xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลกให้คำมั่นช่วยเหลือพม่าปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> นายอักเซล ฟาน ทร็อทเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แถลงข่าวต่อสื่อที่โรงแรมในนครย่างกุ้ง วันที่ 5 ก.พ. --  AFP PHOTO/Soe Than Win. </font></b>

เอเอฟพี - ธนาคารโลกให้คำมั่นช่วยเหลือพม่าปรับปรุงการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าของประชากรในประเทศ พร้อมชื่นชมการเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในโอกาสที่เจ้าหน้าที่จากธนาคารโลกเดินทางเยือนพม่าเป็นเวลา 3 วัน เพื่อหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน

“การเข้าถึงไฟฟ้าในพม่าจะช่วยให้เด็กๆ อ่านหนังสือได้ในเวลากลางคืน และช่วยให้ชาวบ้านเริ่มกิจการใหม่ๆ ที่นำไปสู่การเติบโต และการสร้างรายได้” นายอักเซล ฟาน ทร็อทเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก กล่าว

“ไฟฟ้าที่เพียงพอ เชื่อถือได้ และราคาไม่แพง จะช่วยบรรเทาความยากจนในพื้นที่ชนบท และสร้างโอกาสให้แก่ทุกคน” ส่วนหนึ่งในคำแถลงของธนาคารโลกระบุ

ธนาคารโลกระบุว่า มีประชากรชาวพม่าเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เข้าถึงกระแสไฟฟ้า และในเดือน พ.ย.2555 ธนาคารโลกให้จัดสรรความช่วยเหลือ จำนวน 245 ล้านดอลลาร์ สนับสนุนผลักดันการปฏิรูปประเทศ และฟื้นคืนความช่วยเหลือให้แก่พม่าอีกครั้ง

“โครงการแรกเป็นโครงการสนับสนุนทางการเงินเพื่อทดแทนเครื่องกังหันก๊าซผลิตไฟฟ้า และเราต้องการที่จะเสนอโครงการต่อคณะกรรมการเพื่ออนุมัติในเดือน ก.ย.” นายทร็อทเซนเบิร์ก กล่าวกับผู้สื่อข่าว

ธนาคารโลกได้ปิดสำนักงานในนครย่างกุ้งเมื่อปี 1987 และยุติการให้กู้ยืมก้อนใหม่หลังรัฐบาลทหารพม่าในเวลานั้นหยุดชำระหนี้ที่มีจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ซึ่งติดค้างจากโครงการก่อนหน้านี้

เมื่อเดือน ม.ค. พม่าได้จัดการชำระหนี้ที่ติดค้างให้แก่ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ด้วยเงินกู้ยืมช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ทำให้ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียสามารถกลับมาให้ความช่วยเหลือพม่าได้อีกครั้ง

“สิ่งนั้นเป็นโอกาสให้แก่เราในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับพม่า” จิน-ยอง กาย ประธานบริหารบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ที่เป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank) กล่าว

ก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. IFC ได้มอบทุนจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ สำหรับสถาบันการเงินชุมชนรายย่อยที่มีเป้าหมายจะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กในพม่า

นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศในปี 2554 ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ดำเนินการปฏิรูปประเทศหลากหลายประการ รวมทั้งปล่อยตัวนักโทษการเมือง และเลือกตั้งนางอองซานซูจีเข้าสู่สภา ส่งผลให้บรรดาชาติตะวันตกเริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร และบริษัทต่างชาติต่างเข้าแถวรอเข้าลงทุนในประเทศแห่งนี้ โดยจับจ้องไปยังทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมหาศาล ประชากรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของพม่าที่อยู่ระหว่างอินเดีย และจีน.
กำลังโหลดความคิดเห็น