ่นคิดถึงผลต่อเนื่องที่จะเกิดตามมาจากเหตุร้ายดังกล่าว ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง กอดรี ก็กำลังกล่าวปราศรัยปลุกระดมผู้ฟังของเขาด้วยคำโกหกและเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ... ถ้าหากไม่มีอะไรอย่างอื่นแล้ว ฝ่ายตุลาการควรต้องชั่งน้ำหนักผลสืบเนื่องต่างๆ จากคำตัดสินของตน ซึ่งจะบังเกิดขึ้นต่อรัฐ โดยที่ผลประโยชน์แห่งรัฐนั่นเอง คือสิ่งซึ่งถือกันว่า ฝ่ายตุลาการจักต้องปกป้องคุ้มครอง” คำแถลงของ HRCP ระบุ

ฟาวัด เชาธรี (Fawad Chaudhry) ผู้ช่วยคนหนึ่งของ อัชรัฟ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์อย่างตรงไปตรงมาว่า “ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย” ว่า ฝ่ายทหารกับศาลสูงสุดกำลังร่วมกันทำงานเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

ส่วนทางด้าน อิมรอน ข่าน (Imran Khan) อดีตนักคริตเก็ตชื่อก้องที่หันมาเป็นนักการเมือง และเวลานี้เป็นหัวหน้าพรรคปากีสตานี เตห์ริก-อี-อินซาอัฟ (Pakistani Tehrik-e-Insaaf หรือ PTI ชื่อของพรรคนี้แปลว่า ขบวนการเพื่อความยุติธรรมแห่งปากีสถาน) ก็ขู่ที่จะจัดการชุมนุมเดินขบวนขึ้นมาในกรุงอิสลามาบัดเช่นเดียวกัน ถ้าหากประธานาธิบดีซาร์ดารี ไม่ยอมก้าวลงจากตำแหน่ง และไม่มีการจับกุมนายกฯอัชรัฟ ตามคำสั่งของศาลสูงสุด

“การเลือกตั้งอย่างเสรีและอย่างยุติธรรมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ ในขณะที่ ซาร์ดารี ยังอยู่ตรงนี้ เขาคือเหตุผลของการที่ปากีสถานก้าวสู่ความพินาศ” ข่าน บอกกับที่ประชุมผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (15ม.ค.)

หลายๆ ฝ่ายเชื่อว่า ข่าน ก็เฉกเช่นเดียวกับ กอดรี เป็นผู้ที่ได้รับการหนุนหลังอย่างเต็มที่จากกลุ่มผู้ทรงอำนาจของฝ่ายทหาร ถึงแม้นักการเมืองทั้งสองต่างปฏิเสธว่าข้อกล่าวหาเช่นนี้ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้พรรค PTI ของข่าน ได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างมากจากเยาวชนคนหนุ่มสาวชาวปากีสถาน และในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ได้จัดการชุมนุมปราศรัยครั้งใหญ่ขึ้นหลายครั้งในตลอดทั่วทั้ง 4 แคว้นของประเทศ

ถ้าหากกองทัพกระโดดเข้ามาร่วมวงอย่างเปิดเผยในความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายตุลาการคราวนี้ด้วยแล้ว มันก็น่าจะส่งผลทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป ซึ่งถือเป็นการคุกคามอย่างหนักหน่วงมากขึ้นต่อระบบประชาธิปไตยของปากีสถาน ยิ่งถ้าหากเหล่านายพลและผู้พิพากษา มีการจับมือรวมตัวกันเป็นพันธมิตรขึ้นมาจริงๆ ด้วยจุดประสงค์ที่จะก่อตั้ง “ระบอบประชาธิปไตยแบบอยู่ภายใต้การควบคุม” (controlled democracy) ขึ้นมาแล้ว กลุ่มพลังกลุ่มใหม่ ซึ่งยังไม่เคยมีประสบการณ์ผ่านการทดสอบใดๆ ในทางการเมืองมาก่อน ก็อาจจะได้เข้าปกครองประเทศในเร็วๆ นี้ โดยที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองบางคนบอกว่า พรรค PTI ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีทั้งกับฝ่ายตุลาการและฝ่ายทหาร อาจจะกลายเป็นองค์กรทางการเมืองของกลุ่มพลังกลุ่มใหม่ดังกล่าว น่าสังเกตว่าในบรรดาข้อเรียกร้องของ กอดรี นั้น ก็มีอยู่ข้อหนึ่งที่ระบุให้กองทัพมีบทบาทในการวินิจฉัยตัดสินอนาคตของระบบการเลือกตั้งของประเทศด้วย และนี่จึงกลายเป็นการเติมเชื้อให้แก่การคาดเดาเล่าลือกันว่า ฝ่ายทหารคงจะกำลังช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่การชุมนุมเดินขบวนประท้วงของ กอดรี

