เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ที่สุดของโลก หรือ “BRICS” ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่นครเดอร์บัน ทางตะวันออกของแอฟริกาใต้ในวันอังคาร (26) โดยหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการหารือที่ถูกจับตาจากทั่วโลกมากที่สุด คือ แผนจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งใหม่ ซึ่งถูกมองเป็นการ “ท้าทายอำนาจ” ของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีกำหนดเข้าร่วมประชุมสุดยอดระหว่างวันที่ 26-27 มีนาคมนี้ที่เดอร์บัน โดยคาดว่าอาจมีการให้ความเห็นชอบของเหล่าผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่รายใหญ่ทั้ง 5 ต่อการจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ” แห่งใหม่สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงอาจมีการหารือถึงความร่วมมือด้านเงินทุนสำรองระหว่างกัน เพื่อป้องกันผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรป
แผนการของกลุ่มประเทศ BRICS ในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งใหม่นี้ ถือเป็น “ไฮไลต์สำคัญ” ที่ถูกจับตามากที่สุดในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 2 และถือเป็นพัฒนาการสำคัญของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ชั้นนำที่ทวีบทบาทมากขึ้นทุกขณะในเวทีเศรษฐกิจโลก หลังจากที่บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ได้ร่วมกันจัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนจะมีการเชิญแอฟริกาใต้เข้ามาร่วมเป็นชาติล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2010
ก่อนหน้านี้ ทั้งบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ต่างเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปขนานใหญ่ภายในเวิลด์แบงก์ และไอเอ็มเอฟ ที่ถูกมองเป็นองค์กรรับใช้ผลประโยชน์สหรัฐฯ และยุโรปมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนข้อเรียกร้องของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ชั้นนำจะไม่ประสบผลสำเร็จ ส่งผลให้กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งมีเงินทุนสำรองรวมกันกว่า 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 129 ล้านล้านบาท) และมีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็นกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก หันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดในการจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ดี มิคาอิล มาร์โกเลฟ ทูตพิเศษด้านแอฟริกาของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ออกมา ยอมรับว่า เวทีประชุมสุดยอดของ BRICS ที่แอฟริกาใต้ครั้งนี้อาจจบลงโดยที่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับ “ที่มาของเงินทุน” ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ แม้ทางรัฐบาลมอสโกจะสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สมาชิก BRICS ทั้ง 5 ควรบริจาคเงินขั้นต้นชาติละประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 293,770 ล้านบาท) เพื่อใช้เป็นเงินทุนตั้งต้นของสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งใหม่
ทั้งนี้ เป็นที่คาดกันว่า ผลผลิตมวลรวมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ชั้นนำของโลกทั้ง 5 จะเติบโตจนมีสัดส่วนเท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้ภายในปี 2020 หรือ 7 ปีข้างหน้านี้ ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างกันของบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ อาจสูงขึ้นจนแตะระดับ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14.6 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2015