รอยเตอร์ - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงกับบริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่ล็อกฮีดมาร์ติน ในการสั่งผลิตเครื่องบินขับไล่ F-35 เพิ่มอีก 2 ล็อตใหญ่ รวมทั้งสิ้น 71 ลำ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แหล่งข่าวเผยวานนี้(29)
เพนตากอนมีคำสั่งผลิต F-35 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบแบบ “สเตลธ์” ที่สามารถหลบหลีกสัญญาณเรดาร์ได้ รวมทั้งหมด 71ลำ โดยจะแยกเป็น36 ลำสำหรับล็อตผลิตที่ 6 และอีก 35 ลำในล็อตผลิตที่ 7
เครื่องบิน F-35 ทั้ง 2 ล็อตใหม่จะถูกส่งไปใช้งานในกองทัพสหรัฐฯ 60 ลำ ส่วนอีก 11 ลำจะถูกส่งให้กับกองทัพออสเตรเลีย, อิตาลี, ตุรกี และอังกฤษ
คำสั่งซื้อล่าสุดนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับล็อกฮีดมาร์ติน ซึ่งกำไรร้อยละ 15 ของบริษัทมาจากการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ ขณะที่ นอร์ธร็อปกรัมแมน และ บีเออี ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของล็อกฮีด ก็พลอยได้รับอานิสงส์ด้วย
โครงการ F-35 ใช้งบประมาณราว 392,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นโครงการพัฒนาอาวุธที่ยืดเยื้อและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เพนตากอน
แหล่งข่าวผู้หนึ่งเปิดเผยว่า ในการสั่งผลิต F-35 ครั้งนี้ เพนตากอนไม่ได้หยิบยกมาตรการตัดลดรายจ่ายแบบเหมารวมที่สหรัฐฯ ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคมมาเป็นเงื่อนไขเจรจา ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายชี้ว่า แฟรงก์ เคนดาลล์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมฝ่ายจัดซื้อ ได้อนุมัติกรอบข้อตกลงอย่างกว้างๆ รวมถึงการขอลดต้นทุนการผลิตเครื่องบินจากเดิมที่ระบุไว้ในสัญญาสั่งซื้อครั้งก่อน
ล็อกฮีดมาร์ติน รับหน้าที่ผลิตเครื่องบิน F-35 ทั้ง 3 รุ่นที่ใช้งานอยู่ในกองทัพสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศหุ้นส่วนโครงการอย่างอังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ตุรกี, อิตาลี, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, อิสราเอล และญี่ปุ่น ก็สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ไปใช้งานเช่นกัน
เนื่องจากเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูง กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงพยายามเจรจาขอลดราคาจำหน่ายจากล็อกฮีดมาร์ติน เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งตัดลดงบประมาณเพนตากอน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้สั่งผลิตเครื่องบิน F-35 ล็อตที่ 5 จำนวน 32 ลำ ไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งใช้งบประมาณราว 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