รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นอนุมัติให้บริษัทคู่สัญญาทางทหารผลิตชิ้นส่วนให้กับเครื่องบินรบสเตลท์ F-35 ของสหรัฐฯ แม้จะมีกฎหมายห้ามส่งออกอาวุธค้ำคออยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อกระชับสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาที่โตเกียวกำลังบาดหมางกับปักกิ่งเรื่องหมู่เกาะพิพาท
เมื่อปี 2011 รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกเครื่องบินขับไล่ F-35 จากค่ายล็อกฮีดมาร์ตินซึ่งสามารถหลบหลีกสัญญาณเรดาร์ได้ ให้เป็นเครื่องบินรบรุ่นใหม่สำหรับกองกำลังป้องกันตนเอง และยังอนุญาตให้บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสตรีส์, ไอเอ็ชไอ คอร์ป และ มิตซูบิชิ อิเล็กทริก คอร์ป เข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิตและซ่อมบำรุงเครื่องบินรุ่นนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังกังวลว่า การส่งออกเครื่องบิน F-35 ที่ใช้ชิ้นส่วนจากแดนปลาดิบไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อิสราเอล อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายห้ามส่งออกอาวุธของญี่ปุ่นซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ว่า ญี่ปุ่นจะไม่ส่งออกอาวุธแก่ชาติใดก็ตามที่พัวพันความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่าอิสราเอลจะต้องการครอบครองเครื่องบินรบรุ่นนี้ เพื่อใช้ป้องกันประเทศจากวิกฤตความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
“เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่เราจะได้รับจากการที่บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปมีส่วนร่วมผลิตเครื่องบิน F-35 ตลอดจนเงื่อนไขเบื้องต้นที่สหรัฐฯจะต้องควบคุม (ชิ้นส่วนซึ่งผลิตในญี่ปุ่น) อย่างเข้มงวด เราจึงตัดสินใจให้สินค้าเหล่านี้ได้รับยกเว้นจากกฎหมายห้ามส่งออกอาวุธ” โยชิฮิเดะ ซูกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงเมื่อวานนี้(1)
กฎหมายห้ามส่งออกอาวุธญี่ปุ่นที่ใช้มานานหลายสิบปีทำให้ผู้ผลิตอาวุธจากเมืองปลาดิบหมดโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาวุธระหว่างประเทศ และยังยากที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆให้ทัดเทียมกับชาติอื่นโดยมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
การตัดสินใจร่วมผลิตและส่งออกชิ้นส่วน F-35 มีขึ้น ในขณะที่ปัญหาหมู่เกาะเซ็งกากุหรือเตี้ยวอี๋ว์กำลังทำให้ญี่ปุ่นบาดหมางกับจีน ซึ่งก็ซุ่มพัฒนาเครื่องบินรบสเตลท์อยู่เช่นกัน
“ญี่ปุ่นจะไม่มีส่วนร่วมในโครงการผลิต F-35 ได้หรือ? นี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก” นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (28)
ญี่ปุ่นมีแผนสั่งซื้อ F-35 รวม 42 ลำ โดยจะมีการส่งมอบ 4 ลำแรกในเดือนมีนาคม ปี 2017
โฆษกกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงในสัปดาห์นี้ว่า แผนสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้จะมีการตรวจพบรอยแตกภายในเครื่องยนต์ระหว่างบินทดสอบ จนทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯมีคำสั่งงดบิน F-35 ชั่วคราวก็ตาม