xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการลดระดับความยากจน “วิถีจีน” อาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา

เผยแพร่:   โดย: น้ำทิพย์ อรรถบวรพิศาล

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ประเทศจีนมีชื่อเสียงในฐานะ “โรงงานอุตสาหกรรมของโลก” ส่งออกสินค้าทุกประเภทตั้งแต่ของเด็กเล่นจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับสูง และปัจจุบันนี้จีนสามารถส่งออกสินค้าที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า ความสำเร็จที่กล่าวมานี้เป็น “วิถีจีน” ที่สามารถใช้ “ต่อสู้” กับความยากจนได้ และอาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา
ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา ประชากรชาวจีนกว่า 600 ล้านคนหลุดพ้นจากระดับความยากจน(ภาพ SCMP)
ธนาคารโลกประเมินว่าตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา ประชากรชาวจีนกว่า 600 ล้านคนหลุดพ้นจากฐานะยากจน ขณะที่โครงการอาหารโลกเห็นว่ารัฐบาลปักกิ่งประสบความสำเร็จในการลดความยากจนและสามารถเพิ่มผลผลิตสิ่งบริโภคด้วยวิธีการของจีนเอง ซึ่งกระบวนการนี้อาจช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกได้

หลายปีมานี้ประเทศจีนได้ริเริ่มให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ เห็นได้จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน ที่ชี้ว่า เป็นผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่ที่สุดของโลก
เด็กขาดอาหารประเทศโวมาเลียกำลังรับเครื่องดื่มเกลือแร่ (ภาพ AFP)
ชาวบ้านทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์แบกถุงข้าวสารบริจาค ซึ่งประเทศจีนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกว่าร้อยละ 80 (ภาพ Reuters)
Brett Rierson ผู้แทนในโครงการอาหารโลก (ภาพ SCMP)
Brett Rierson ผู้แทนในโครงการอาหารโลก กล่าวถึงวิธีการของจีนว่า “ประเทศจีนลงทุนในภาคเกษตรกรรมเพื่อลดความยากจนและโครงการด้านเกษตรกรรมที่ประสบความสำเร็จนั้น ริเริ่มจากรากหญ้า ไม่ได้รับแต่นโยบายของผู้บริหารระดับสูงลงมา” ทั้งนี้ รัฐบาลในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเจรจากับรัฐบาลปักกิ่งเพื่อขอความร่วมมือในการพัฒนาโครงการด้านเกษตรกรรม

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือนี้จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของประเทศจีนดีขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมในประเทศเหล่านี้” ขณะที่การพัฒนาประเทศจีนช่วงทศวรรษที่ 50 รัฐบาลมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางรถไฟ แต่ในปัจจุบันรัฐบาลปักกิ่งให้ความสำคัญกับประเด็นอื่น อาทิ สุขภาพของสตรี คุณภาพด้านโภชนาการและภาคเกษตรกรรมในประเทศกำลังพัฒนา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์จีนวางแผนตั้งศูนย์การเกษตรใน 15 ประเทศทวีปแอฟริกา เพื่อส่งเสริมความเชี่ยวชาญในด้านชลประทานและเมล็ดพันธุ์

เมื่อปี 2543 ชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้รับแผน “เป้าหมายแห่งการพัฒนา 8 ประการ” โดยกำหนดเป้าหมายบรรลุผลในปี 2558 มีหลักการข้อแรกคือ ขจัดความยากจนและผู้หิวโหย โดยลดสัดส่วนประชากรที่มีเงินดำรงชีพ 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวัน ขณะที่บางฝ่ายชี้ว่าในปี 2558 จะยังมีประชากรโลกมากกว่า 1,000 ล้านคนที่มีเงินดำรงชีพแค่ 1.25 เหรียญสหรัฐต่อวัน

ในปี 2548 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ จัดตั้งสำนักงานศูนย์ลดความยาจนระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องข้อมูลและความร่วมมือนานาชาติเพื่อลดระดับความยากจน

ในปี 2551 เหวิน จยาเป่า นายกรัฐมนตรีของประเทศจีนในขณะนั้น เสนอว่าประเทศจีนและประเทศ “ผู้ให้” อื่นๆ จะเพิ่มเงินบริจาคเป็นสองเท่าให้โครงการอาหารโลก ตลอดระยะเวลา 5 ปี ลดหรือยกเลิกหนี้สินให้กับประเทศที่ยังไม่พัฒนา และไม่จัดเก็บภาษีนำเข้ากับประเทศเหล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามไปให้ถึงเป้าหมายแห่งการพัฒนา 8 ประการ

เมื่อปีที่แล้วโฆษกธนาคารโลกได้ออกมาชี้แจงถึงความร่วมมือของจีนและธนาคารโลกในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่อแพร่ขยายองค์ความรู้ของจีนในการลดความยากจนให้กับภาคส่วนต่างๆ

ศาสตราจารย์ Deborah Brautigam ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ กล่าวถึงประเด็นที่ประเทศจีนสามารถลดระดับความยากจนได้เพราะยินยอมให้ชาวนาสะสมผลกำไรและสนับสนุนให้ไปลงทุนด้านอื่นๆ

ปี 2554 รัฐบาลจีนแถลงตัวเลขเงินช่วยเหลือจำนวน 256,290 ล้านหยวนให้กับนานาชาติ 161 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 30 องค์กร ยกเลิกหนี้สินให้กับประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ เป็นจำนวน 22,580 ล้านหยวน ซึ่งเงินความช่วยเหลือของจีน 80 % อยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา

ตามรายงานของ Laurence Chandy และ Geoffrey Gertz สถาบันบรุคกิงส์ ชี้ว่าปี 2548 ถึง 2553 ระดับความยากจนของโลกลดลง ปี 2548 มีจำนวนประชากรโลกที่ยากจน 1,300 ล้านคน ลดมาอยู่ที่ 900 ล้านคนในปี 2553 และคาดว่าในปี 2558 จำนวนประชากรโลกที่ยากจนจะคงเหลือประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่จำนวนคนยากจนลดลงมากในระยะเวลาอันสั้น

และคาดว่าในช่วงปี 2553-2558 ประเทศอินเดียจะมีสัดส่วนประชากรหลุดพ้นระดับความยากจนมากที่สุดในโลกถึง 137.4 ล้านคน ขณะที่ประเทศจีนตามมาเป็นอันดับสองด้วนจำนวนประชากร 50 ล้านคน

กระนั้นศาสตราจารย์ Brautigam และ Rierson เชื่อว่าการลดระดับความยากจนนั้นไม่สามารถส่งผ่านจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งได้ แต่การเรียนรู้จากความสำเร็จในแนวทางของจีนนั้นจะเป็นประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น