รอยเตอร์ - ปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซาและการชะลอจัดซื้ออาวุธเพื่อใช้ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ส่งผลให้ผู้ผลิตอาวุธ 100 รายใหญ่ของโลกมียอดขายตกต่ำลงในปี 2011 ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา สถาบันวิจัยในยุโรปแถลง วันนี้ (18)
สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติ (SIPRI) ในกรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระว่าด้วยความมั่นคงระหว่างประเทศ, การใช้อาวุธ และการลดอาวุธในประเทศต่างๆ ระบุในแถลงการณ์ว่า ยอดจำหน่ายอาวุธในปี 2011 ลดลงอยู่ที่ราวๆ 410,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสถิติ 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2010
ผลวิจัยของ SIPRI ซึ่งเริ่มเก็บสถิติการค้าอาวุธตั้งแต่ปี 1989 ไม่นับรวมการค้าของบริษัทอาวุธในจีน เนื่องจากไม่สามารถหาข้อมูลได้
“มาตรการรัดเข็มขัด, การตัดงบประมาณด้านการทหารทั้งที่มีการเสนอและใช้จริง รวมไปถึงการเลื่อนโครงการจัดซื้ออาวุธต่างๆ ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายอาวุธทั้งในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก” แถลงการณ์จาก SIPRI ระบุ
“การถอนทหารออกจากอิรัก และอัฟกานิสถาน รวมถึงคำสั่งห้ามจัดส่งอาวุธเข้าไปในลิเบียก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ”
ซูซาน แจ็กสัน นักวิจัยจาก SIPRI ระบุว่า ปี 2011 ถือเป็นปีแรกที่มูลค่าการค้าอาวุธทั่วโลกตกต่ำลงนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 หรือยุคหลังสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกประเทศลดการจัดซื้ออาวุธ
ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายอาวุธทั่วโลกมีแนวโน้มโตช้าลงมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน คือลดจาก 8% ในปี 2009 ลงมาเหลือเพียง 1% ในปี 2010 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการยุติสงครามอิรัก
ในจำนวน 100 บริษัทที่ SIPRI สำรวจในปี 2011 เป็นผู้ผลิตอาวุธในสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกถึง 74 ราย คิดเป็นสัดส่วน 90% ของยอดจำหน่ายอาวุธทั่วโลก ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปี 2010
บริษัท ล็อกฮีดมาร์ติน ของสหรัฐฯ ยังคงรั้งแชมป์ผู้ผลิตอาวุธเบอร์ 1 ของโลก ขณะที่ โบอิ้ง ช่วงชิงเบอร์ 2 มาจากบริษัท บีเออี ซิสเต็มส์ ของอังกฤษซึ่งร่วงไปอยู่อันดับ 3 ส่วน เจเนอรัล ไดนามิกส์ คว้าอันดับ 4 มาจาก นอร์ธร็อป กรัมแมน
ผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่หันไปพัฒนาระบบป้องกันการโจมตีทางโลกไซเบอร์หลากรูปแบบ ที่จะช่วยปกป้องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลจากการรุกรานของเหล่าแฮกเกอร์ เนื่องจากงบประมาณด้านนี้ยังถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐบาลตะวันตก แม้จะต้องควบคุมรายจ่ายอย่างเข้มงวดก็ตาม