“เมื่อพิจารณาจากความท้าทายต่างๆ ในทางด้านความมั่นคง และจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ล่อแหลมใกล้จะเป็นอันตรายแล้ว กองทัพไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเข้ายึดอำนาจอะไรได้ ขณะที่พวกพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทุกๆ พรรคต่างก็ปรารถนาที่จะให้มีการเลือกตั้ง โดยที่ต้องไม่ลืมการเลือกตั้งกำลังจะถึงกำหนดต้องจัดขึ้นมาอยู่แล้ว” สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานทัศนะความคิดเห็นของ เมห์ดิ ฮาซัน (Mehdi Hasan) นักวิเคราะห์การเมืองผู้หนึ่ง ฮาซันกล่าวด้วยว่า “กอดรี นั้น ถึงแม้การแสดงของเขาดูน่าประทับใจ แต่เนื่องจากเขาไม่ได้มีฐานะเป็นตัวแทนในทางการเมืองของผู้ออกเสียงใดๆ เขาจึงไม่สามารถบังคับให้รัฐบาลซึ่งยังคงครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ลาออกจากตำแหน่งได้”

การก้าวเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวของฝ่ายตุลาการ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจอย่างมากมายในปากีสถาน ประเทศซึ่งฝ่ายทหารเป็นผู้ปกครองสูงสุดตัวจริงในระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ในอดีตนั้นกองทัพคือผู้ที่โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนชุดแล้วชุดเล่า แต่ในปัจจุบันฝ่ายตุลาการมีอำนาจมากเพียงพอแล้วที่จะขับไล่นายกรัฐมนตรีที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ ตลอดจนคณะรัฐมนตรีของเขา

กรณีนี้ยังเป็นหลักหมายแสดงให้เห็นถึงการกลับหัวกลับหางจากสถานการณ์ของเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 ตอนที่ประธานาธิบดีปากีสถานเวลานั้น ซึ่งก็คือ พล.อ.(เกษียณอายุ)เปอร์เวซ มูชารัฟ (Pervez Musharraf) ได้ออกคำสั่งปลดพวกผู้พิพากษาระดับสูงของประเทศ รวมถึง อิฟติคาร์ เชาธารี (Iftikhar Chaudhary)ประธานศาลสูงสุดคนปัจจุบันด้วย แล้วประกาศปกครองประเทศด้วยอำนาจในภาวะฉุกเฉิน

ข้อที่ดูแตกต่างออกไปอย่างสำคัญ จากประวัติศาสตร์อันยาวเหยียดแห่งการก่อรัฐประหารยึดอำนาจที่นำโดยฝ่ายทหารของปากีสถาน อยู่ตรงที่ว่าเวลานี้มือที่คอยบงการของกองทัพ กำลังถูกบดบังให้พ้นสายตาโดยมือของศาล ดูเหมือนว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเล่นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทว่าตัวเกมก็ยังคงเป็นเกมเก่าๆ เดิมๆ

ไซเอด ฟาซล์-อี-ไฮเดอร์ ( www.syedfazlehaider.com ) เป็นนักวิเคราะห์ทางด้านการพัฒนาในปากีสถาน เขาเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม เป็นต้นว่าเรื่อง The Economic Development of Balochistan ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2004 สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sfazlehaider05@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น