xs
xsm
sm
md
lg

‘นาวาซ ชารีฟ’เตรียมขึ้นเป็นนายกฯปากีสถานอีกครั้ง

เผยแพร่:   โดย: เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Sharif set to form Pakistani government
By RFE/RL
13/05/2013

อดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ของปากีสถาน น่าจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลของประเทศอีกครั้งเป็นสมัยที่ 3 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ภายหลังผู้ออกเสียงจำนวนมากพากันออกมาใช้สิทธิลงคะแนนกันอย่างหนาแน่นในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันเสาร์ (11) ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่พวกตอลิบานพยายามข่มขู่คุกคามและก่อเหตุต่างๆ นานา ชารีฟนั้นรณรงค์หาเสียงโดยเรียกร้องให้กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ร่วมไม้ร่วมมือกันในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ของปากีสถาน ซึ่งก็รวมถึงเรื่องการก่อความรุนแรงของกลุ่มนิยมใช้กำลังด้วย นอกจากนั้นเขายังน่าที่จะพยายามสร้างสานความสัมพันธ์ในทางร่วมมือร่วมใจกับวอชิงตัน

อดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) ของปากีสถาน กำลังกลายเป็นตัวเก็งแถวหน้าสุดที่จะได้เป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาลชุดต่อไปของประเทศของเขา ภายหลังการเลือกตั้งซึ่งมีข้อโดดเด่นน่าจับตาในเรื่องที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิในอัตราที่สูง ทั้งๆ ที่เผชิญกับการก่อเหตุรุนแรงของพวกตอลิบาน

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการตลอดจนการคาดการณ์ของฝ่ายต่างๆ ในช่วงไม่กี่วันภายหลังการเลือกตั้ง บ่งบอกให้เห็นว่า พรรคปากีสถาน มุสลิม ลีก - ฝ่ายนาวาซ (Pakistan Muslim League – Nawaz ใช้อักษรย่อว่า PML-N) ของชารีฟ กำลังเดินหน้าครองเสียงได้เกือบๆ กึ่งหนึ่งในสภาล่างที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสมัชชาแห่งชาติ (National Assembly) ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางทีเดียวว่า พรรคของเขาน่าจะได้ที่นั่งเกือบๆ 130 ที่นั่งจากจำนวนที่นั่งที่มีให้เลือกตั้งกันโดยตรง 272 ที่นั่งของสภานี้ นอกจากนั้น พรรคของชารีฟยังน่าจะได้รับความสนับสนุนจากพวก ส.ส.อิสระบางราย จนทำให้สามารถครองที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสมัชชาแห่งชาติได้อย่างไม่ยากเย็น (หมายเหตุผู้แปล – ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งของปากีสถานประกาศออกมาแล้วจนกระทั่งถึงวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม ปรากฏว่า พรรคของชารีฟได้ไปแล้ว 123 ที่นั่ง โดยยังเหลือที่นั่งซึ่งยังไม่ได้ประกาศผลอีก 18 ที่นั่ง -ข้อมูลจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี)

ในระบบการเลือกตั้งของปากีสถานนั้น ยังมีที่นั่งของสมัชชาแห่งชาติอีก 70 ที่นั่งซึ่งมิได้ให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง แต่สงวนเอาไว้ให้สำหรับสตรี 60 ที่นั่ง และสำหรับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาต่างๆ อีก 10 ที่นั่ง ที่นั่งเหล่านี้จะมีการแบ่งสรรให้แก่พรรคต่างๆ ในเวลาต่อไป โดยอิงอาศัยสัดส่วนคะแนนที่พวกเขาได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.โดยตรง นี่หมายความว่าพรรคของชารีฟยังจะได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.อย่างเป็นกอบเป็นกำจากโควตาส่วนนี้ จนกระทั่ง (เมื่อรวมกับการดึงเสียงของ ส.ส.อิสระเข้ามาร่วมด้วย) น่าจะสามารถมีที่นั่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด 342 ที่นั่งของสมัชชาแห่งชาติ และในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ตัวเขาก็จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ บ่งบอกให้เห็นด้วยว่า พรรคปากีสถาน เตห์รีค-อี-อินซาฟ (Pakistan Tehreek-e Insaf ซึ่งแปลว่า ขบวนการเพื่อความยุติธรรมแห่งปากีสถาน) ของ อิมรอน ข่าน (Imran Khan) อดีตฮีโรนักกีฬาคริกเก็ต ก็ได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันเช่นเดียวกัน เป็นการประกาศการก้าวเข้ามาของฝ่ายที่สามารถเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ (หมายเหตุผู้แปล – ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังประกาศออกมาไม่ครบถ้วนนั้น จนถึงวันอังคารที่ 14 พรรคของข่าน ได้ 26 ที่นั่ง จากที่ไม่มีเลยสักที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติชุดที่แล้ว -ข้อมูลจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี)

พรรคปากีสถาน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (Pakistan Peoples Party ใช้อักษรย่อว่า PPP) ซึ่งเป็นแกนนำของคณะรัฐบาลผสมชุดที่หมดวาระและกำลังมีฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการ ตลอดจนพรรคอะวามิ เนชั่นแนล ปาร์ตี้ (Awami National Party ใช้อักษรย่อว่า ANP) ที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้รายใหญ่ที่สุด ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนผู้ออกเสียง ต่อผลงานการบริหารประเทศชาติของพวกเขาในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (หมายเหตุผู้แปล – ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ยังประกาศไม่ครบถ้วน ณ วันอังคารที่ 14 พรรค PPP ซึ่งเคยได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งโดยตรง 95 ที่นั่ง คราวนี้เหลืออยู่เพียงแค่ 31 ที่นั่ง ส่วนพรรค ANP จาก 13 เหลือแค่ 1 ที่นั่ง -ข้อมูลจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี)

ระหว่างการกล่าวปราศรัยประกาศชัยชนะที่เมืองละฮอร์ เมืองหลวงของแคว้นปัญจาบ ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญที่สุดของเขา ชารีฟได้เรียกร้องให้กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ร่วมไม้ร่วมมือกันในการต่อสู้กับปัญหานานัปการของปากีสถาน

“เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อผลประโยชน์ของท่านเอง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 180 ล้านคนของปากีสถาน และเพื่อที่จะได้ยุติคำสาปแช่งในเรื่องไฟฟ้าดับ ภาวะเงินเฟ้อ และการว่างงาน ผมต้องการที่จะขอให้พวกเขา (พวกพรรคฝ่ายค้าน) ก้าวเข้ามาและนั่งลงพูดจากับพวกเรา” เขากล่าว

**ข้อเสนอริเริ่มเพื่อสันติภาพ**

พรรค PML-N ของชารีฟนั้น ได้ชื่อว่ามีจุดยืนส่งเสริมสนับสนุนภาคธุรกิจ มีความโน้มเอียงที่จะมุ่งสู่การสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค และการสร้างสันติภาพกับพวกประเทศเพื่อนบ้านของปากีสถาน

ซาฮิด ฮุสเซน (Zahid Hussain) นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนที่ใช้กรุงอิสลามาบัดเป็นฐาน ให้ความเห็นว่า ในทันทีที่ขึ้นครองอำนาจ ชารีฟน่าที่จะหาทางสร้างความสัมพันธ์ซึ่งเน้นความร่วมมือกันกับทางวอชิงตัน และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับการก่อความรุนแรงของพวกตอลิบาน ถึงแม้เขาได้เคยแถลงเอาไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า เขาจะดึงปากีสถานให้ออกมาจากสงครามต่อสู้การก่อการร้ายที่มีสหรัฐฯเป็นผู้นำ

“ผมคิดว่ามันจะเป็นความสัมพันธ์แบบปกติ” เขาบอก “ผมไม่คิดว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตอะไรเลยในนโยบายการต่างประเทศของปากีสถานที่มีต่อสหรัฐฯภายใต้นาวาซ ชารีฟ ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อปี 1993 ถึง 1998 ตอนที่นาวาซ ชารีฟ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่นั้น มันมีความเคลือบแคลงหวั่นวิตกบางอย่างบางประการอยู่เหมือนกัน แต่ผมไม่ค่อยเชื่อเอาเลยว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ อะไรในนโยบายของปากีสถานที่มีต่อสหรัฐฯ”

กระนั้นก็ตาม ฮุสเซนก็สำทับด้วยว่า เอาเข้าจริง ชารีฟจะไม่ใช่ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในนโยบายของปากีสถานที่มีต่ออัฟกานิสถาน “ในทางเป็นจริงแล้ว ฝ่ายทหารจะยังคงเป็นผู้ดำเนินนโยบายนี้ต่อไปด้วยความยินยอมของรัฐบาล” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ตอริก ฟัตมี (Tariq Fatmi) อดีตเอกอัครราชทูตของปากีสถานประจำกรุงวอชิงตัน เขาเชื่อว่าคณะรัฐบาลของชารีฟน่าที่จะสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพในอัฟกานิสถาน

“ในเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถานนั้น มีอะไรอยู่สองสามอย่างที่ควรต้องจับตาดูมิสเตอร์นาวาซ ชารีฟ เอาไว้ให้ดี” เขาบอก “อย่างแรกเลยนั้น เขามีความเชื่อว่ากระบวนการสู่สันติภาพในอัฟกานิสถานที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ จะต้องเป็นกระบวนการของชาวอัฟกันเอง และก็จะต้องเป็นกระบวนการที่มีชาวอัฟกันเองเป็นผู้นำ พูดอีกอย่างหน่งก็คือ มันจะต้องเป็นกระบวนการซึ่งสามารถนำเอาส่วนประกอบอันทรงความสำคัญทั้งหลายในอัฟกานิสถานมาเข้าร่วม”

(หมายเหตุผู้แปล – ในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม ภายหลังที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการและการคาดการณ์ของทุกๆ สำนักออกมาตรงกันว่า พรรคของเขาเป็นผู้ชนะสามารถครองที่นั่ง ส.ส.เอาไว้ได้มากที่สุด และเพียงแค่ดึง ส.ส.ที่สมัครอิสระมาเข้าร่วม เขาก็น่าจะจัดตั้งคณะรัฐบาลได้ นาวาซ ชารีฟ ได้จัดการแถลงข่าวครั้งใหญ่ขึ้นที่คฤหาสน์ของครอบครัวของเขาซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองละฮอร์ โดยเขาพูดถึงเรื่องที่มีความวิตกกันว่าความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับสหรัฐฯอาจจะประสบความยากลำบากเมื่อรัฐบาลของเขาขึ้นปกครองประเทศว่า ถ้าหากฝ่ายใดเกิดมีความวิตกห่วงใยขึ้นมา เขาก็คิดว่าทั้งสองฝ่ายควรคลี่คลายความกังวลดังกล่าวและสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับสหรัฐฯให้เข้มแข็ง

นอกจากนั้น ชารีฟกล่าวถึงแผนการที่สหรัฐฯและกองกำลังนาโต้จะถอนทหารส่วนใหญ่ออกไปจากสงครามในอัฟกานิสถานภายในสิ้นปีหน้า ซึ่งปากีสถานจะต้องเป็นจุดแวะพักที่สำคัญที่สุดสำหรับการลำเลียงขนส่งกำลังคนและอาวุธยุทธสัมภาระทั้งหลายจากอัฟกานิสถานกลับประเทศดังกล่าว โดยเขาบอกว่าปากีสถานจะให้ความสนับสนุนแก่พวกเขาอย่างเต็มที่และจะดูแลให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น

ครั้นเมื่อถูกถามถึงเรื่องที่สหรัฐฯส่งอากาศยานไร้นักบิน หรือ โดรน ออกโจมตีใส่เป้าหมายที่เป็นพวกหัวรุนแรงตอลิบานและอัลกออิดะห์ในดินแดนชนเผ่าทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานที่ติดต่อกับอัฟกานิสถาน โดยที่การโจมตีเช่นนั้นสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวปากีสถานจำนวนมาก เนื่องจากทำให้พลเรือนต้องพลอยบาดเจ็บล้มตาย อีกทั้งยังเป็นการล่วงละเมิดอธิปไตยของปากีสถานด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชารีฟตอบว่า “เราจะนั่งลงพูดคุยกับเพื่อนชาวอเมริกันของเรา และเราจะพูดจากับพวกเขาในประเด็นนี้อย่างแน่นอน” -ข้อมูลจากรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพี)

ชารีฟ ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 63 ปี เป็นนักธุรกิจด้านเหล็กกล้าผู้ทรงอิทธิพลและมั่งคั่งร่ำรวยจากแคว้นปัญจาบ เขาเป็นผู้เล่นระดับนำคนหนึ่งในแวดวงการเมืองของปากีสถานมาหลายสิบปีแล้ว ทำนองเดียวกับ อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี (Asif Ali Zardari) ประธานาธิบดีปากีสถานคนปัจจุบันแห่งพรรค PPP ตลอดจนอดีตนายกรัฐมนตรี เบนาซีร์ บุตโต (Benazir Bhutto) ภรรยาของซาร์ดารี ซึ่งได้ถูกลอบสังหารไปเมื่อปี 2007

ชารีฟนั่งอยู่ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เมื่อตอนที่ปากีสถานทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของตนเป็นครั้งแรกในปี 1998 เขาถูกโค่นล้มในปี 1999 ด้วยการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารที่นำโดย พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ (Pervez Musharraf) ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น และต้องออกไปลี้ภัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะเดินทางกลับปากีสถานได้ในปี 2007

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 นั้น พรรคของเขาได้ที่นั่ง ส.ส.มากเป็นอันดับ 2

(รายงานนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี จัดทำขึ้นโดยอาศัยรายงานข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีและสำนักข่าวเอพีด้วย)

เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น