เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บิลาล ฮาฟีซ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ของ “ดอยช์แบงก์” สถาบันการเงินชื่อก้องโลกซึ่งมีฐานอยู่ที่นครแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนี เผยมีเพียง “พระเยซูคริสต์” เท่านั้นที่สามารถช่วยปกป้องกลุ่มยูโรโซนหรือกลุ่ม 17 ประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักให้รอดพ้นจากหายนะที่กำลังเผชิญอยู่ได้
ฮาฟีซเปิดเผยเรื่องดังกล่าวระหว่างขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่นครฮัมบูร์กของเยอรมนี โดยระบุว่า วิกฤตด้านหนี้สินและภาวะไม่สมดุลด้านงบประมาณ ตลอดจน ปัญหาเสถียรภาพของภาคธนาคารที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซนถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก และดูเหมือนมีเพียง “พระเยซูคริสต์” เท่านั้นที่สามารถช่วยปกป้องกลุ่มยูโรโซนจากหายนะดังกล่าวได้
ฮาฟีซยังเปรียบเทียบกลุ่มยูโรโซนที่ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1999 หรือ 14 ปีที่แล้วว่า กำลังอยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ไม่ต่างจากเด็กที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านก่อนจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าหากกลุ่มยูโรโซนและเงินยูโรผ่านการทดสอบจากวิกฤตอันเลวร้ายที่เผชิญอยู่ ยุโรปย่อมสามารถหวนคืนไปสู่สถานะของการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง แม้อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีนับจากนี้
แต่ก่อนที่ยุโรปจะกลับไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอีกนั้น ฮาฟีซชี้ว่าสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า คือ การที่ประเทศต่างๆ ในยูโรโซนต้องหาทางลดทอนผลกระทบอันแสนสาหัสที่มีต่อประชาชนจากการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดที่มีความเข้มงวดเสียก่อน
“ก่อนที่เราจะพูดกันถึงการที่ยุโรปจะกลับไปเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจซึ่งยังอยู่ห่างไกลนั้น เราจำเป็นต้องหาทางลดผลกระทบทางสังคม ที่เกิดจากมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ ให้ได้เสียก่อน” ฮาฟีซกล่าว
อย่างไรก็ดี ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ของดอยช์แบงก์ระบุว่า บรรดาประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอและไร้วินัยทางการคลังอย่างกรีซ สเปน ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สมควรถูก “ตำหนิ” มากที่สุดจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับกลุ่มยูโรโซนและเงินยูโรในเวลานี้ จากการที่ปล่อยปละละเลยให้ยอดการขาดดุลงบประมาณของตนเองสูงเกินกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ และยังมีการก่อหนี้สินของภาครัฐจนสูงกว่าระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งที่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต่างทราบดีว่าพฤติกรรมดังกล่าวของตนอยู่บนพื้นฐานของ “ความไม่ยั่งยืน” และยังขัดต่อข้อตกลงว่าด้วยการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (SGP) ที่ประเทศสมาชิกยูโรโซนร่วมกันกำหนดขึ้น
ขณะเดียวกัน ฮาฟีซย้ำว่า แม้แต่เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งเป็น “พี่ใหญ่” ของกลุ่มยูโรโซนก็ยังเคยละเมิดข้อตกลงเอสจีพีเสียเองเมื่อช่วงต้นทศวรรษปี 2000 แต่กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ ดังนั้นรัฐบาลเบอร์ลินและปารีสจึงไม่ควรโยนความผิดทั้งหมดให้กับประเทศอื่นๆ ว่าเป็นตัวการทำให้ยูโรโซนประสบวิกฤตในขณะนี้ และควรให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตแก่ประเทศที่ประสบปัญหาควบคู่ไปด้วย แทนการเน้นบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียว