เอเอฟพี - ภาพนักวิ่งหลายร้อยคนวิ่งผ่านไปตามถนนสายต่างๆ ของนครย่างกุ้ง ในวันนี้ (27 ม.ค.) ในการแข่งขันมาราธอนนานาชาติครั้งแรกของประเทศในรอบหลายทศวรรษ นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในประเทศที่เคยถูกปกครองด้วยทหาร
ผู้เข้าแข่งขันวิ่งมาราธอนรวมตัวกันที่จุดเริ่มต้นการแข่งขันตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง โดยมีเจดีย์ชเวดากองที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศโดดเด่นเป็นฉากหลัง ทันทีที่ปล่อยตัว บรรดานักวิ่งต่างวิ่งผ่านถนนสายต่างๆ ของอดีตเมืองหลวงที่เคยเกิดเหตุการณ์การปราบปรามนองเลือดโดยทหาร
ภายใต้ท้องฟ้าอันสดใส บรรดาผู้เข้าแข่งขันได้วิ่งผ่านจุดสำคัญต่างๆ ของเมือง เช่น มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง สัญลักษณ์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคสมัยเผด็จการทหาร และทะเลสาบอินยา ที่มีบ้านพักของนางอองซานซูจีที่นางถูกกักบริเวณอยู่นานหลายสิบปีตั้งอยู่ไม่ไกล
“ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก” ซอ กอว์ โซ อู จากรัฐกะเหรี่ยง กล่าวกับผู้สื่อข่าว ก่อนที่ผู้เข้าแข่งขันจะออกจากจุดเริ่มต้นวิ่งไปตามเส้นทางในนครย่างกุ้ง พร้อมเสียงเชียร์จากผู้คนที่ให้กำลังใจนักวิ่งตลอดเส้นทางการแข่งขัน
“เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการแข่งขันเช่นนี้ในยุคก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปล่อยให้ชาวต่างชาติมากมายเข้าประเทศแบบนี้” นายโซ อู กล่าว
นักวิ่งจากเคนยา อายุ 25 ปี วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกในการวิ่งมาราธอนครั้งนี้ โดยใช้เวลาไปทั้งหมด 2 ชั่วโมง 19 นาที 10 วินาที
“เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม และวิเศษมากกับการมาพม่าเป็นครั้งแรก ฉันสัญญาว่าจะกลับมาอีกครั้งในปีหน้าเพื่อป้องกันตำแหน่ง” คาริอูคี ผู้ชนะการแข่งขันเจ้าของเงินรางวัลมูลค่า 2,500 ดอลลาร์กล่าว
การแข่งขันวิ่งมาราธอนมีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงศักยภาพความน่าเชื่อถือของการจัดการแข่งขันกีฬา ในขณะที่พม่ากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกในรอบ 44 ปี ในเดือน ธ.ค. นี้
“ผมต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันเช่นนี้อีก ยิ่งแข่งมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งได้ประสบการณ์มากขึ้นเท่านั้น” ต่อง เอ อายุ 20 ปี นักวิ่งชาวพม่าคนแรกที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ของการแข่งขัน ใช้เวลาไปทั้งหมด 2 ชั่วโมง 27 นาที 10 วินาที กล่าว และยังระบุเพิ่มเติมว่า เขาต้องการที่จะคว้าชัยชนะในการแข่งมาราธอนในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ด้วยเวลาที่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง 20 นาที
ด้านผู้จัดการแข่งขันกล่าวว่า ในการแข่งขันมาราธอนครั้งนี้ มีนักกีฬาจากจีน และอินเดีย รวมทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ เอธิโอเปีย และเคนยา เข้าร่วม
“นี่เป็นงานที่มีความสำคัญมาก และสำหรับเราที่ได้นำเสนอนครย่างกุ้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเวลาที่ประเทศกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ถือว่าเป็นเกียรติอย่างมาก” เซอร์เก้ ปุน ประธานบริหารบริษัทโยม่า อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง ที่เป็นบริษัทร่วมจัดการแข่งขันมาราธอน กล่าว
นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศในต้นปี 2554 รัฐบาลนักปฏิรูปของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศในหลายประการ รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษหลายร้อยคน และการเลือกตั้งนางอองซานซูจีเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งชาติตะวันตกต่างตอบรับการเปลี่ยนแปลงของพม่าด้วยการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่ดำเนินไว้กับอดีตรัฐบาลทหาร และนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศแห่งนี้มากขึ้น.